ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ย้ายซากเครื่องบินรบที่ดัดแปลงเป็นปะการังเทียมเก็บในจุดที่เหมาะสม หลังเกิดพายุจนต้องเลื่อนการวางลงทะเล วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยจัดงบประมาณมาดูแลหวั่นได้รับความเสียหาย ก่อนประกอบพิธีวางแนวปะการังในเดือนพฤศจิกายนนี้
นายไพฑูล แพนชัยภูมิ หัวหน้าศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งที่ 4 ภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากเกิดพายุและคลื่นลมแรงในทะเลอันดามัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมติเลื่อนการวางปะการังเทียมที่ทำจากซากเครื่องบินรบหมดสภาพ จากเดิมวันที่ 5 พ.ค.ออกไปเป็นเดือน พ.ย.51 นั้น ซากเครื่องบินที่วางไว้ที่บริเวณท่าเทียบเรือน้ำลึก ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต จะต้องถูกจัดเก็บใหม่เพื่อไม่ให้กีดขวางบริเวณหน้าท่าเทียบเรือ
โดยในวันนี้ (5 พ.ค.) เจ้าหน้าที่จากศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 ภูเก็ต ได้ทำการเคลื่อนย้ายซากเครื่องบินแล้ว โดยใช้รถเครนยกซากเครื่องบินขึ้นวางบนรถเทรลเลอร์เพื่อเคลื่อนย้ายไปวางบริเวณด้านหลังท่าเทียบเรือที่มีการปรับพื้นที่ไว้แล้ว
หลังจากวันนี้บริเวณดังกล่าวจะถูกจัดเป็นสถานที่เก็บซากเครื่องบินสำหรับวางปะการังเทียมไปก่อน โดยจะมีการจัดวางเครื่องบินเรียงรายอย่างสวยงาม มีรากฐานที่แข็งแรง และมูลนิธิเพื่อทะเล จะดำเนินการทำเสื้อหุ้มเครื่องบิน เพื่อป้องกันแดด กันฝน และไอทะเล เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ก่อนที่จะมีการวางเครื่องบินลงสู่ทะเลอันดามัน ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนนี้
สำหรับการย้ายเครื่องบินในครั้งนี้ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการประมาณ 7 หมื่นบาท ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมธุรกิจดำน้ำแล้ว แต่สิ่งที่เป็นห่วงหลังจากนี้ คือ เรื่องของการดูแลรักษาซากเครื่องบินซึ่งจะต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนหนึ่งแต่ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดแจ้งขอเข้ามามีส่วนร่วม จึงอยากให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องของการดูแลร่วมกันด้วย และสิ่งที่มีความเป็นห่วงอีกอย่างคือเรื่องของการจัดเจ้าหน้าที่ดูแลเพราะอาจจะมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาทำลายซากเครื่องบินเพื่อนำไปขายเป็นของเก่าได้
ขณะที่ นางสุวลัย ปิ่นประดับ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคใต้เขต 4 ระบุว่า การเลื่อนเวลาวางเครื่องบินเป็นแนวปะการังเทียม ณ บริเวณอ่าวบางเทา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ในเดือนพฤศจิกายนนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัยทางธรรมชาติ
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของความปลอดภัยเป็นหลัก จึงหลีกเลี่ยงหน้ามรสุมซึ่งเป็นอุปสรรคต่อขั้นตอนการวางเครื่องบิน รวมทั้งนักดำน้ำที่จะดำลงไปชมปะการังเทียม อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวได้เอื้ออำนวยต่อการทำแผนประชาสัมพันธ์ทางการท่องเที่ยวในระยะยาว ซึ่งจะตรงกับช่วงฤดูการท่องเที่ยวพอดี
ส่วนเครื่องบินปลดประจำการทั้งหมด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคใต้เขต 4 กำลังพิจารณาเตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในโอกาสวันสำคัญ อย่างเช่น จัดนิทรรศการบอกเล่าประวัติความสำคัญของเครื่องบิน
ขณะที่ นายอาซิ่น อร่ามเมธาพงศา ผู้จัดการท่าเทียบเรือน้ำลึก กล่าวว่า ได้อำนวยความสะดวก โดยแบ่งพื้นที่การใช้งานภายในท่าเทียบเรือน้ำลึกบางส่วน เป็นที่ตั้งเครื่องบินปลดประจำการทั้งหมด แต่การเปิดให้เข้าชมนั้น ควรเป็นในโอกาสพิเศษ เนื่องจากท่าเทียบเรือมีระบบการรักษาความปลอดภัยแบบสากล