xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัย “แมงกะพรุนกล่อง” โดนพิษ แสบร้อนถึงขั้นช็อกเสียชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แมงกะพรุนกล่อง
สสจ.กระบี่ เผย ไทยมีผู้ป่วยถูกพิษแมงกะพรุนกล่องมีอาการแสบร้อน จนถึงขั้นช็อกเสียชีวิต เตรียมหาแนวทางป้องกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว

จากกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนภัยแมงกะพรุนกล่อง ซึ่งมีพิษรุนแรงต่อมนุษย์ เนื่องจากช่วงหลายปีหลังที่ผ่านมา มีรายงานว่า มีผู้ได้รับพิษจากแมงกะพรุนประเภทนี้ จนถึงขั้นเสียชีวิตระหว่างลงเล่นน้ำทะเลในประเทศไทยหลายรายนั้น

วานนี้ (4 พ.ย.) นพ.บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ (สสจ.) กล่าวว่า แมงกะพรุนกล่อง ไม่ได้เป็นสัตว์ทะเลท้องถิ่นของไทย และไม่เคยพบในไทยมาก่อน จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บครั้งแรกเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นเด็กชาวสวีเดน อายุ 10 ปี และผู้หญิงอีก 1 คน เล่นน้ำอยู่ชายหาดเกาะลันตา จ.กระบี่ และถูกแมงกะพรุนกล่องที่ลำตัว มีอาการแสบร้อน และช็อกเสียชีวิตในที่สุด ส่วนผู้ใหญ่มีเพียงอาการแพ้พิษแมงกะพรุนกล่องเท่านั้น และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพิ่มแต่อย่างใด

“จากการสันนิษฐาน คาดว่า เป็นแมงกะพรุนสายพันธุ์จากออสเตรเลีย แต่ถูกกระแสน้ำพัดพามา ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนก็ได้ ซึ่งไม่ได้มีประเทศไทยเท่านั้นที่พบว่าแมงกะพรุนชนิดนี้ระบาดพลัดข้ามถิ่น แต่ประเทศอื่นแถบชายฝั่งทะเลอันดามันก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น” นพ.บัญชา กล่าว

นพ.บัญชา กล่าวต่อว่า สำหรับความรุนแรงของพิษแมงกะพรุนกล่องนั้น เบื้องต้นจะรู้สึกแสบ ร้อนบริเวณที่ถูกพิษ คันเป็นผื่นแดงและขยายวงกว้าวงมากขึ้น ความดันตก ทำให้ช็อกหมดสติ ที่สำคัญ พิษจะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจและเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น หากพบผู้บาดเจ็บจากพิษแมงกะพรุนไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม ให้รีบนำตัวขึ้นจากน้ำทันที และรีบส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยด่วน หรืออาจโทร.แจ้ง สายด่วนกู้ชีพ 1669 ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้จะมีศูนย์สั่งการอยู่ที่โรงพยาบาลกระบี่ ซึ่งมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้บาดเจ็บจากแมงกะพรุนกล่องโดยเฉพาะ

“สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับพิษแมงกะพรุงกล่อง ไม่จำเป็นต้องมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะจะยิ่งทำให้เสียเวลาผู้บาดเจ็บถึงมือหมอช้าขึ้น โดยเมื่อถึงมือแพทย์จะรักษาตามอาการ หากมีอาการช็อกจะให้ยากระตุ้นการทำงานของหัวใจ ส่วนบาดแผลตามร่างกายจะให้ยาแก้แพ้และยาแก้อักเสบ รายที่ไม่รุนแรงมาก รักษา 3-5 วันก็จะหายเป็นปกติ ส่วนรายที่รุนแรง มีแผลคล้อยรอยไหม้ ต้องรักษานาน 7-21 วัน” นพ.บัญชา กล่าว

นพ.บัญชา กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีป้องกันการถูกพิษจากแมงกะพรุน คือ ให้สังเกตจุดที่จะลงเล่นน้ำทะเลหากพบว่ามีแมงกะพรุนอยู่ ให้หลีกเลี่ยงและไม่ลงเล่นน้ำอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะถูกพิษจากเมืองแมงกะพรุนได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นแมงกะพรุนชนิดใดก็มีพิษเป็นอันตรายต่อร่างกายอยู่ดี
 
โดยขณะนี้ มีแนวคิดจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ต และกระบี่ เป็นต้น พิจารณาหาแนวทางป้องกันพิษจากแมงกะพรุนกล่อง เพื่อป้องกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว อาจจะใช้ตาข่ายล้อมจุดเล่นน้ำตามชายหาดต่างๆ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น