ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ททท.หาดใหญ่เล็งเจาะ Nich Market รับเทรนด์ท่องเที่ยวลดโลกร้อน เปิดรูต 5 เส้นทางชมเมืองพี่เมืองน้องหาดใหญ่-พัทลุง ดึงนักปั่นน่องเหล็กไทย-ต่างชาติหนีความจำเจ เรียนรู้การอนุรักษ์ทรัพยากร ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น หวังฉุดรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 500 ล้านบาท/ปี แนะผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมรองรับ ทั้งที่พักและร้านอาหารให้มีมาตรฐาน และที่พักแนวบูติกเจาะระดับกลุ่มไฮเอนด์ ด้านเอเยนต์จักรยานทัวร์ฟุ้งเส้นทางใหม่เติบโตดีแน่ เตรียมหลอม 5 เส้นทางเป็นรูตใหม่นำนักปั่นไทย มาเลย์ และสิงคโปร์ เที่ยวภายใน 1 สัปดาห์ในต้นปี 52
นายประภาส อินทนปสาธน์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานหาดใหญ่ ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่ จ.สงขลา-พัทลุง เปิดเผยถึงกลยุทธ์ทางการท่องเที่ยว ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติให้กลับเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้ได้เริ่มเปิดตัวเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวในพื้นที่สงขลาและพัทลุง เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551-พฤษภาคม 2552 จำนวน 5 เส้นทาง เพื่อเสนอขายสินค้าการท่องเที่ยวแบบพิเศษ (Nich Market) แก่นักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะให้เดินทางเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น
“การเปิด 5 เส้นทางจักรยานนี้ ททท.หวังว่าจะประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เยาวชน และผู้สนใจรับรู้แหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ในพื้นที่ ควบคู่การเรียนรู้อนุรักษ์ทรัพยากร ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และสอดคล้องกับเทรนด์การท่องเที่ยวในปัจจุบัน ซึ่งนักท่องเที่ยวทั่วโลกเน้นเรื่องการอนุรักษ์ และช่วยลดภาวะโลกร้อน” นายประภาส กล่าวต่อและว่า
สำหรับ 5 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางที่หนึ่งนั่งรถไฟท่องเมืองลุง ปั่นจักรยานชมทุ่ง วัด เวียง วัง 2 วัน 1 คืน วันที่ 11-12 ตุลาคม ตลอดเส้นทางผ่านแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ ถ้ำมาลัย, วัดเขาแดง, เขาจิงโจ้, บ้านปากสระชมการตีมีดพร้า, เมืองเก่าชัยบุรี, ศาลหลักเมือง, ชมหัตถกรรมกะลามะพร้าว, บ้านคอกวัว, บ้านใหม่, บ้านควนถบ, เตาปูน, วัดป่าลิไลยก์, หาดลำปำ, เจ้าเมืองเก่า-ใหม่, วัดวัง, วัดถ้ำวังคูหาสรรค์, พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ เป็นต้น รวมระยะทางปั่นจักรยาน 46 กิโลเมตร
เส้นทางที่สอง ปั่นจักรยานปลูกป่า ค้นหาธรรมชาติรอบเกาะใหญ่ วันที่ 30 พฤศจิกายน ตลอดเส้นทางผ่านแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ วัดเอกเชิงแส, วัดเอกเชิงแสกลาง นมัสการพระพุทธไสยาสน์ ขนาดยาว 108 ฟุต และกำแพงวัดที่มีความสูงเพียง 50 ซ.ม., วัดรัตนาราม, วัดอินทราวาส, วัดเกาะใหญ่, ชมบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่วัดแหลมบ่อท่อ, ชมวิวที่จุดหัวแหลมเจ้า, วัดสูงทุ่งบัว, เป็นต้น ระยะทางปั่นจักรยาน 35 กิโลเมตร
เส้นทางที่สาม ปั่นจักรยานปลูกป่า หาธารน้ำแร่ แลหัตถกรรม วันที่ 21 ธันวาคม 2551ตลอดเส้นทางผ่านแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ สถานีรถไฟบางแก้ว, โครงการพระราชดำริ, ชมหัตถกรรมแกะรูปหนังตะลุง, นมัสการหลวงปู่เปลื้องวัดบางแก้วผดุงธรรม, แก่งหูแร่, บ่อน้ำร้อน เป็นต้น ระยะทางปั่นจักรยาน 35 กิโลเมตร
เส้นทางที่สี่ ล่องเรือแลนก ชมอาทิตย์ตกที่ไสกลิ้ง วันที่ 15 มีนาคม 2552 ตลอดเส้นทางผ่านแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ อุทยานนกน้ำทะเลน้อย, สวนพฤกษศาสตร์, สะพานยกระดับหัวป่า-ไสกลิ้ง, ชมควายไล่ทุ่ง, วัดหัวป่า, วัดวารีปาโมกข์ เป็นต้น ระยะทางปั่นจักรยาน 40 กิโลเมตร
เส้นทางที่ห้า นมัสการพระธาตุ สัมผัสวิถีวัฒนธรรม ชมหัตถกรรมเมืองลุง วันที่ 10 พฤษภาคม 2552 ตลอดเส้นทางผ่านแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ หาดใหญ่, ปากคลอง, วัดเขาอ้อ, วัดควนปันตาราม, วัดสุนทราวาส, วัดดอนศาลา, วัดสุวรรณวิชัย, ศูนย์ศิลปหัตถกรรมกะลามะพร้าวควนขนุน, วัดบ้านสวน, วัดภูเขาทอง เป็นต้น ระยะทางปั่นจักรยาน 50 กิโลเมตร
สำหรับการท่องเที่ยวใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลานั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว ทั้งที่พักซึ่งมีทั้งโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร สถานที่ชอปปิ้ง สถานบันเทิง มีค่าใช้จ่ายต่อวันคนละ 2,435 บาท แต่มีนักท่องเที่ยวกระจุกตัวในช่วงวันหยุด ดังนั้น ททท.ได้เปิดเส้นทางท่องเที่ยวรอบนอก เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวได้ทุกวัน แตกต่างจาก จ.พัทลุง ที่ต้องยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ซึ่งมีเพียงปีละ 500 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายต่อวันคนละ 742 บาทเท่านั้น
“การท่องเที่ยวใน จ.พัทลุง ถือว่ายังทำรายได้น้อยด้วยความไม่พร้อมของห้องพักและร้านอาหารซึ่งไม่สามารถรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจำนวนมากๆ ได้ ทำให้การท่องเที่ยวเป็นแบบเช้าไป-เย็นกลับ และ 70% เป็นนักทัศนาจร แต่หากนักลงทุนสนใจด้านการท่องเที่ยวน่าจะลงทุนสร้างที่พักแนวบูติกเจาะระดับกลุ่มไฮเอนด์ รองรับการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เจาะเฉพาะกลุ่ม ซึ่ง จ.พัทลุง มีโอกาสพัฒนาให้โดดเด่นในด้านนี้สูง เช่น กลุ่มปั่นจักรยาน หรือกลุ่มดูนก ซึ่งแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยแต่มีการใช้จ่ายสูง อย่างน้อยทริปละ 50,000-60,000 บาท” นายประภาส กล่าว
ด้านนางสุภาวดี ฤตวิรุฟห์ โอเปอเรชัน แมเนเจอร์ บริษัท ไบท์ แอนด์ แทรเวล ซึ่งได้ร่วมสำรวจเส้นทางจักรยานสงขลา-พัทลุง เปิดเผยว่า บริษัทเคยนำกรุ๊ปนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติปั่นจักรยาน ในเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-กระบี่ โดยพักค้างคืนที่ จ.สมุทรสงคราม และหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทริปดังกล่าวแต่ละคนได้ใช้จ่ายเงินราว 7,000 บาท/วัน โดยบริษัทเคยจัดแพกเกจการท่องเที่ยวเช่นนี้สูงสุด 100 คน
“นักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในโซนยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้ที่รักการท่องเที่ยวโดยจักรยาน และแต่ละคนจะมีกำลังซื้อสูง และต้องการท่องเที่ยวแบบไม่จำเจ ทำให้เรามองเห็นโอกาสที่จะเจาะกลุ่มใหม่ๆ และนำเสนอศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเสนอขายร่วมด้วยการเที่ยวแบบโลกสีเขียว โดยใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทาง ที่ปั่นผ่านแหล่งท่องเที่ยวและเข้าถึงเส้นทางในหมู่บ้าน ซึ่งสามารถกระจายรายได้ตลอดเส้นทางที่ผ่าน” นางสุภาวดี กล่าว และว่า นักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้จะสามารถเดินทางได้ตลอดทั้งวัน และปรับตัวลิ้มลองอาหารในท่องถิ่นได้ ส่วนกลางคืนจะพักผ่อนอย่างเต็มที่ โอกาสที่เราจะเสนอตัวเป็นเจ้าของบ้านนั้นมีมาก แต่จะต้องปรับปรุงในด้านสถานที่พักซึ่งต้องสะอาด มีมาตรฐาน เช่น ใช้ผ้าปูที่นอนสีขาว โดยเฉพาะห้องน้ำที่ต้องปรับปรุงให้ใช้ชักโครก
ในขณะนี้ บริษัทกำลังติดต่อกับเอเยนต์ทัวร์จักรยานภายในประเทศ ซึ่งมีราว 20 แห่ง รวมถึงประสานงานเอเยนต์จากประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อมาร่วมทริป ซึ่ง ททท.เป็นเจ้าภาพจัดทำขึ้น โดยเริ่มสตาร์ท ที่ อ.หาดใหญ่ สู่ จ.พัทลุง แต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางให้มีความกระชับ เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ครบถ้วน และมีเวลาเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวให้มากขึ้น และมีโอกาสแวะชมสถานที่พักในพื้นที่ เพื่อหาจุดขายให้เหมาะแก่ลูกค้าแต่ละกลุ่ม รวมระยะเวลาราว 1 สัปดาห์