ยะลา - กลุ่มแม่บ้านทำผ้าคลุมศีรษะสตรีในพื้นที่จังหวัดยะลา เร่งผลิตผ้าคลุมศีรษะเพื่อต้อนรับวันรายอ ที่ใกล้จะมาถึง สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว
วันนี้ (23 ก.ย.) ที่ศูนย์ส่งเสริมฝึกอาชีพปักเลื่อม บ้านบันนังสาเร็ง หมู่ที่ 5 ต.บันนังสาเร็ง อ.เมือง จ.ยะลา กลุ่มสตรีมุสลิมได้รวมตัวกันประมาณ 30 คน มาทำผ้าคลุมผมหลายๆ รูปแบบ มีการปักเลื่อมบนผ้าคลุมผมอย่างสวยงาม ตามยุคตามสมัย
กลุ่มทำผ้าคลุมผมได้รับเงินสนับสนุนมาจากโครงการพนม และโครงการอยู่ดีมีสุข เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มสตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้มีรายได้ในการเลี้ยงครอบครัว ซึ่งผ้าคลุมผมเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง ที่ขายดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ราคาของผ้าคลุมผมนั้นอยู่ที่เนื้อผ้า ตามความยากง่ายของลวดลายและอุปกรณ์ตกแต่งบนผ้าคลุม ให้มีความสวยงาม ตามยุคสมัย เช่น การประดับเพชร เม็ดสีต่างๆ ผ้าคลุมผม มีราคาตั้งแต่ 300-1,200 บาท ในช่วงเดือนรอมฎอนที่ใกล้วันรายอ มีชาวบ้านในพื้นที่และนอกพื้นที่สั่งทำผ้าคลุมผมมากกว่าในช่วงปกติถึงเท่าตัว จากเดือนละ 50 ผืน เป็น เดือนละ 80-100 ผืน เพื่อสวมใส่ในวันรายอ
นางสาวมารียัม สาและ สมาชิกศูนย์ส่งเสริมฝึกอาชีพปักเลื่อม กล่าวว่า ผ้าคลุมผม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในชุดการแต่งกายของชาวมุสลิม ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่เป็นเครื่องอาภรณ์ประดับร่างกายเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติ ตามหลักศาสนาที่จำเป็นต้องมี จำเป็นต้องใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน
ในช่วงเดือนธรรมดา ทางกลุ่มของเราสามารถทำผ้าคลุมผม ประมาณ 40-50 ผืน พออยู่ในช่วงเดือนรอมฎอน และใกล้กับวันรายอ มีลูกค้ามาสั่งทำผ้าคลุมผมมากกว่าปกติ จนทางกลุ่มต้องงดรับทำ จะทำเฉพาะลูกค้าที่สั่งก่อนเดือนรอมฎอน เพราะทำไม่ทันกับความความต้องการของลูกค้า ส่วนมากลูกค้าจะมาสั่งผ้าคลุมที่มีลวดลายแปลกใหม่ มีเครื่องประดับมาก ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำ คาดว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนทั้งเดือนสร้างรายได้ให้กับสมาชิกเป็นจำนวนมากพอสมควร
นางนาปีเซาะห์ หะวอ หัวหน้ากลุ่มสตรีปักจัก กล่าวว่า ในช่วงเดือนรอมฎอน ในปีนี้มีลูกค้ามาสั่งทำผ้าคลุมผมแบบต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปสวมใส่ในวันรายอที่ใกล้จะมาถึง ซึ่งสมาชิกของตนมีประมาณ 20 คน ต้องงดรับงาน ในช่วงหลังๆ ของเดือนรอมฎอน เพราะทำไม่ทัน กับความต้องการ เพราะรับงานมามากแล้วก่อนเดือนรอมฎอน จากปกติสามารถทำผ้าคลุมเดือนละ 50 ผืน ต้องทำเพิ่มเป็น 100-120 ผืน เฉพาะเดือนรอมฏอนเพียงเดือนเดียว มีลูกค้าจากในและนอกพื้นที่มาสั่งทำ
นางนาปีเซาะห์ หะวอ ยังกล่าวอีกว่า การทำผ้าคลุมผม ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับสตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีเงินมาเลี้ยงครอบครัว นอกเหนือจากการทำงานอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี