xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนสตูลครวญรับวิกฤตราคายางตกต่ำ ร้องรัฐพยุงราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตูล – ราคายางตกต่ำ ประกอบกับมีฝนตกชุก ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยาง จ.สตูลประสบปัญหาเรื่องรายได้เลี้ยงชีพ

วันนี้ (5 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคายางพาราที่ลงต่ำอยู่ขณะนี้ส่งผลต่อเกษตรกรชาวสวนยางพาราถึงขั้นวิกฤต สำหรับหลายครอบครัวที่หาเลี้ยงชีพด้วยการกรีดยางพาราเพียงอย่างเดียว

นายอุเส็น ยาหวัง อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 409 ม.4 บ้านโคกยาหมู ต.ควนขัน อ.เมือง จ.สตูล เกษตรกรชาวสวนยางพารา กล่าวว่า อาชีพหลักของครอบครัวคืออาชีพรับจ้างกรีดยาง โดยจะมีแบ่งสันปันส่วน เจ้าของสวนรับ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวรับ 40 เปอร์เซ็นต์ จากปกติรายได้วันละ 2,000 บาท แบ่งบันส่วนเหลือวันละ 800 บาท แต่ในช่วงสถานการณ์ราคายางตกต่ำนี้ รายได้เหลือวันละ 600 บาท แบ่งบันส่วนเหลือ 300 บาท ถือว่ากระทบต่อครอบครัวเป็นอย่างมากเพราะรายได้ของครอบครัวมาจากการกรีดยางเท่านั้นและในช่วงนี้นอกจากราคายางพาราตกและมีแนวโน้มราคาจะตกลงอีกก็มีฝนตกลงมาอีกส่งผลให้กรีดยางพาราไม่ได้ร่วมสัปดาห์แล้ว อยากให้ภาครัฐเข้าช่วยพยุงราคาไม่ตกลงมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้

ด้าน น.ส.เพ็ญนภา รักษ์นิยม อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 181 ม.4 ต.ควนขัน อ.เมือง จ.สตูล เกษตรกรชาวสวนยางพารา กล่าวว่า ราคายางตกส่งผลกระทบกับหลายครัวเรือน ทั้งด้านสภาพอากาศที่ไม่อำนวย สภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่อยู่ขณะนี้ ทุกครัวเรือนต้องประหยัดลดค่าใช้จ่ายลง โดยส่วนตัวรายได้จากเดิม ได้มา 4 ส่วน หายไป 3 ส่วน จึงต้องหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูง

สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้นมองว่า ปัญหาอยู่ที่ราคาตลาดโลก สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศก็กำลังย่ำแย่ จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ต้องอยู่ที่รัฐบาลจะช่วยกันแก้ หรือจะปล่อยให้ล้มไป ซึ่งหากรัฐบาลยังอยู่อย่างนี้เศรษฐกิจก็แย่ตลอดไป


พร้อมกันนี้ นายสิทธิชัย คงชม อายุ 30 ปี บ้านเลขที่ 164 ม.4 ต.นิคมพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล เกษตรกรชาวสวนยางพารากล่าวด้วยว่า รายได้จากการกรีดยางในช่วงราคายางกิโลกรัมละ 90 บาท มีรายได้เฉลี่ยวันละ 3,000 บาท ลดลงเหลือเพียงวันละ 1,300-1,500 บาท ได้ตัดบ้านหยุดบ้าง ถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤต เพราะต้องผ่อนรถทุกเดือนและต้องแก้ปัญหาโดยการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ที่เหลือต้องทนรับสภาพต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทั้งอยากให้ภาครัฐประกันราคายาง ราคากิโลกรัมละ 60 บาทก็สามารถอยู่ได้

ด้าน นายธานินทร์ ใจสมุทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กล่าวถึงโครงการโรงงานผลิตปุ๋ยว่า ขณะนี้ได้มีการศึกษาดูงานเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้ร่วมทุนนั้นคือ สหกรณ์การเกษตรทุกสหกรณ์ในจังหวัดสตูลตกลงร่วมทุน โดยจะกู้เงินทุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ประมาณ 20 ล้าน และจะกู้ ธกส. เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนส่วนหนึ่ง

สำหรับการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปีนี้ และในปีนี้สามารถจำหน่ายปุ๋ยแก่เกษตรกรในราคาถูกได้ สำหรับการบริหารจัดการนั้น รูปแบบชุมนุมสหกรณ์ ทุกสหกรณ์จะถือหุ้นร่วมกัน และจะมีการใช้ปุ๋ยประมาณ 3,000-4,000 ตันต่อปี โดยต้องผลิตให้ได้วันละ 50 ตันต่อปีเป็นอย่างน้อย เพื่อจะขายให้แก่สมาชิกก่อนซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกร และขณะนี้มีปัญหาเรื่องของวัตถุดิบในการผลิต

ทั้งนี้ เกษตรกรจะได้ซื้อปุ๋ยในราคาถูก อาจจะซื้อในราคาครึ่งต่อครึ่งของราคาปุ๋ย แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ทราบถึงต้นทุนการผลิต โดยพยายามที่จะจัดทำปุ๋ยให้มีคุณภาพและราคาถูก ซึ่งจะผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี ที่สามารถใช้ได้ทั้งยางและปาล์ม

“สำหรับราคายางตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ วันที่ 4 พ.ย.2551 ราคายางแผ่นดิบ 60.50 บาท รมควันชั้น 3 ราคา 65.59 บาท น้ำยางสด 65 บาท สำหรับราคายางเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา วันที่ 3 ต.ค.2551 ราคายางแผ่นดิบ 74.50 บาท รมควันชั้น 3 ราคา 76.76 บาท น้ำยางสดราคา 69 บาท” นายธานินทร์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น