ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “แบงก์ชาติ” เผยภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 3 ปี 2551 ขยายตัวแต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยราคาพืชผลผลิตทางการเกษตรยังดีดตัวขยายร้อยละ 62.4 ยกเว้นด้านประมงที่ยังเจอมรสุมรอบด้าน ด้านภาพรวมท่องเที่ยวชะลอตัวเนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศกระทบต่อความเชื่อมั่นฝั่งอันดามัน แต่สงขลากลับมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 8% ชี้แฮมเบอร์เกอร์ไครซีสส่งผลให้คนใต้ยิ่งเพิ่มการออมและชะลอด้านสินเชื่อ ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 4 คาดว่า ยังชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลก
นางพรรณพิศ เลขะกุล ผู้บริหารส่วน ส่วนวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยถึงเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ของปีนี้ ว่า ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยในด้านของภาคเกษตรกรรม รายได้จากการขายพืชผลสำคัญของเกษตรกรขยายตัว 62.4 % ตามปริมาณผลผลิตพืชผลสำคัญที่เพิ่มขึ้น 15.2% จากการเพิ่มขึ้นของปาล์มน้ำมันและราคายาง
ขณะเดียวกัน ราคาผลผลิตสำคัญเพิ่มขึ้น 40.9% โดยราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 95.10 บาทเพิ่ม 44.0% แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากอุปสงค์จากผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่ชะลอตัว ประกอบกับราคาน้ำมันดิบและการเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดล่วงหน้าลดลง ส่วนปาล์มน้ำมันทั้งทลายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.65 บาทเพิ่มขึ้น 7.1% ซึ่งมีแนวโน้มจะชะลอลงตามราคาในตลาดโลกด้วยเช่นกัน
นางพรรณพิศ กล่าวต่อถึงด้านการประมง ว่า ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเรือในภาคใต้ในไตรมาสนี้ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 10.2% และ 11.3% ตามลำดับ โดยมีผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลในประเทศลดลง และการเข้มงวดในการทำประมงในน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้ง เกษตรกรบางส่วนชะลอการเพาะเลี้ยง เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นประกอบกับราคากุ้งที่ตกต่ำ ทำให้ผลผลิตกุ้งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนลดลง 7.8% ด้านราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น
ในภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น 3.8% เป็นผลจากอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกและอุตสาหกรรม เพื่อใช้ในประเทศ การผลิตขยายตัว โดยอุตสาหกรรมยางมีปริมาณส่งออกจำนวน 662,804.0 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 7.8% ตามความต้องการของตลาดจีนเป็นสำคัญ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการส่งออก 28,868.8 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น 2.6% ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกกุ้งไปตลาดญี่ปุ่นและยุโรป และอาหารบรรจุกระป๋อง 35,750.2 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกัน 46.7% ตามปริมาณวัตถุดิบ และมีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น 53.2% ส่วนใหญ่ส่งในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เนเธอร์แลนด์ และ เวียดนาม
ด้านการท่องเที่ยว นางพรรณพิศ กล่าวว่า ภาวะท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ ประมาณ 712,868 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 8.8% จากการเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวในภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะ จ.สงขลาที่เพิ่มขึ้น 39.9% เนื่องจากรัฐและภาคเอกชนร่วมกันจัดกิจกรรมท่องเที่ยวในภาคใต้ตอนล่าง และนักท่องเที่ยวมั่นใจในความปลอดภัย ส่วนภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีนักท่องเที่ยวลดลง โดย จ.ภูเก็ตลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 9.9%
ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน ประกอบกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีการปิดสนามบิน ทำให้มีสายการบินยกเลิกเที่ยวบิน รวมทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่มั่นใจในความปลอดภัย ทำให้นักท่องเที่ยวแถบเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และ มาเลเซีย เดินทางเข้ามาลดลง อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวออสเตรเลียและเกาหลี ซึ่งมีสัดส่วน 13.5% และ 14.7% ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาภูเก็ตยังคงเพิ่มขึ้น 17.0% และ10.9%
นางพรรณพิศ กล่าวต่อในด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ว่า ไตรมาสนี้ขยายตัว เนื่องจากราคาพืชผลที่สำคัญอยู่ในระดับสูงและราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ประกอบกับภาครัฐมีนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือประชาชน ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.1% ตามการขยายตัวของเครื่องชี้ การบริโภคที่สำคัญได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ปี 2543 เพิ่มขึ้น 6.3% ดัชนียานยนต์เพิ่มขึ้น 9.4% และการใช้ไฟฟ้าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 5.4%
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมชะลอตัว โดยพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลมีจำนวน 418,065 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 15.9% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้น 43.5% ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนรายและการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 23.4% และ40.8% ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการจดทะเบียนในจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และสงขลา ส่วนกิจการที่มีการจดทะเบียนมากเป็นกิจการรับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม ภัตตาคารอาหาร สำหรับโครงการลงทุนที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ลดลงทั้งจำนวนรายและเงินทุน เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่เพียง 2 เป็นกิจการโรงแรมและผลิตไบโอดีเซล
ส่วนระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ในไตรมาสนี้เท่ากับ 8.8% โดยราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 15.2% และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 4.3% ตามราคาสินค้าหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร หมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ 4.9% นางพรรณพิศ กล่าวต่อและว่า
ด้านมูลค่าการค้าต่างประเทศรวมของภาคใต้มีทั้งสิ้น 5,694.2 ล้าน ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 45.3% เป็นมูลค่าการส่งออกจำนวน 3,668.6 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 39.1% ตามมูลค่าส่งออกสินค้าได้แก่ ยางพารา เพิ่มขึ้น 55.5% ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้น 15.2% สัตว์น้ำแปรรูปและแช่แข็งเพิ่มขึ้น 30.8% และอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้น 57.8% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 2,005.5 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 58.3 จากมูลค่าการนำเข้าสัตว์น้ำแช่แข็งและเครื่องจักรอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 64.2% และ67.4%
ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ มีจำนวน 28,619.9 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 5.3% ผลจากเกือบทุกคลังจังหวัดมีการเบิกจ่ายลดลง ด้านรายได้มีการจัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 8,298.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 5.9 เป็นผลจากจัดเก็บภาษีสรรพากรได้เพิ่มขึ้น 7.5% ส่วนภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรลดลง 10.1 และ 1.2 ตามลำดับ
ในด้านการเงินฝากขยายตัว คาดว่า ณ สิ้นเดือนกันยายนนี้ เงินฝากเพิ่มขึ้น 8.0% เนื่องจากปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ผู้มีเงินออมกลับมาออมเงินในลักษณะเงินฝากกับระบบธนาคารมากขึ้น ทางด้านสินเชื่อขยายตัว 14.8% ในอัตราที่ชะลอลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สินเชื่อที่ขยายตัว ยังคงเป็นสินเชื่อที่ให้กับภาคครัวเรือน
“จากข่าวที่ออกมาว่าปีหน้านั่นจะเป็นปีเผาจริง ตนคิดว่า เป็นเรื่องของความวิตกที่เกิดขึ้น เนื่องจากภาวะวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐฯ ซึ่งมันก็เป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดความวิตกกังวลในขณะนี้ แต่หากมองเศรษฐกิจของไทยเองไม่น่าจะมีปัญหา เพราะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์นั้น เงินในระบบยังมีอยู่ ในแง่ของผู้ประกอบการเองก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวในการบริหารจัดการ ซึ่งผู้ประกอบการของประเทศไทยนั้นปรับตัวได้ค่อนข้างดี” นางพรรณพิศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับไตรมาส 4 คาดว่า มีแนวโน้มชะลอตัว แม้ราคาน้ำมันลดลงอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน ประกอบกับรายได้เกษตรกรมีแนวโน้มชะลอลง จากการที่ราคายางและปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มลดลงตามราคาในตลาดโลก อันเนื่องมาจากความต้องการและการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าลดลง ทำให้ลงทุนชะลอลงและมีการเลื่อนการบริโภคบางส่วนออกไป นอกจากนี้ การส่งออกและการท่องเที่ยวจะชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก