xs
xsm
sm
md
lg

รบ.นอมินีแม้วเมินพลังงาน หวั่นอุตฯไบโอดีเซลวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ –ผู้เชี่ยวชาญไบโอดีเซลจากรั้ว มอ.หาดใหญ่ระบุอีก 5 ปีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลจะทะยานจาก 50 ล้านลิตร/วัน พุ่งขึ้นไปเป็น 85 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ปริมาณผลผลิตปาล์มกลับขยายตัวไม่ทัน เหตุเพราะรัฐบาลนอมินีชุดนี้เมินให้ความสนใจ และไม่มีแผนงานที่ชัดเจนรองรับ เผย 2 ยักษ์ใหญ่ “บางจาก-ปตท.” มีกำลังผลิตไบโอดีเซลรวมกันแล้วเฉียด 1 ล้านลิตร/วัน แถมมีแผนจะเพิ่มสายพานการผลิตขึ้นอีก ส่วนรายเล็กรายน้อยที่กำลังเร่งเดินเครื่องกันเต็มที่ ภาวะเหล่านี้อาจจะป่วนอุตสาหกรรมพลังงานจนเกิดวิกฤตทั้งระบบได้ในอีกไม่นานนี้


2 ยักษ์ใหญ่ลุยผลิต “ไบโอดีเซล” เต็มสูบ

แม้แผนส่งเสริมไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนในประเทศไทยไร้การสานต่อจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทว่าอุตสาหกรรมการผลิตไบโอดีเซลเพื่อจำหน่ายเตรียมการรองรับในเชิงพาณิชย์แล้ว เป็นช่วงเวลาทองของปาล์มน้ำมันที่เฟื่องสุดขีด ถูกแย่งซื้อทั้งเพื่อแปรรูปบริโภคและเป็นวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซล

รศ.ดร.ชาคริต ทองอุไร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนจากน้ำมันปาล์มและพืชน้ำมัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า การส่งเสริมผลิตไบโอดีเซลอย่างเป็นระบบครบวงจรเพื่อทดแทนดีเซลจะเสริมความแข็งแกร่งทางพลังงานและพึ่งพาตนเองได้ดี โดยความต้องการดีเซลทั้งประเทศประมาณวันละ 50 ล้านลิตร

ทำให้กลุ่มเกษตรที่มีวัตถุดิบมีความตื่นตัวตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลสูง ขณะที่นักธุรกิจก็สบช่องที่จะลงทุนรับความเฟื่องฟูของธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่มีทั้งทุนและช่องทางการจำหน่ายทั่วประเทศหันมาผลิตไบโอดีเซลจำหน่าย เช่น ปตท.ซึ่งมีโรงงานผลิตไบโอดีเซลกำลังผลิต 600,000 ลิตร/วัน ส่วนบางจากก็หันมาจับธุรกิจนี้ตามมาติดๆ โดยปลายเดือนมีนาคมนี้ ก็จะมีการลงนามสัญญาก่อสร้างไบโอดีเซลอีก 300,000 ลิตร/วัน ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

ขณะเดียวกันยังมีผู้ผลิตรายอื่นที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 200,000 ลิตร/วันลงมาอีกหลายแห่ง ซึ่งจะทำให้การผลิตไบโอดีเซล B2 ซึ่งผสมไบโอดีเซล 2% ในดีเซลที่ต้องการประมาณ 1,000,000 ลิตร/วัน เพียงพอต่อความต้องการใช้ของทั้งประเทศอย่างแน่นอน

พื้นที่ปาล์มไม่เพิ่ม “วิกฤตพลังงาน”เกิดแน่

อย่างไรก็ตาม นโยบายการส่งเสริมไบโอดีเซล ยังไม่ได้รับการสานต่อให้ชัดเจนในรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มสู่ภาคอื่นๆ ของประเทศไทย เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจด้านพลังงานทดแทน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานไบโอดีเซลวิตกว่า แม้ประเทศไทยจะมีทางออกด้านวิกฤตน้ำมัน แต่หนทางที่จะไปสู่เป้าหมายก็ค่อนข้างตีบตัน และกระทบในวงกว้าง หากเราไม่สามารถป้อนวัตถุดิบสู่กระบวนการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

รศ.ดร.ชาคริต กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือความชัดเจนของนโยบายของรัฐว่า จะสนับสนุนตามแผนเดิมหรือไม่ คือใช้ B5 ในปี 2554 และใช้B10 ในปี 2555 เพราะสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือในอนาคต 5 ปีข้างหน้าประมาณการว่าความต้องการดีเซลจะพุ่งเป็น 85 ล้านลิตร/วันอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นหมายถึงความต้องการไบโอดีเซลที่จะเพิ่มสูงไปด้วย ทำให้สัดส่วนความต้องการไบโอดีเซลแปรผันตามเปอร์เซ็นต์ที่ใช้ผสมในดีเซลนั่นเอง

“แค่การผลิต B2 ก็ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบแล้ว เพราะการส่งเสริมปลูกปาล์มในประเทศไทยยังไม่เพียงพอรองรับความต้องการในอนาคตที่ตั้งเป้าไว้ ทำให้ตลาดราคาปาล์มถูกแย่งชิง ระหว่างใช้เพื่อบริโภคและพลังงาน ซึ่งทางออกที่ทำได้ง่ายแต่ไม่อยากให้เลือก คือ การนำเข้าน้ำมันปาล์มจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพราะทำให้เงินรั่วไหลออกนอกประเทศไม่ต่างกับการนำเข้าน้ำมันดิบ” รศ.ดร.ชาคริต กล่าวและว่า

อีกปัญหาหนึ่งที่ถูกละเลยคือ ในพื้นที่ที่ส่งเสริมปลูกปาล์มอย่างไร้ระบบและทิศทาง ก็ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ดังเช่นที่เกิดกับ จ.หนองคายที่พื้นที่น้อยเกินจนไม่สามารถตั้งโรงหีบสกัดน้ำมันปาล์มได้ ทำให้ต้องขนส่งไปจำหน่ายที่อื่น ซึ่งควรจะมีพื้นที่ 200,000 ไร่ขึ้นเพื่อตั้งโรงหีบสกัดปาล์มขนาดเล็กได้ครบวงจร

รายย่อยตื่นตัวศึกษา “ไบโอดีเซล” ช่วยชาติ

ขณะที่ความชัดเจนในการสนับสนุนปลูกปาล์มเป็นวัตถุดิบไบโอดีเซลของรัฐ จะถูกปล่อยตามยถากรรมนั้น ในภาคประชาชนต่างจังหวัดล้วนตระหนักถึงแนวทางผลิตไบโอดีเซลอย่างยิ่ง ทั้งเพื่อผลิตขึ้นใช้เองในชุมชน และเชิงอุตสาหกรรมการค้า โดยยึดโรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซลของ มอ.เป็นแหล่งเรียนรู้

รศ.ดร.ชาคริต กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสของผู้ผลิตขนาดกลาง-เล็กที่จะพัฒนาคุณภาพไบโอดีเซลให้เติบโตพร้อมกับความต้องการใช้พลังงานของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรงหีบสกัดปาล์มน้ำมันซึ่งมีศักยภาพที่จะลงทุนผลิตไบโอดีเซลได้ ขณะที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งกรมธุรกิจพลังงานรับรองไบโอดีเซลใช้ได้กับเครื่องยนต์การเกษตรแล้ว ก็มีความต้องการที่จะต่อยอดพัฒนาคุณภาพสู่การใช้กับรถยนต์อีกด้วย ยังรอเพียงการส่งเสริมและแนะนำเท่านั้น

ล่าสุด อบจ.ระนอง ได้ติดต่อกับ มอ.ให้ออกแบบโรงงานผลิตไบโอดีเซลขนาดเล็กมูลค่า 5,000,000 บาท ให้แก่วิสาหกิจชุมชนซึ่งรวมตัวทำลานเทปาล์มและจะนำปาล์มร่วงที่เป็นวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซล 400 ลิตร/วัน โดยกลีเซอรัลที่ได้จากกระบวนการผลิตไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งอยู่ระหว่างการรอเซ็นสัญญา หากมีการก่อสร้างก็จะเสร็จภายในปลายปีนี้ และยังมีโครงการร่วมมือกับสถานีตำรวจภูธรรัตภูมิ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ปรับปรุงคุณภาพการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว หลังจากที่ซื้อเครื่องผลิตจากบริษัทเอกชน และมีโครงการผลิตจากไขมันหมูที่อยู่ระหว่างการขอทุนวิจัยจาก สสส.เพื่อสนับสนุนการวิจัยในเวลาเดียวกัน

ชี้อนาคตยุคปาล์มเป็นเหมือนทองคำ

ทั้งนี้ รศ.ดร.ชาคริต กล่าวด้วยว่า โดยมุมมองส่วนตัวที่อาจแตกต่างจากคนอื่นแล้ว เห็นควรที่ให้รัฐส่งเสริมปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซล ซึ่งสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรมากกว่าพืชชนิดอื่น เพราะเป็นพืชที่มีทางเลือก ระหว่างการปันส่วนสำหรับบริโภค และพลังงาน แม้ว่าปัจจุบันจะมีราคาแพง เพราะมีความต้องการสูง โดยถูกแชร์ไปในภาคพลังงานทดแทนด้วย

แต่หากมีการผลิตอย่างเพียงพอ ความต้องการใช้ทั้งบริโภคและพลังงานจะทำให้กลไกการตลาดและเกษตรกรสวนปาล์มอยู่ได้อย่างยั่งยืน ดีกว่าส่งเสริมปลูกพืชน้ำมันชนิดอื่นที่ไม่สามารถบริโภคได้ เพราะมีโอกาสเติบโตได้ยาก ราคาอาจจะผันผวนหากกำลังผลิตไบโอดีเซลในประเทศลดลง และเกษตรกรไม่มีทางออกอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ได้มีการมองหาพืชชนิดอื่นมาเป็นพลังงานทดแทนนอกจากปาล์ม ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่นักวิจัยกำลังศึกษาอยู่เพื่อเป็นทางเลือกของการผลิตไบโอดีเซล ล่าสุดมูลนิธิชัยพัฒนานำเข้าชาน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชที่ชอบอากาศหนาวจากประเทศจีนมาทดลองปลูกที่ภาคเหนือประมาณ 1 ปีแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น