ศูนย์ข่าวภูเก็ต -ฝูงเครื่องบินปะการังเพื่อทะเล ทั้ง 10 ลำ ถูกจมลงสู่ทะเลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว “ดาโกต้าD1” จมดิ่งเป็นลำสุดท้ายที่ลงสู่ทะเล หวังเป็นแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ของภูเก็ตที่คนจากทั่วโลกอยากมาชม ระบุเป็นภารกิจสุดท้ายของเครื่องบินปลดประจำการที่ทำหน้าที่เพื่อชาติ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรใต้ทะเลและสร้างรายได้ให้กับประเทศ
เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่บริเวณอ่าวบางเทาซึ่งเป็นสถานที่จมฝูงบินปะการังเพื่อทะเล ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีจมเครื่องบิน โครงการฝูงบินปะการังเพื่อทะเลลงสู่ก้นทะเล เพื่อสร้างเป็นแหล่งปะการังเทียมและแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ของจังหวัดภูเก็ต โดยมีประชาชนและนักท่องเที่ยวสนใจเข้าร่วมจมการจมเครื่องบินลำสุดท้ายโครงการจำนวนมาก สำหรับเครื่องบินลำสุดท้ายที่มีการจมลงสู่ก้นทะเลในวันนี้เป็นเครื่องบิน “ดาโกต้า”D1 ซึ่งเป็นเครื่องบินจ่าฝูงของโครงการที่ประกอบไปด้วยเครื่องบินจำนวน 10 ลำ
นายปรีชา กล่าวว่า หลังจากโครงการนี้ดำเนินการแล้วเสร็จว่า จังหวัดภูเก็ตก็จะมีแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำแหล่งใหม่อีก 1 แห่ง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำเพียงแห่งเดียวที่ใช้ซากเครื่องบินที่ปลดประจำการมาทำเป็นปะการังเทียมมากถึง 10 ลำ เชื่อว่าหลังดำเนินการเสร็จแหล่งดำน้ำแห่งนี้ก็จะกลายเป็นแหล่งดำน้ำที่คนจากทั่วโลกอยากเดินทางมาชม
ขณะที่ นายมาโนช พันธ์ฉลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล กล่าวว่า โครงการฝูงบินปะการังเพื่อทะเล เริ่มต้นขึ้นจากมูลนิธิเพื่อทะเล โดยคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อทะเลและนักดำน้ำอาสาสมัครของมูลนิธิเห็นว่า แนวปะการังธรรมชาติของไทยมีความสวยงาม แต่ก็กำลังทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว
สาเหตุของการเสื่อมโทรมส่วนหนึ่ง ก็มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวดำน้ำที่มีมากเกินกว่าความสามมารถของธรรมชาติที่จะรองรับได้ ทางมูลนิธิฯ จึงคิดว่าหากมีการสร้างแนวปะการังเทียมให้เป็นแหล่งดำน้ำใหม่ เพื่อที่จะดึงดูดนักดำน้ำจากจุดดำน้ำธรรมชาติและยังจะเป็นการศึกษาของระบบนิเวศวิทยาใต้น้ำอีกด้วย
จากนั้นจึงได้มีการประสานขอความอนุเคราะห์ จากกองทัพอากาศและกองทัพอากาศได้เห็นชอบที่จะมอบเครื่องบินทั้ง 10 ลำนี้ให้กับมูลนิธิฯ แต่เครื่องบินทั้ง 10 ลำนี้เป็นเครื่องบินที่ได้รับบริจาคมากจากประเทศสหรัฐอเมริกา
มูลนิธิฯ จึงต้องประสานงานไปยังกระทวงการการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เวลาไปร่วมปีเศษจึงได้รับการอนุมัติ จากนั้นได้มีการประสานงานไปยังสมาคมนักดำน้ำไทย (TDA) และอบต.เชิงทะเล จังหวัดภูเก็ต จนกระทั่งโครงการสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ด้วยความร่วมมือจากทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (จ.ภูเก็ต) สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กองเรือภาคที่ 3 สำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 5 กองกำกับการตำรวจน้ำ จ.ภูเก็ต สำนักประมง จ.ภูเก็ต ประชาชน กลุ่มอาสาสมัครฯ องค์กรพัฒาเอกชน มูลนิธิในพื้นที่ จ.ภูเก็ต บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต สายการบินนกแอร์ บริษัทตรีเพชรอีซูซุ จำกัด และบริษัทภูเก็ต สแควจำกัด(Jungceylon Patong Phuket)
เครื่องบินในฝูงบินปะการังทั้ง 10 ลำ ที่นำมาปฏิบัติภารกิจ ประกอบด้วย เครื่องบินแบบดาโกต้า รุ่น ซี 47 จำนวน 4 ลำ และเครื่องเฮลิคอปตอร์ ลำเลียงรุ่น เอส 58 ที จำนวน 6 ลำ เครื่องบินดาโกต้า เป็นเครื่องบินที่กองทัพอากาศเคยใช้เป็นเครื่องบินพระที่นั่ง ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นลำแรกและเฮลิคอปเตอร์ รุ่น เอส 58 ทีเคนใช้เป็นเครื่องบินราชพาหะนะเช่นกัน นอกจากนี้เครื่องบินแบบดาโกต้า ยังได้มีการดัดแปลงมาเพื่อใช้ในภารกิจ โครงการฝนหลวงจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
ด้านนายวิทเยนทร์ มุตตามระ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิเพื่อทะเล กล่าวว่า เครื่องบินทั้ง 10 ลำที่ร่วมอยู่ในฝูงบินปะการังเพื่อทะเลนี้ เปรียบเสมือนเป็นวีรบุรุษของชาติ นี่เป็นภารกิจสุดท้ายที่สำคัญของวีรบุรุษเหล่านั้น เครื่องบินทั้งสองรุ่นได้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติมาตลอดชีวิต และบัดนี้เครื่องบินทั้ง 10 ลำ ก็ได้ลงไปปฏิบัติหน้าที่อย่างสมเกียรติอีกครั้งหนึ่ง เพื่อชาติและเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก โครงการนี้เตรียมการกันมากว่า 3 ปี มูลนิธิฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกองค์กรรู้สึกภูมิใจและดีใจที่โครงการนี้สำเร็จลงได้ด้วยดี
ภารกิจสุดท้ายของเครื่องบิน ทั้ง 10 ลำนี้ จะนำประโยชน์ มาสู่ประเทศไทย ทั้งในแง่การท่องเที่ยวการพัฒนาศึกษาและวิจัยระบบนิเวศวิทยา เป็นแหล่งที่อยู่ใหม่ของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ และเหนือสิ่งอื่นใดจะเป็นหนึ่งในโครงการ ที่กระตุ้นจิตสำนึกของคนในสังคมให้ร่วมกันตระหนักและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมของเรา และลุกขึ้นมาร่วมกันสร้างสรรค์โครงการที่ดีๆ กันต่อไปเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง