ชุมพร - ชาวบ้านจำนวนมากแห่เก็บ “หอยราก” ถูกคลื่นมรสุมซัดกระหน่ำลอยขึ้นกองชายหาดนับ 10 ตัน
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (1 ธ.ค.) ได้มีชาวบ้านจำนวนมากนำภาชนะและถุงปุ๋ยลงไปเก็บ “หอยราก” ที่ถูกคลื่นจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซัดกระหน่ำลอยขึ้นมากองอยู่บนชายหาดเป็นจำนวนมาก บริเวณพื้นที่อ่าวคอสน หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 8 ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร โดยชาวบ้านได้แห่กันลงไปเก็บเพื่อนำไปบริโภค และจำหน่ายให้กับบรรดาพ่อค้า แม่ค้าในตลาดสดตัวเมืองชุมพร
นายเดิม สรนัย อายุ 65 ปี อาชีพทำประมง กล่าวว่า ปกติเมื่อถึงหน้าฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ลมว่าว” บริเวณดังกล่าวจะมีหอยรากลอยขึ้นมาอยู่ตามริมชายหาดเป็นประจำทุกๆ ปี แต่มีไม่มากนัก ซึ่งชาวบ้านจะลงไปเก็บขึ้นมาทำอาหารกินกันภายในครัวเรือนเท่านั้น แต่ปีนี้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาคลื่นลมมรสุมที่สูงกว่า 2 เมตร ได้ซัดกระหน่ำอย่างรุนแรง
จนทำให้ดอน “หอยราก” ซึ่งอยู่ลึกลงไปในทะเลประมาณ 1 กม. บริเวณหน้าอ่าวคอสน ลอยขึ้นมากองอยู่เต็มตลอดแนวชายหาดเป็นจำนวนมาก โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 1 มีชาวบ้านเก็บหอยรากไปทำอาหารกิน และจำหน่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้าแล้วมีมากกว่า 10 ตัน
โดยพ่อค้าแม่ค้ารับซื้อกิโลกรัมละ 15-20 บาท ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านมีรายได้จากการเก็บหอยรากขายวันละ 300-1,000 บาท ในขณะที่หอยรากที่เน่าเสีย หรือไม่ได้ขนาด ชาวบ้านก็จะพาไปทำเป็นปุ๋ยหมักในสวนปาล์ม ยางพารา และสวนผลไม้
นายเดิม กล่าวต่อว่า หอยราก ดังกล่าว ปัจจุบันพ่อค้าแม่ค้าขายอยู่ในตลาดสดราคา กก.ละ 40-45 บาท สามารถนำไปทำอาหารได้หลายอย่าง ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะร้านอาหารทั่วไปจะนำไปผัดหวาน เนื่องจากขายดีเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคอย่างมาก
ด้าน น.ส.ชิดสุภางค์ ชำนาญ เลขาธิการสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อม จ.ชุมพร กล่าวว่า จากการที่ได้ลงไปตรวจสอบและสอบถามชาวบ้าน ถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ปีนี้ผิดปกติกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา เนื่องจากหอยรากถูกคลื่นซัดขึ้นมากองริมชายหาดมีเป็นจำนวนมากหลาย 10 ตัน สาเหตุน่าจะเป็นเพราะผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และธรรมชาติที่ถูกทำลาย
โดยเฉพาะโขดหิน ดินดอน แนวปะการังต่างๆ ในท้องทะเล ที่ถือว่าเป็นแนวป้องกันภัยจากคลื่นซัดโถมเข้าหาฝั่ง ปัจจุบันถูกทำลายไปอย่างมากจากน้ำมือมนุษย์ โดยเฉพาะเรือประมงอวนลากเดี่ยว เรือประมงอวนลากคู่ และเรือประมงอวนล้อม ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อทรัพยากรในท้องทะเลอย่างมาก ชที่มักจะเข้าลักลอบเข้าไปลากอวนจับปลาภายในพื้นที่รัศมีห่างจากฝั่ง 3,000 เมตร ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดในการดูแลป้องกันอย่างจริงจัง