xs
xsm
sm
md
lg

รร.สตูลนำ “พันธุ์หอยรอกัน” ที่ใกล้สูญพันธุ์มาเพาะเลี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้ (8 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสภาพแวดล้อมรวมถึงการเปลี่ยนแปลงอาชีพของชาวสตูลว่าจากเดิมมีวิถีชีวิตเรียบง่าย หาเก็บหอยตามท้องทุ่งป่าโกงกางก็สามารถเลี้ยงชีพได้ และจากการเปลี่ยนสภาพป่าโกงกางเป็นนากุ้งส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติค่อยเลือนหายไป

จากการมองถึงสภาพปัญหาที่ใกล้จะเกิดขึ้นกับคนในชุมชนบ้านหัวทาง นายนิมิต สะดน ครูสอนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนเทศบาล 3 ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล จึงมีแนวคิดที่จะอนุรักษ์หอยรอกันซึ่งเป็นหอยที่มีชุกชุมในเขตพื้นที่ป่าโกงกางบ้านหัวทาง เป็นหอยที่ชาวบ้านจะนำมาปรุงอาหารในงานเทศกาล งานบุญต่างๆ ซึ่งเป็นหอยที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของดิน ของป่าโกงกาง

แต่เนื่องจากปัจจุบันค่อนข้างจะหาได้ยากในพื้นที่จึงร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนจัดเเรลลี่หอยรอกันขึ้น โดยให้นักเรียนและชาวบ้านชุมชนแข่งขันกันหาหอยรอกัน แล้วนำหอยที่ได้มาอนุบาลเพาะเลี้ยง และร่วมกับชาวบ้านอนุรักษ์ไว้ มีการเพราะเลี้ยงโดยธรรมชาติเพื่อสร้างงานสร้างรายได้แก่นักเรียน และคนในพื้นที่ได้ในอนาคต

โดยนายนิมิตร สะดน กล่าวว่า หอยรอกันนี้เป็นหอยของท้องถิ่นชุมชนบ้านหัวทาง ซึ่งเป็นหอยที่ขณะนี้กำลังจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมของชุมชนบ้านหัวทางมีการทำอาชีพเกี่ยวกับนากุ้งมีการขุดบ่อนากุ้งกันเยอะ ทั้งนี้โดยธรรมชาติหอยรอกันจะอาศัยอยู่ตามป่าชายเลน ตามรากไม้ป่าโกงกาง เพราะฉะนั้น หากพื้นที่อยู่อาศัยถูกทำลายก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด ซึ่งตรงนี้เป็นโรงเรียนที่เป็นแหล่งให้การศึกษาเรียนรู้ ซึ่งต้องมองไปถึงเด็กในอนาคตว่า จะทำอย่างไรให้เด็กมีส่วนร่วมในการที่จะอนุรักษ์หอยรอกัน

โดยหอยรอกันนี้เป็นหอยที่มีมาตั้งแต่อดีตคนเฒ่าคนแก่รู้จักดีมีการเพาะเลี้ยงมาโดยตลอด แต่เนื่องจากกลังหอยรอกันจะสูญพันธุ์ ทางโรงเรียนจึงคิดโครงการซึ่งได้รับการสนับสนุนโครงการจากผู้บริหารสถานศึกษาให้การสนับสนุนโดยการให้นำเด็กร่วมกันอนุรักษ์ โดยเบื้องต้นได้มีการจัดเเรลลี่หอยรอกันให้เด็กนักเรียน ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการที่จะหาหอย โดยกำหนดกฎกติกา มีการให้รางวัล และหอยที่ได้จากการแข่งขันนั้นก็เอามาเพาะเลี้ยงที่สถานเพาะเลี้ยงของโรงเรียน

โดยผลที่ได้คือ โรงเรียนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์หอยรอกัน นอกจากนั้นก็จะทำให้หอยรอกันเป็นหอยชื่อเสียง ในด้านเศรษฐกิจของชุมชน ท้องถิ่นในอนาคตข้างหน้า ที่สำคัญคือ เป็นการสร้างรายได้ให้กับเยาวชน เด็กนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 3 โดยในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เด็กจะใช้เวลาว่างไปเล่นเกม เที่ยวเตร่ มั่วยาเสพติดบ้าง ซึ่งตรงนี้อาจควบคุมไม่ถึง แต่ถ้ามีกิจกรรมว่างได้หาหอยมาจำหน่าย และได้เงินมาใช้จ่ายประจำวันที่โรงเรียน มีรายได้จากการหาหอย ได้รู้สึกผูกพันธุ์กับหอยกับธรรมชาติตรงนี้ด้วย

สำหรับปัญหาการนั้นขณะนี้ยังไม่พบมีเพียงแต่อาจมีบุคคลภายนอกที่อาจเข้ามาหาหอยในสถานที่เพาะเลี้ยง เพราะไม่ได้กั้นเป็นพื้นที่แน่นหนา แต่ก็ไม่เป็นถือว่าเป็นการช่วยเหลือสังคม และโครงการนี้จะจัดให้เด็กมีส่วนร่วมคือ ในช่วงเวลาว่างนอกจากการหาเพื่อจำหน่ายแล้วนั้น ก็ให้นำมาเพาะเลี้ยง บริบาลไว้ก่อนที่จะนำสู่ตลาดต่อไป และให้นักเรียนได้ศึกษาดูการเจริญเติบโตของชีวิตหอยรอกัน

ในอนาคตหากหอยรอกันเป็นหอยที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยว หรือนักชิมทั่วไป อาจจะทำเป็นกระป๋องซึ่งทำให้อายุการใช้งานนานขึ้น หากเป็นที่ต้องการมากก็จะนำส่งตามร้านอาหารทั่วไป ทั้งนี้อยากให้ชุมชนช่วยกันอนุรักษ์ป่าชายเลน เพราะหากไม่มีป่าชายเลน หอยรอกันก็ไม่มี ช่วยกันเป็นหูเป็นหาไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่า

ทางด้าน ด.ช.ชาเลต นาวาเดช อายุ 11 ปี นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนเทศบาล 3 กล่าวว่า การหาหอยรอกันนั้นต้องพื้นที่ที่มีโคลนลักษณะชื้นๆ แล้วใช้มีดหรือมือควานหา นำไปทำแกง อาหารพื้นบ้าน และนำไปขายสร้างรายได้วันละร้อยกว่าบาท ขณะนี้หอยรอกันใกล้จะสูญพันธุ์แล้วอยากให้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ดู

ด้าน ด.ช.วุฒิชัย นิยมเดชา อายุ 10 ปี นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนเทศบาล 3 กล่าวด้วยว่า หอยรอหันนั้นหาไม่ยาก โดยเริ่มหาหอยนี้มาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และใช้เวลาว่างหาหอยเพื่อเป็นรายได้ช่วยเหลือครอบครัว ในอนาคตคิดว่าหอยรอกันจะมีมากขึ้น เพราะต้องมีการอนุรักษ์

พร้อมกันนี้ นางสาววรรณี พิชญ์นัส ผอ.โรงเรียนเทศบาล 3 กล่าวว่า นอกจากการเรียนการสอนปกติที่มุ่งเน้นให้เด็กมีความรู้ มีคุณธรรมแล้วในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ ได้นำมาบูรณาการกับเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวปรัชญาการดำเนินชีวิตขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต้องการให้เด็กตระหนักถึงแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำมาใช้ในการดำรงชีวิตในภายภาคหน้า

ในโครงการเศรษฐกิจพอเพียงมีหลายกิจกรรมที่โรงเรียนดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของนักเรียนและชุมชน สำหรับการเลี้ยงหอยรอกัน ซึ่งหอยรอกันนี้เป็นหอยที่คู่กับท้องถิ่นบ้านหัวทางมาเนิ่นนาน อาศัยตามป่าชายเลน และมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับหอยชนิดอื่นที่หาได้ทั่วไป ชุมชนบ้านหัวทางกำลังมีสิ่งก่อสร้างนากุ้งเข้ามาเพิ่มเติมทำให้ แหล่งที่อยู่แหล่งดำเนินชีวิตของหอยค่อยๆ หมดไป และลูกหลานในอนาคตอาจไม่รู้จักหอยชนิดนี้ซึ่งใช้ในการบริโภคมาเนิ่นนานสำหรับชุมชนบ้านหัวทาง

โรงเรียนจึงคิดว่าควรมีการอนุรักษ์หอยรอกันนี้ไว้ โดยจัดไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนให้เด็กได้เรียนรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของหอย และปลูกฝังโดยนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ ผู้ปกครองมีส่วนในการประเมิน เพื่อว่าหอยรอกันนี้จะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อยู่คู่กับชาวบ้านหัวทาง และเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

ในอนาคตหากหอยชนิดนี้ได้มีการอนุรักษ์ไว้นักเรียนก็สามารถนำไปเป็นอาชีพเสริมได้ เมื่อมีความรู้ในการดูแลรักษาต่อไปก็นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เป็นอาหารเสริม เป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้ครอบครัว ชุมชน ได้ในอนาคต

สำหรับหอยรอกันนั้นเมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนัก 1-2 กรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 5-7 บาท (รวมเปลือก) กิโลกรัมละ 60 บาท (เฉพาะเนื้อ) สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลากชนิด อย่าง ผัดเผ็ด ยำ แกงส้ม หรือจะนำไปเป็นกับแกล้มก็ได้ การปรุงหอยรอกันแต่ละครั้งต้องใช้ไฟอ่อน-ปานกลาง จะทำให้เนื้อนุ่มไม่ควรตั้งไฟนานเกินไปจะทำให้เนื้อหอยเหนียวได้





กำลังโหลดความคิดเห็น