xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส” กระทบวงการยางไทยยอดสั่งซื้อ-ราคาวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธาริษา วัฒนเกส
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – วงการยางช็อก วิกฤตการเงินสหรัฐฯ ทำกำลังสั่งซื้อยางดิบและความต้องการด้านยานยนต์เมืองลุงแซม รวมทั้งจีนและญี่ปุ่นลดลง ประกอบกับปัญหาราคาน้ำมันโลกอ่อนตัวกระทบยอดการสั่งซื้อยางจากไทย ประธานสภาการยางฯ จี้รัฐเร่งแก้ไขราคายางร่วงด่วน โดยดูแลราคาปุ๋ยให้เหมาะสม และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันด้วยการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ใต้เพื่อลดต้นทุนขนส่ง และตั้งตลาดร่วมทุนคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย หาทางออกร่วมกัน ตลอดจนสนับสนุนให้มีการเพิ่มมูลค่าของยางพาราในประเทศ เพื่อชดเชยการส่งออกยางแผ่นดิบและน้ำยาง ด้านบจม.ไทยฮั้วยางพาราเบรกแผนขยายขยายโรงงานผลิตยางแท่งมูลค่า 1,000 ล้าน กำลังผลิต 60,000 ตัน/ปี

วงการยางถึงคราวสะเทือน หลังพบว่าราคายางพารามีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับเวลาเดียวกันแฮมเบอร์เกอร์ไครซิสของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ปะทุขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินทั้งในอเมริกา ยุโรป ได้รับความปั่นป่วน และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่มายังทวีปเอเชียอีกด้วย โดยราคาประมูลซื้อขายยางพาราแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ จ.สงขลา ณ วันที่ 23 กันยายน ประมาณ 91.80 บาท/กิโลกรัม(กก.) แต่จนถึงวันที่ 13 ตุลาคม ลดลงเหลือ 54.63 บาท/กก. หรือลดลงเกือบ 40 บาท หลังจากราคายางพุ่งสูงสุดถึงกิโลกรัมละ 100 บาทในช่วงปี 2549

จี้รัฐเร่งแก้ยางราคาร่วงหนัก

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย กล่าวยอมรับว่าวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะส่งผลกระทบหลายประเทศทั่วโลก แรงสะเทือนดังกล่าวแม้เพิ่งเกิดขึ้นเพียงเวลาไม่นานแต่ทำให้ราคายางในประเทศไทยลดลงมา 40-50% โดยราคายางพาราที่ถูกซื้อจากมือเกษตรกรตกต่ำเหลือแค่กิโลกรัมละ 40-45 บาทแล้ว

นายอุทัย กล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับราคายางพาราในขณะนี้มีปัจจัย ได้แก่ 1.ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ประสบปัญหาด้านวิกฤตการเงินทำให้เกิดปัญหาลูกโซ่มาสู่ยุโรปจึงทำให้เกิดการชะลอการสั่งทำล้อยาง จากที่ประเทศไทยเป็นอันดับ 1ของโลกที่ทำการส่งออกยางพาราจึงทำให้การส่งออกลดน้อยลง

2.ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมากในขณะนี้ จึงส่งผลให้การทำยางสังเคราะห์หรือยางเทียมมีการผลิตลดลงเหมือนกัน จึงทำให้การใช้ยางธรรมชาติน้อย ส่งผลให้ดึงราคายางธรรมชาติลดลงตามมาด้วย

3.ต้องยอมรับว่าปัญหาการเมืองของประเทศไทยก็ซ้ำเติมเศรษฐกิจทางอ้อม ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเสี่ยงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประเทศจีนได้เข้าร่วมประชุมกับประเทศไทยและแสดงท่าทีลังเลที่จะเข้ามาลงทุนในช่วงนี้ และต้องขอดูเหตุการณ์การเมืองของไทยก่อนว่าจะมีทิศทางใดบ้างในอนาคต

4.วิกฤตการใช้ยางพาราที่มีการใช้ในตลาดแค่ 50% ส่วนอีกครึ่งหนึ่งขายให้โรงงาน ซึ่งทำให้การใช้ยางพารานั้นผลิตน้อยลงกว่าเดิม

นายอุทัย ยังกล่าวถึงส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไขจากระดับล่างก่อนคือ อันดับแรก คือ ปัญหาราคาปุ๋ยที่มีราคาแพงส่งผลให้เกษตรกรประสบปัญหาทั้งด้านการขนส่ง ราคาน้ำมัน ควรให้รัฐบาลเข้ามาดูแลตั้งราคาปุ๋ยให้เหมาะสมกว่านี้ 2.ควรให้ตลาดร่วมทุนคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ควรออกมาปรึกษาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน 3.รัฐบาลควรหันมาให้ความสำคัญแก้ไขเรื่องปัญหายางพาราอย่างชัดเจน โดยการเรียกผู้ประกอบการ เกษตรกร และภาครัฐ มาประชุมการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ว่ามีทิศทางแนวโน้มว่าเป็นอย่างไร และหันมาให้ความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร

ธปท.แนะเพิ่มมูลค่ายางในปท.
ชดเชยการส่งออก ลดความเสี่ยง


นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาต่อผลกระทบการส่งออกยางพารานั้น ในขณะนี้ยังคาดการณ์ไม่ได้ และความรุนแรงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับมาตรการแก้ไขภายในแต่ละประเทศด้วยว่าจะมีมากน้อยเพียงใด เพื่อยับยั้งผลกระทบไม่ให้กระจายสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ไชยยศ สินเจริญกุล
“สำหรับราคายางพาราที่ลดลง ธปท.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยางเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของภาคใต้เติบโต โดยจับตาดูว่าปีหน้าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกมากขึ้นหรือน้อยลง แต่ก็คาดว่าราคาขึ้น-ลงไม่น่าจะสูงเหมือนที่เคยเป็นหรือลดลงต่ำมาก คล้ายกับราคาน้ำมันที่ขึ้นๆลงๆ แต่มีระดับที่ทรงตัว เพราะทั้งราคาน้ำมันและราคายางจะมีการปรับตัวขึ้นลงที่สอดคล้องกัน” นางธาริษา กล่าวต่อและว่า

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีปริมาณยางพาราป้อนสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงที่ราคายางแตะ 100 บาท/กก. เป็นประวัติศาสตร์ในปี 2549 ทั้งจีนและไทยได้ลงทุนเช่าพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อปลูกยาง ซึ่งคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวน่าจะมีผลต่อราคายางในอนาคต ประเทศไทยจึงต้องมีมาตรการรองรับความเสี่ยงนี้ โดยแนะนำให้มีการเพิ่มมูลค่าของยางพาราในประเทศ เพื่อชดเชยการส่งออกยางแผ่นดิบและน้ำยางซึ่งเป็นผลผลิตขั้นปฐมภูมิ

ด้าน นายสมจิตต์ ศิขรินมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดยางพาราหาดใหญ่ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคายางในประเทศไทยลดลงนั้นเป็นผลกระทบลูกโซ่มาจากวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศโดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลงมากอีกด้วย เป็นสาเหตุให้ยอดสั่งซื้อยางจากไทยลดลง ประกอบกับอยู่ในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกอ่อนตัวด้วย

“นอกจากนี้ ผลกระทบจากสหรัฐอเมริกายังทำให้ประเทศจีนและญี่ปุ่นสั่งซื้อยางพาราจากไทยลดลงอีกด้วย เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศซึ่งเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากยางพาราไม่สามารถส่งสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาได้ และเมื่อจีนยังไม่สามารถสั่งซื้อยางพาราจากประเทศไทยตามข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เกิดการบิดพลิ้วข้อตกลง ทำให้ประเทศไทยมียางอยู่ในสต๊อกมากขึ้น ราคาภายในประเทศตกต่ำลงในที่สุด โดยขณะนี้บริษัทเอกชนที่มาประมูลยางจากตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ซึ่งมี 7-8 ราย ก็ยังไม่แน่ใจเรื่องสถานการณ์ยางพารา เนื่องมาจากราคายางที่ยังคงผันผวนอยู่ตลอดเวลา และกลัวว่าหากมาประมูลแล้วจะทำให้ขาดทุน” นายสมจิตต์ กล่าวต่อและว่า

อย่างไรก็ตาม ราคายางตกต่ำนั้นอยู่ในช่วงเริ่มต้น สถานการณ์น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยองค์กรภาครัฐ การเงิน ของสหรัฐฯและยุโรปได้พยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว และให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้เศรษฐกิจเสียหายน้อยที่สุด

ศรีตรังแอโกรฯ จี้พัฒนาการขนส่ง

ด้าน นายไชยยศ สินเจริญกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สงขลา และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ด้วยสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศหลักที่สั่งซื้อยางจากไทย เมื่อตลาดส่วนนี้หายไปส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้ราคายางในตลาดปรับตัวลดลงด้วย แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขที่หดตัวลงได้เพราะสถานการณ์เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

“ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีพื้นที่ปลูกหลัก 80% ในภาคใต้ ปัญหาราคายางที่เกิดขึ้นทำให้ต้องมาทบทวนศักยภาพของเราเองเพื่อการปรับตัวอยู่รอดด้วย ซึ่งพบว่าในภาคใต้มีเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเป็นอุปสรรคสำคัญ จึงควรจะเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันด้านการขนส่งในทุกๆ ทาง ทั้งทางบก-ระบบรถไฟรางคู่ ทางเรือซึ่งต้องมีความชัดเจนแล้วว่า จะมีการสร้างท่าเรือเชื่อมอ่าวไทยและอันดามันตรงไหน ตลอดจนการขนส่งทางอากาศ ที่ต้องมีสายการบินนานาชาติมารองรับศักยภาพของสนามบินนานาชาติหาดใหญ่” นายไชยยศกล่าวต่อและว่า

ทั้งนี้ ผู้ผลิตและส่งออกยางพาราต้องสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลง ของความต้องการยางในอุตสาหกรรมยานยนต์ การเตรียมตัวรับสถานการณ์ในวันข้างหน้า แม้ว่าความต้องการใช้ยางจะยังมีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องไม่ประมาท

ไทยฮั้วฯ เบรกลงทุนโรงยางแท่ง

ส่วน นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บจม.ไทยฮั้วยางพารา เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังไม่กระทบถึงผู้ประกอบการภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าคนกลางหรือชาวสวนยาง โดยโรงงานยังมีการรับซื้อยางตามปกติ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการขยายการลงทุนของบริษัท เดิมมีแผนจะขยายโรงงานผลิตยางแท่งอีก 1 แห่ง กำลังผลิต 60,000 ตันต่อปี ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งเงินลงทุนสร้างโรงงานและเงินหมุนเวียนธุรกิจ แต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ครั้งนี้ได้ตัดสินใจชะลอแผนลงทุนดังกล่าวไว้ก่อน

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บจม.ไทยฮั้วฯมีกำลังผลิตยางแท่งประมาณ 180,000 ตันต่อปี จาก 3 โรงงานได้แก่ โรงงาน จ.สงขลา 60,000-70,000 ตัน, โรงงาน จ.ระยอง 50,000-60,000 ตัน และโรงงาน จ.หนองคาย 50,000 ตัน มียางแผ่นรมควัน 180,000 ตัน/ปี จาก 5 โรงงานได้แก่ โรงงานที่ จ.สงขลา 50,000 ตัน, โรงงาน จ.กระบี่ 45,000 ตัน, โรงงาน จ.ตรัง 20,000 ตัน, จ.อุดรธานี 25,000-30,000 ตัน, จ.ระยอง 20,000-30,000 ตัน

น้ำยางข้น 100,000 ตัน/ปี จาก 3 โรงงานได้แก่ จ.สงขลา 40,000-45,000 ตัน, จ.กระบี่ 30,000 ตัน, จ.สกลนคร 25,000 ตัน นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตยางคอมปาวด์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับบริษัท SEAGIFT ผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่จากประเทศจีน ที่ จ.ระยอง กำลังผลิต 25,000 ตัน/ปี

ด้าน ดร.นิทัศน์ ภัทรโยธิน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยที่จะมีผลต่อราคายางพารานั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ 1.สภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่กำลังประสบภาวะวิกฤตทางการเงิน 2.สภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีนที่กำลังเติบโต 3.ราคาน้ำมัน และค่าเงินเยน 4.ผลผลิตยางของโลก และปริมาณการส่งออกสต๊อกยางในประเทศจีน 5.อัตราแลกเปลี่ยน 6.สภาพอากาศและฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ International Rubber Study Group (IRSG) ได้ประมาณการผลผลิตยางของโลกในปี 2553 ว่าเพิ่มจากปี 2551 จาก 10,108 พันตัน เป็น 11,154 พันตัน เช่นเดียวกับการคาดการณ์ผลผลิตยางสังเคราะห์ของโลกที่เพิ่มขึ้นด้วย จาก 13,661 เป็น 15,157 พันตัน ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่เพียงพอต่อการคาดการณ์ความต้องการใช้ยางของโลกปีนี้จำนวน 25,487 พันตัน
กำลังโหลดความคิดเห็น