ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผอ.สถาบันวิชัยฯ เผย พบแมงกะพรุนกล่องที่บ้านอ่าวน้ำบ่อภูเก็ต ออกหนังสือเตือนหน่วยงานเกี่ยวข้องแจ้งชาวประมง นักท่องเที่ยว ประชาชน ระวังหลีกเลี่ยงการสัมผัส เพราะอาจจะเป็นอันตรายได้ แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจยังไม่พบแมงกะพรุนกล่องตามชายหาดท่องเที่ยว
นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน เปิดเผยว่า ตามที่มีรายงานการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวชาวสวีเดน 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย ที่บริเวณหาดคลองดาว อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งทางสถาบันฯ ได้รับการติดต่อขอความอนุเคราะห์ทีมนักวิจัยของสถาบันฯ ร่วมออกสำรวจเก็บรวบรวมตัวอย่างแมงกะพรุนกล่อง (BOX Jellyfish) ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กับทีมวิจัยแพทย์จากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่สำรวจสถิติผู้ป่วยจากพิษแมงกะพรุนจากโรงพยาบาลแถบชายฝั่งทะเลจังหวัดท่องเที่ยว 4 จังหวัด รวมทั้งบริเวณจังหวัดกระบี่ฝั่งทะเลอันดามันด้วย
“จากผลการสำรวจรวบรวมตัวอย่างแพงกะพรุนโดยการสุ่มวางอวนลอยกุ้งสามชั้น บริเวณเกาะลันตา ประมาณ 2 ชั่วโมง พบแมงกะพรุนกล่อง ชนิด Chiropsoides buitendijki (Horst,1907) วงศ์ Chiropsalmidae จำนวน 6 ตัวอย่าง และในวันที่ 22 สิงหาคม 2551 พบแมงกะพรุนกล่อง ชนิด Carybdea sp.วงศ์ Carybdeidae จำนวน 7 ตัวอย่าง ซึ่งทางสถาบันฯกำลังส่งตัวอย่างให้ผู้เชี่ยวชาญที่ประเทศออสเตรเลียยืนยันการจำแนกชนิด”
นายวรรณเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ภูเก็ตสำรวจพบแมงกะพรุนชนิดกล่อง Chiropsoides buitendijki (Horst,1907) จากโป๊ะชาวประมง บริเวณอ่าวน้ำบ่อ ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต ระหว่างวันที่ 27-30 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา และพบอีกครั้งในระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคม 2551 ซึ่งขณะนี้ทางสถาบันได้จัดเก็บตัวอย่างแมงกะพรุนไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นแมงกะพรุนที่ยังมีชีวิตอยู่
สำหรับแมงกะพรุนกล่องชนิดดังกล่าวมีวงจรชีวิตเกี่ยวข้องกับพื้นที่นำกร่อย ป่าชายเลน แต่ยังไม่พบในบริเวณหาดท่องเที่ยวฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต
ด้วยแมงกะพรุนดังกล่าวมีพิษค่อนข้างรุนแรง เพราะพิษจะมีผลต่อเนื้อเยื่อ ระบบเลือด และระบบหายใจ ซึ่งอาจทำให้ช็อคได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทางสถาบันฯ จึงเห็นควรว่าจะต้องแจ้งเตือนให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแมงกะพรุนดังกล่าว เพื่อป้องกันมิให้ได้รับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยได้รายงานให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับทราบ และมีหนังสือแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังหน่วยงานต่างๆ จำนวน 20 กว่าหน่วยงาน เช่น ททท. โรงพยาบาล โรงแรม เป็นต้น
“แมงกะพรุนชนิดนี้มีขนาดตัวไม่ใหญ่มากนัก ประมาณ 3-4 เซนติเมตร ตัวมีลัษณะใส เมื่อโดนตัวจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน ทั้งนี้ จะพบแมงกะพรุนชนิดนี้ค่อนข้างมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว และช่วงที่มีฝนตกหนักน้ำทะเลขุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่อาหารค่อนข้างสมบูรณ์ แต่หลังจากถึงช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนก็จะย้ายไปหากินที่อื่น”
นายวรรณเกียรติ กล่าวด้วยว่า ฝากเตือนประชาชนที่ลงเล่นน้ำทะเลให้เพิ่มความระมัดระวัง เพราะแมงกะพรุนทุกชนิดมีพิษทั้งสิ้น แต่จะมีพิษมากน้อยแตกต่างกัน ฉะนั้น เมื่อลงเล่นน้ำก็จะต้องระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงอย่าไปสัมผัสกับแพงกะพรุนทุกชนิด ซึ่งหากโดนพิษ โดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่องให้รีบใช้น้ำส้มสายชู น้ำอุ่นหรือน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 40 องศาเซลเซสขึ้นไปล้างบริเวณที่โดนพิษ และห้ามใช้น้ำเย็นโดยเด็ดขาดจากนั้นก็รีบไปพบแพทย์