ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ผู้เชี่ยวชาญไบโอดีเซลจากรั้ว มอ.ชี้ ไทยนำน้ำมันปาล์มผลิตไบโอดีเซลใช้แทนดีเซลยังไม่ถึง 10% ของที่ปลูกทั้งประเทศ จี้รัฐกำหนดแผนพลังงานทดแทนระยะยาว-ปรับกฎระเบียบ และคุณภาพไบโอดีเซลให้สอดคล้องกับสังคมไทย และเปิดทางให้เอกชนรายย่อยทั่วประเทศเข้ามีส่วนร่วมผลิตไบโอดีเซลจำหน่ายในตลาด โดยไม่ต้องส่งเข้าส่วนกลางเพื่อผสมดีเซล เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสใช้ไบโอดีเซลได้ทั่วถึง ชูบทเรียน “รบ.ทักษิณ” หลับตาหนุนเกษตรปลูกสบู่ดำ กำหนดราคาต้นทุนต่ำเกินจริงแต่ความจริงแล้วเกิดยาก ห่วง “รัฐนอมินี” ลนลานตามกระแสหนุนเกษตรกรปลูกสบู่ดำผลักสู่ปากเหวอีกหน
ดูเหมือนปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ดูแลโดยกระทรวงพลังงานจะไม่ตอบสนองความเดือดร้อนของประชาชน ท่ามกลางความเคลือบแคลงของสังคมว่า ราคาเชื้อเพลิงในประเทศไทยสูงเกินกว่าความเป็นจริง เพราะนอกจากปล่อยให้มีการปรับราคาเป็นว่าเล่นแล้ว การสนับสนุนให้ใช้พลังงานทางเลือกทั้งเอ็นจีวี และไบโอดีเซล ให้ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ในสัดส่วนที่ตั้งเป้าไว้ ก็ยังไกลเกินจริง
ผศ.ดร.ชาคริต ทองอุไร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา พลังงานทดแทนจากน้ำมันปาล์มและพืชพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า วิกฤตพลังงานที่ประเทศกำลังเผชิญ เพราะมีการปรับตัวตามไม่ทัน แนวทางการลดการพึ่งพิงพลังงานเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเดินไปได้ช้า ไม่ทันสถานการณ์ เพราะรัฐบาลไทยไม่เคยมีแผนระยะยาว ทุกอย่างล้วนเป็นแผนเฉพาะหน้า ที่ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีที่คุมกระทรวงพลังงานในแต่ละช่วง และเป็นกระแสที่รัฐเข้าไปร่วมอย่างฉาบฉวยทั้งสิ้น
แม้ว่าไบโอดีเซลจะเป็นทางเลือกในยามเกิดวิกฤตพลังงาน แต่พบว่าศักยภาพของไทยในการผลิตไบโอดีเซลมีน้อยมาก ด้วยข้อจำกัดของวัตถุดิบ การปลูกปาล์มทั่วประเทศ 3 ล้านไร่ หากให้ผลผลิตทั้งหมด 100% ในปีหนึ่งสามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้ 1.5 ล้านตันเท่านั้น และหากนำน้ำมันปาล์มทั้งหมดไปผลิตไบโอดีเซลโดยไม่บริโภคก็จะได้ไบโอดีเซลเพียงวันละ 4 ล้านลิตร ขณะที่ประเทศไทยใช้ดีเซลวันละ 55 ล้านลิตร เทียบเป็นสัดส่วนการทดแทนยังไม่ถึง 10% เสียด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ การผลักดันให้ใช้ไบโอดีเซลจากภาครัฐ ที่เกิดและเติบโตไม่ทันตามความต้องการและวิกฤต ทั้งที่มีการวิจัยเรื่องนี้ทั่วประเทศ เพราะการปฏิบัติที่ได้ประสิทธิผลจะไม่เกิดขึ้น หากไม่มีการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และการแก้ปัญหาโดยนำความรู้ทางวิชาการของกระทรวงพลังงาน ยังไม่ได้ข้อมูลแท้จริงของงานวิจัย แต่ปรากฏว่า ที่ผ่านมาได้นำโมเดลของต่างประเทศมาใช้กับประเทศไทย โดยไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของประเทศ ความก้าวหน้าของพลังงานทดแทน จึงไปตามกระแส แต่ขาดความต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ พล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการสนับสนุนให้ใช้ B5 โดยใช้วัตถุดิบที่ไม่แย่งกับอาหาร ซึ่งในส่วนของไบโอดีเซลจะผลิตจากไขปาล์ม ที่เหลือจากการกลั่นน้ำมันพืชเพื่อบริโภค และน้ำมันปาล์มที่เหลือจากการส่งออก
ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.ชาคริต แสดงความเห็นว่า ถ้าจะให้ประเทศไทยสามารถผลิตไบโอดีเซลเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้จริง ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้พืชอาหาร โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันเป็นหลัก เนื่องจากมีศักยภาพสามารถผลิตน้ำมันได้มาก และเอื้อต่อการผลิตเชิงพาณิชย์ ต้นทุนการเก็บเกี่ยวต่ำปาล์มทะลายเพียงกิโลกรัมละ 25 สตางค์เท่านั้น หากใช้เพียงไขปาล์มที่เหลือจากการผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค เพื่อไม่ให้แย่งกับการบริโภคนั้น โอกาสของไบโอดีเซลก็จะริบหรี่ลง เพราะน้ำมันปาล์มให้ไขปาล์มเพียง 30% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยความหวังที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีการผลิตพลังงานทดแทนได้ โดยไม่แย่งการผลิตเป็นอาหารนี่เอง ทำให้ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อัดงบประมาณ 120 ล้านบาท นำร่อง 10 จังหวัด เพื่อกำหนดโซนนิ่งแหล่งปลูกพืชอาหาร-พืชพลังงาน กว่า 65,000 ไร่ ซึ่ง ผศ.ดร.ชาคริต แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะต้องมีการควบคุมเกิดขึ้น และไม่สามารถทำให้มีผลผลิตได้ตามเป้าหมายจริง อย่างไรเสียเกษตรกรก็จะปลูกพืชตามความพอใจมากกว่า
อีกทั้งการส่งเสริมปลูกพืชชนิดใดมากในช่วงหนึ่ง จะทำให้ผลผลิตของพืชชนิดเดิมลดลง และเกิดการขาดแคลน เหมือนกรณีที่ส่งเสริมการปลูกยางฯด้วยมีราคาแพง ทำให้ชาวนาเปลี่ยนท้องนาเป็นสวนยางฯ แต่ระยะต่อมากลับมีปัญหาพื้นที่นาข้าว และผลผลิตน้อยจนขาดแคลนและขึ้นราคา
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ปัญหาที่สกัดการเติบโตของพลังงานทางเลือก คือ รัฐไม่ได้มองอะไรที่สมบูรณ์แบบ แต่จะเอาโมเดลมาจากต่างประเทศโดยไม่คำนึงว่าเข้ากับประเทศไทยได้แค่ไหน อย่างไรก็ตาม การใช้พืชอาหารและพลังงานร่วมกันก็ยังมีข้อดี ที่จะทำให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาดี และมีทางเลือกหากราคาผันผวนเกิดขึ้นในอนาคต ดีกว่าการส่งเสริมปลูกพืชเพื่อผลิตเป็นพลังงานไบโอดีเซลอย่างเดียว ซึ่งยังมีความเสี่ยงสูง
ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน สมัยรัฐบาลทักษิณได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกสบู่ดำ มีการคิดต้นทุนที่ต่ำกว่าความจริง และกำหนดราคารับซื้อเมล็ดสบู่ดำไว้เสร็จสรรพ ที่ราคากิโลกรัมละ 4 บาท แต่ความจริงแล้วการเก็บเกี่ยวไม่ง่ายเหมือนเมล็ดเรปซีดในต่างประเทศที่ใช้เครื่องจักร เพราะสบู่ดำเป็นไม้ยืนต้น ต้องใช้แรงงานคน เวลา กว่าจะได้ 1 กิโลกรัมใช้ต้นทุนเฉลี่ย 11 บาท แล้วเกษตรกรจะขายในราคาที่เคยตั้งไว้ได้อย่างไร แต่เมื่อพบปัญหาก็ไม่มีใครเข้าไปช่วยเหลือ เกษตรกรที่ปลูกสบู่ดำต้องถมทิ้ง เพราะไม่มีคนซื้อแล้วหันไปทำอย่างอื่นแทน
“ในเรื่องสบู่ดำยังต้องใช้เวลาอีกไกล จึงจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อผลิตไบโอดีเซลได้ ที่ผ่านมาเวทีวิชาการมีการพูดคุยกับเรื่องนี้มาก เสนอแนวคิดแต่ก็หลงทางกันไปเสียไกล คิดกันจนถึงขนาดว่าพัฒนาสายพันธุ์ให้ต้นเตี้ย ผลดก โดยใช้แมลงเป็นพาหะในการผสมเกสรระหว่างต้น หรือแม้กระทั่งการทำจีเอ็มโอ แต่สุดท้ายเราก็ไม่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้จริงๆ งบพัฒนาก็สูง กลายเป็นความฝันมากกว่า แต่คนที่จะพัฒนาได้เร็วก็คือภาคเอกชน” ผศ.ดร.ชาคริต กล่าวและว่า
สำหรับโอกาสเติบโตของพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นไบโอดีเซลหรืออย่างอื่น รัฐบาลต้องไม่เข้ามาจัดระเบียบมากจนเกินไป เพราะข้อจำกัดที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มทุนใหญ่ส่งผลต่อนโยบายของรัฐทั้งสิ้น โดยเฉพาะเสียงของกลุ่มทุน อย่างสมาคมยานยนต์แห่งประเทศไทย ซึ่งฟังเสียงบริษัทแม่ในต่างประเทศอีกที และมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสูง ทำให้รัฐบาลไม่มีความเป็นตัวของตัวเองเลย
ขณะที่บริษัทรถยนต์ก็ต้องกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพไบโอดีเซลไว้สูง แม้เครื่องยนต์ดีเซลถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานหนัก มีความทนทานอยู่แล้ว ซึ่งใช้จ่ายในการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานที่สูงแบบสากล ผู้บริโภคต้องแบกรับเอง โดยที่ไม่สอดคล้องต่อความต้องการของประเทศที่ต้องการใช้ไบโอดีเซลเพื่อพึ่งพิงตัวเอง แต่หากรัฐมีความยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับประเทศที่ต้องการพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริงก็จะพบทางรอด
ผศ.ดร.ชาคริต กล่าวต่อว่า แม้ว่าในการผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ จะยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนกลุ่มใด ด้วยวิธีใดก็ตาม แต่ในปัจจุบันพบว่า ภาคเอกชนตื่นตัวหันมาผลิตไบโอดีเซลใช้เองกับรถยนต์และเครื่องจักรในองค์กรแล้ว หากรัฐมีสัญญาณชัดเจนถึงนโยบาย และการสนับสนุนแล้ว กลุ่มผู้ลงทุนขนาดกลางก็พร้อมที่จะหันมาทำเชิงพาณิชย์แน่นอน ซึ่งจะทำให้การใช้ไบโอดีเซลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และแพร่หลาย และเติบโตจะเร็วกว่าเอ็นจีวีเสียด้วยซ้ำ
“ถ้ารัฐบาลปรับปรุงกฎระเบียบใหม่ โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพที่เคยกล่าว ว่า มีมากเกินไป ทิศทางการเติบโตของไบโอดีเซลที่จะเข้าถึงผู้บริโภคได้เร็วมีจุดแข็งอยู่ที่การตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลขนาดเล็กกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อลดการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องตลก ที่ไบโอดีเซลซึ่งผลิตได้ต้องส่งเข้ากรุงเทพฯ ทั้งหมดเพื่อผสมกับดีเซลแล้วกระจายออกจำหน่ายสู่ปั๊มในภูมิภาคทั่วประเทศ ทำไมไม่ลดขั้นตอนให้ควบคุมตรวจสอบคุณภาพในศูนย์กลางแต่ละภูมิภาคแทน ต้นทุนก็จะถูกลงอีก การเข้าถึงในราคาที่ต่ำจะทำให้มีความตื่นตัวเข้ามาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่เกษตรกรที่ขายปาล์มได้ราคาดี จนถึงโรงงานผู้ผลิต และกลุ่มผู้จำหน่าย” ผศ.ดร.ชาคริต กล่าว