xs
xsm
sm
md
lg

นิติเวชยันลูกจ้างสอดไส้ใบเสร็จเซ็นค่าฉีดยาศพแล้วเชิดเงินหนี

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ตร.นิติเวช ยืนยันไม่มีส่วนได้เสียเงินยักยอกฉีดยาศพ เผยลูกจ้างชั่วคราวสอดไส้ใบเสร็จหลอกเซ็นชื่อเบิกเงินเชิดหนี ผบก.แจ้งความกันตัวจเรสอบวินัย

วันนี้ (13 ก.พ.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ พล.ต.ต.ณรงค์ศักดิ์ เสาวคนธ์ ผบก.นต.ได้ไปแจ้งความดำเนินต่อนายตำรวจในสังกัดสถาบันนิติเวช จำนวน 21 นาย ลูกจ้างชั่วคราวอีก 3 นายในข้อหาทุจริตเงินหลวง

หนึ่งในนายตำรวจที่ถูกกล่าวหาได้เปิดเผยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการทุจริตของลูกจ้างชั่วคราวของสถาบันนิติเวช ซึ่งจ้างมาเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการและดูแลด้านการเงิน คือ นางเบญจวรรณ อยู่ยงค์ หรืออ้อย นายสมบูรณ์ เชื้อปาน นางสุภัทรา พรหมพิชัย หรือ หน่อย ที่ดูแลเรื่องการเก็บเงินค่าบำรุงและค่าฉีดยาศพ โดยเหตุเกิดมาตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2550 ก่อนที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะมาตรวจพบว่ามีความผิดปกติ

เนื่องจากการเก็บเงินค่าบำรุงสถาบันจะต้องจ่ายศพละ 300 บาท ส่วนญาติที่ต้องการฉีดฟอร์มาลีนต้องจ่ายอีกศพละ 600 บาท รวมเป็น 900 บาท ในแต่ละวันเจ้าหน้าที่การเงินซึ่งก็คือลูกจ้างชั่วคราว ก็จะเขียนในเสร็จมาให้ร้อยเวร แต่จะไม่ยอมเซ็นชื่ออ้างว่าไม่มีอำนาจ เมื่อมีการตรวจสอบใบหน้าก็ระบุว่าเป็นเงิน 900 บาท ร้อยเวร หรือสิบเวรที่เข้าเวรในวันนั้นๆ ก็จะเซ็นให้ แต่ลูกจ้างชั่วคราวเหล่านี้ได้ทำการสอดไส้ในส่วนของค่าฟอร์มาลีน ทำให้ใบก๊อบปี้ไม่ติด เงิน 600 บาทจึงไม่ถูกระบุลงไปในใบเสร็จด้านหลัง เมื่อมีการนำเงินไปส่งเจ้าหน้าที่การเงินช่วงเวลา 15.00 น.ของทุกวัน ลูกจ้างชั่วคราวก็จะแจ้งว่าญาติไม่ประสงค์จะฉีดฟอร์มาลีน ทำอย่างนี้มาทุกครั้งที่เข้าเวร แต่ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ลูกจ้างเหล่านี้ไม่เข้าเวร เงินก็จะส่งเจ้าหน้าที่การเงินครบถ้วน เรื่องนี้มีการสอบสวนพยานคือญาติที่มารับศพแล้ว ทุกคนก็ยืนยันว่าส่งเงินให้ลูกจ้างชั่วคราวและได้รับใบเสร็จ 900 บาทจริง ร้อยเวรสิบเวรไม่ได้รับเงินเอง สตง.สอบไปแล้ว พอเรื่องแดงออกมาลูกจ้างชั่วคราวที่สถาบันนิติเวชจ้างมาทั้ง 3 คนก็หนีไปเลย ไม่มาติดตามหาตัว แต่มาตั้งกรรมการตำรวจแทน

เรื่องนี้ในสมัยของ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ จ้อยจำรูญ อดีต ผบก.นต.ได้ทำการสอบสวนมาครั้งหนึ่งแล้ว คณะกรรมการสอบสวนของโรงพยาบาลตำรวจได้สั่งยุติเรื่อง ให้ทำการว่ากล่าวตักเตือน ร้อยเวรและสิบเวรจำนวน 21 นาย แบ่งเป็นชั้นสัญญาบัตรจำนวน 10 นาย ชั้นประทวน 11 นาย ส่วนลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีไว้แล้ว แต่ต่อมากองบังคับการกองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนขึ้น โดยมีกองตรวจราชการ 5 จเรตำรวจเป็นผู้สืบสวนอีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มทำการสอบสวนในวันนี้ แต่เมื่อวานที่ผ่านมา พล.ต.ต.ณรงค์ศักดิ์ ก็ยังไปแจ้งความอาญากับพวกตนอีก ทั้งๆ ที่เราได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปแล้ว

พวกตนเป็นข้าราชการตำรวจมาคนละไม่ต่ำกว่า 10 ปี จบการศึกษามาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงของรัฐ ทุกคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ทำงานกับศพซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่อยากจะทำ เงินเพียงครั้งละ 600 บาท พวกตนคงไม่มีใครเอา แบ่งกัน 21 คนๆ ละไม่กี่สิบบาท กับการต้องออกจากราชการ มันคุ้มกันไหม ผู้บังคับบัญชาก็ทราบดี ไม่ทราบว่าทำไมต้องไปแจ้งความทั้งๆ ที่เรื่องสอบทางวินัยยังไม่จบเลย และพวกตนก็ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อลูกจ้างชั่วคราวแล้ว และหนำซ้ำพวกตนเป็นร้อยเวรสิบเวรโดนตั้งกรรมการสอบสวนกันหมด แต่นายตำรวจหน้าห้องผู้การไม่ถูกตั้งกรรมการ เพียงเพราะบอกว่าใบเสร็จในวันที่เข้าเวรหายเลยรอดตัวไป เจ้าหน้าที่การเงิน สารวัตรการเงินของนิติเวชที่มีหน้าที่รับเงินจากลูกจ้างชั่วคราวก็ไม่ถูกตั้งกรรมการ มีเพียงร้อยเวร สิบเวรผ่าศพที่ถูกตั้งกรรมการ จึงอยากขอความเป็นธรรมบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น