นครศรีธรรมราช - ชาวประมงเรือเล็กปากพนัง ออกวางอวนดักปลากลางอ่าวไทย แต่กลับติดปืนใหญ่ทองเหลือง คาด อายุนับร้อยปี ซึ่งอาจจะเป็นของกองทัพเรือญี่ปุ่น เชื่อในจุดเดียวกันยังมีของโบราณอีกมาก เนื่องจากชาวบ้านวางอวน และเกิดติดของหนัก ทำให้เสียหายบ่อยๆ โดยให้หน่วยงานที่เชี่ยวชาญและเกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจตรวจสอบเพื่อมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ต่อไป
วันที่ (20 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น.นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ อบต.หมู่ 6 ต.ปากพนังฝังตะวันออก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นายสุเมธ ศาสน์ประดิษฐ์ อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 237/1 หมู่ 6 ต.ปากพนังฝั่งตะวันออก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และชาวบ้านกว่า 10 คน ได้นำปืนใหญ่โบราณที่พบในทะเลห่างจากฝั่ง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 10 กม.เศษ มาให้ผู้สื่อข่าวตรวจสอบและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบว่าเป็นปืนใหญ่ในสมัยใด และมีที่มาที่ไปอย่างไร
สำหรับปืนใหญ่กระบอกดังกล่าวหล่อด้วยทองเหลืองโบราณ มีความยาว 41.5 นิ้ว ส่วนท้ายกระบอกกว้าง 12 นิ้ว ปลายกระบอกกว้าง 7.5 นิ้ว ปากรูกระสุนกว้าง 1.5 นิ้ว ความยาวรูลำกล้อง 36 นิ้ว บริเวณด้านล่างมีเดือยสำหรับสอดใส่ในฐานยิงขนาดกว้าง 1.5 นิ้ว ยาว 5 นิ้ว น้ำหนักรวม 31 กก.บนกระบอกมีตราสัญลักษณ์เหมือนดอกบัวหรือเทพพนม กว้าง 3 นิ้ว ยาวประมาณ 3.5 นิ้ว หล่อติดกับกระบอกปืน โดยในตราสัญลักษณ์มีตัวอักษรภาษาอังกฤษปรากฏอยู่ว่า “อินเดีย” และมีอักษรอื่นๆ ปรากฏอยู่อีกจำนวนหนึ่ง
นายสุเมธ ศาสน์ประดิษฐ์ ผู้พบอาวุธปืนใหญ่โบราณกระบอกดังกล่าว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2551 ที่ผ่านมา ตนนำเรือประมงขนาดเล็ก ออกวางอวนดักกุ้งในทะเลอ่าวไทยห่างจากฝั่งปากพนังประมาณ 10 กม.น้ำลึกประมาณ 8 วา หรือประมาณ 16 เมตร จนเมื่อเวลา 15.00 น.วันเดียวกันตนได้กู้อวนเพื่อจะกลับเข้าฝั่ง ปรากฏอวนติดของหนักมาก จนสาวอวนแทบไม่ไหว แต่ก็พยายามสาวอวนขึ้นมาบนเรือ ก็พบว่าปลายอวนส่วนล่างได้พันเกี่ยวติดปืนใหญ่กระบอกดังกล่าว ตนจึงนำกลับเข้าฝั่ง
ชาวบ้านที่ทราบข่าวต่างทยอยเดินทางมาชมปืนใหญ่โบราณอย่างต่อเนื่อง มีคนมาขอซื้อปืนใหญ่กระบอกดังกล่าว 2 รายๆ แรกให้ราคา 10,000 บาท รายที่ 2 ให้ราคา 20,000 บาท แต่ตนไม่ยอมขาย และได้นำเหล็กมาเชื่อมเป็นโครงสำหรับวางตั้งปืนใหญ่ พร้อมแจ้งให้นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ อบต.หมู่ 6 ต.ปากพนังฝั่งตะวันออก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ทราบ
“ผมอยากให้หน่วยงานที่เชี่ยวชาญและเกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจตรวจสอบปืนกระบอกดังกล่าว ว่า เป็นปืนใหญ่สมัยใดและมีที่มาที่ไปอย่างไรจึงมาอยู่ในท้องทะเลลึก และอยากให้ลงไปสำรวจในจุดที่พบปืนใหญ่เพราะเชื่อว่ามีสิ่งของอื่น ๆอยู่ในบริเวณเดียวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะมีคุณค่าและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองไม่มากกก็น้อย” นายสุเมธ กล่าว
ด้าน นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ อบต.หมู่ 6 ต.ปากพนังฝั่งตะวันออก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ชาวประมงที่ไปวางอวนจับสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวประสบปัญหาอวนเกี่ยวติดกับของหนักมาบ่อยครั้ง เมื่อพยายามกู้อวนขึ้นมาทำให้อวนขาดเสียหาย จนเมื่อต้นปี 2550 มีชาวประมงคนหนึ่งกู้อวนและอวนติดของหนักเป็นปืนใหญ่โบราณ ขนาดใกล้เคียงกับกระบอกนี้จึงนำมาขายให้กับนักสะสมของโบราณคนหนึ่งใน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครศรีธรรมราช
ปรากฏว่า ขณะที่นักสะสมของโบราณคนดังกล่าวครอบครองปืนใหญ่โบราณเอาไว้ทำให้ครอบครัวมีปัญหามากมาย จนครอบครัวเกือบล่มสลาย เชื่อว่า มาจากอาถรรพ์ของปืนใหญ่โบราณที่ครอบครองจึงนำไปฝังดินไว้ใต้โคนต้นไม้ใหญ่ใกล้ๆ บ้าน แต่ครอบครัวก็ยังประสบปัญหามากมายจึงตัดสินใจติดต่อของมอบปืนใหญ่โบราณกระบอกดังกล่าวให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช แต่เมื่อไปขุดในจุดที่ฝังกับไม่พบปืนใหญ่ที่ฝังไว้ ขุดหาในบริเวณใกล้เคียงก็ไม่พบเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก
“ในที่สุดจึงไปว่าจ้างรถแบ็กโฮมาช่วยขุดเป็นบริเวณกว้างก็ไม่พบ ภรรยาของนักสะสมของเก่าคนดังกล่าว จึงจุดธูปบนบานและขอขมา และยืนยันว่า จะไม่เก็บปืนใหญ่กระบอกดังกล่าวไว้เป็นสมบัติของตัวเอง แต่จะนำไปมอบให้เป็นสมบัติของชาติ โดยจะมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราชหลัง จากนั้นรถแบ็กโฮก็จ้วงขุดเพียงครั้งเดียวก็พบปืนใหญ่โบราณอย่างง่ายดาย และนำไปมอบให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช มาจนถึงปัจจุบันนี้ จนกระทั่ง นายสุเมธ ชาวประมงไปดักอวนพบปืนใหญ่โบราณอีกกระบอกดังกล่าว”
ทางด้าน นายงวน บุญศรี อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 204 หมู่ 6 ต.ปากพนังฝั่งตะวันออก เพื่อนบ้านของ นายสุเมธ ศาสน์ประดิษฐ์ กล่าวว่า ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่าชายฝั่งทะเลในละแวกนี้ เรียกว่า ท่าเรือ “บ้านหน้าโหนด” เป็นจุดที่ทหารญี่ปุ่นมาจอดเรือรบเป็นจำนวนมาก และทหารญี่ปุ่น ได้ยกพลขึ้นบกในจุดนี้ด้วย ตนจึงเชื่อปืนใหญ่โบราณที่พบอาจจะเป็นของกองทัพเรือญี่ปุ่น หรือของฝ่ายตรงข้ามที่มีการสู้รบกันจนเรืออับปาง หรืออาจจะเก่ากว่านั้น จึงเชื่อว่า ลำเรือที่เป็นไม้คงจะผุพังย่อยสลายไปหมดแล้ว จนเหลือเพียงสิ่งที่เป็นโลหะ และเชื่อว่า ในบริเวณเดียวกันจะต้องมีทรัพย์สินอื่นๆ ที่เป็นโลหะอยู่เป็นจำนวนมาก