“สมพัฒน์ แก้วพิจิตร” รมช.เกษรฯ พร้อมหนุนให้ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตเป็นศูนย์กลางในการขนถ่ายปลาทูน่าในมหาสมุทรอินเดีย จากความได้เปรียบให้หลายๆ ด้าน
เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้(5 ก.ค.) ที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินการงานท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต โดยมีนายสมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายประมวล รักษ์ใจ หัวหน้าท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุป และนำเยี่ยมชมบริเวณท่าเทียบเรือประมง
นายสมพัฒน์กล่าวภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปและตรวจเยี่ยมท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ว่า ทางกระทรวงฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ให้เป็นท่าเทียบเรือประมงที่ได้รับความเชื่อมั่นและได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในด้านมาตรฐานสุขอนามัย รวมถึงก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายปลาทูน่าจากเรือเบ็ดราวทูน่าในมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันออก เนื่องจากปัจจุบันท่าเทียบเรือภูเก็ตฯ ได้รับการรับรองให้เป็นท่าเทียบเรือประมงสุขอนามัยโดยกรมประมง ประกอบกับมีศักยภาพมากพอที่จะรองรับการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการประมงและส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่การให้บริการขนถ่ายและจำหน่ายสัตว์น้ำ การส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมประมงและต่อเนื่อง
โดยในปี 2550 มีเรือประมงเข้ามาเทียบท่าเฉลี่ยวันละ 30 ลำ ปริมาณสัตว์น้ำ 33,543 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,966 ล้านบาท โดยส่งจำหน่ายในจังหวัดภูเก็ตร้อยละ 53 จังหวัดใกล้เคียงร้อยละ 17.5 ภาคกลางร้อยละ 15 ส่งออกไปประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ผ่านทาง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ร้อยละ 7.5 และส่งตรงปลาทูน่าไปยังประเทศญี่ปุ่น และอื่นๆ ร้อยละ 7 โดยประเภทสัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่ ปลาทูน่า ปลาลัง ปลาโอ
นอกจากนั้นยังให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการตลาด ราคาสัตว์น้ำและสถิติประมง ผ่านเว็บไซต์ รวมถึงการให้สินเชื่อการประมง ส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาชุมชนประมงตลอดจนการดำเนินงานของสมาคมประมง สหกรณ์ประมง และสามารถดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เช่น ควบคุมดูแลการจำหน่ายน้ำมันม่วง ตามโครงการจำหน่ายน้ำมันราคาถูกให้กับชาวประมงในเขตจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
นายสมพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการและโครงการสำคัญที่จะพัฒนาท่าเทียบเรือภูเก็ต ได้บรรลุเป้าหมายข้างต้น ประกอบด้วย การตรวจสอบฟอร์มาลีนในสัตว์น้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอาหารทะเลตามนโยบายอาหารปลอดภัย โดยการสุ่มตรวจจากชาวประมง ผู้ประกอบการวันละ 2 ราย ตลอดจนรักษามาตรฐานของโครงการปรับปรุงสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2549 เป็นต้นมา ให้คงคุณภาพและพัฒนายิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากการส่งออกสัตว์น้ำ ผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลางด้านการประมงทูน่าในภูมิภาค
ผลจากโครงการดังกล่าว นอกจากจะส่งผลดีในด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังถือเป็นการสร้างให้สภาพแวดล้อมโดยรอบพื้นที่โครงการมีมาตรฐานเหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ในลักษณะ Fish Market Park ควบคู่กับการจัดตั้งตลาดศูนย์รวมอาหารทะเลขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย แม้ว่าขณะขณะนี่เราจะมีคู่แข่งที่น่ากลับ คือ ปีนัง มาเลเซีย แต่เรายังมีข้อได้เปรียบอีกหลายด้าน เช่น สนามบิน แหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่จะต้องจัดมารองรับและให้ได้มาตรฐาน คือ สิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าเทียบเรือ นายสมพัฒน์กล่าว