ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – นักศึกษาและคณาจารย์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เดินทางมาศึกษาปัญหากัดเซาะชายฝั่ง จ.สงขลา เผยถึงกับตะลึงเมื่อพบว่าชายหาดถูกกัดเซาะเสียหายจำนวนมาก แปลกใจทำไมไม่มีกฎหมายคุ้มครองชายหาด เตรียมสรุปบทเรียนป้องกันชายหาดบ้านเกิด นักสมุทรศาสตร์ระบุมีการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย จนชายหาดบางแห่งวิบัติ
รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ นักสมุทรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผย ว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 คณะนักศึกษา และคณาจารย์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ และภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ หรือ National University of Singapore (NUS) ประกอบด้วยนักศึกษา 43 คน กับอาจารย์ 3 คน ได้เดินทางมาศึกษาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ จ.สงขลา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เดินทางมาศึกษาปัญหากัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยจะมีการนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้ในการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดกับประเทศสิงคโปร์ในอนาคต
รศ.ดร.สมบูรณ์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ให้ความสนใจปัญหานี้เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กมีทรัพยากรไม่มากนัก จึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ ด้วยการสรุปบทเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวนำไปปรับใช้กับประเทศของตน
“ผมได้บรรยายปัญหาที่เกิดขึ้นกับชายหาดบริเวณ อ.เทพา และชายหาดสมิหลาให้เขาฟัง โดยจุดที่หาดสมิหลานั้นจะเน้นไปที่ชายหาดเก้าเส้งซึ่งกำลังได้รับความเสียหาย นักศึกษาที่มาศึกษาปัญหาเขายังไม่มีความรู้ทางด้านนี้มากนัก เนื่องจากเขาเป็นนักภูมิศาสตร์ไม่ใช่วิศวกร แต่เขาก็มีความสนใจมาก พอได้ฟังข้อมูลเขาก็รู้สึกเสียใจมากกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้านเรา” รศ.ดร.สมบูรณ์ กล่าวและว่า
คณะนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้ตั้งคำถามว่าทำไมคนไทยถึงปล่อยให้ชายหาดถูกทำลายไปมากมายขนาดนี้ ซึ่งตนได้อธิบายออกไปว่า ความรู้ในการจัดการปัญหาชายฝั่งทุกคนสามารถเรียนรู้ได้จากตำราเล่มเดียวกัน แต่สิ่งสำคัญที่จะรักษาทรัพยากรไว้ได้นั่นก็คือจิตสำนึกรักษ์ในทรัพยากร ซึ่งยอมรับว่าเขามีตรงนี้มากกว่าเรา
“ประเทศไทยมีปัญหาการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย พูดถึงตรงนี้เขาสนใจมากเพราะประเทศเขาไม่มี ในขณะที่บ้านเรามีการใช้ความรู้ในการหลอกลวงสูงกว่าเขา”
รศ.ดร.สมบูรณ์ กล่าวอีกว่า นักศึกษากลุ่มดังกล่าวได้ถามถึงแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งตนได้ตอบไปว่า วิธีแก้ปัญหาในขณะนี้ประกอบด้วย 3 วิธี ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการแบ่งโซนของชายหาดตามสภาพของปัญหา โซนที่ 1 คือจุดที่ชายหาดอยู่ในขั้นวิบัติแล้ว โซนที่ 2 คือจุดที่ชายหาดกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต และโซนที่ 3 คือจุดที่ชายหาดยังมีสภาพปกติ โดยจุดที่ชายหาดอยู่ในขั้นวิบัติแล้วนั้นจะต้องใช้มาตรการทางด้านวิศวกรรมเข้าไปจัดการแก้ปัญหา
ส่วนโซนที่กำลังวิกฤต ต้องใช้ความรู้เรื่องสภาพธรรมชาติขิงชายฝั่งและชายหาด เข้ามาจัดการแก้ปัญหาหากมีโครงสร้างทางวิศวกรรมกีดขวางกระแสการไหลของน้ำทะเลก็ต้องรื้อออก หากชายหาดขาดแคลนทรายก็ต้องจัดหาทรายมาเติม เพราะส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากโครงสร้างทางวิศวกรรมคืออ่างกักเก็บน้ำต่างๆ ปิดกั้นการไหลของตะกอนทรายลงสู่ชายหาด
“ส่วนโซนที่ชายหาดยังสมบูรณ์ปกตินั้นเขาให้ความสนใจมาก ซึ่งเราบอกว่าต้องมีการสร้างจิตสำนึกและผลักดันกฎหมายควบคุมการใช้ทรัพยากรชายหาด ซึ่งปัจจุบันเรามีกฎหมายรักษาป่าชายเลนและปะการัง แต่ไม่มีกฎหมายดูแลชายหาด พวกเขาแปลกใจมากว่าทำไมจึงเป็นแบบนี้”
นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอีก โดยนักศึกษาและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่าคลื่นมีความสำคัญต่อการคงอยู่ของชายหาด ไม่ใช่เป็นตัวทำลายชายหาด ซึ่งบริเวณชายหาดเก้าเส้งมีการนำหินมาถมไว้ริมชายหาดเพื่อป้องกันคลื่น ซึ่งจากความรู้ที่ว่าคลื่นคือตัวสร้างสมดุลให้กับชายหาด แต่เมื่อคลื่นถูกกีดขวางไม่ให้ปะทะกับชายหาดจึงทำให้ชายหาดขาดความสมดุลตามธรรมชาติจนเกิดปัญหาขึ้นในที่สุด
“เขาบอกว่าเขาได้รับความรู้มากมายทั้งในทางสังคมและภูมิศาสตร์ จากการเดินทางมาศึกษาปัญหาครั้งนี้ ประเทศของเขาไม่มีปัญหานี้เพราะเขาแบ่งโซนการใช้พื้นที่ชายหาดอย่างชัดเจน ไม่เหมือนกับบ้านเราที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มเห็นแก่ตัวจนเกิดปัญหาขึ้นในที่สุด”
ทั้งนี้หลังจากศึกษาปัญหาในพื้นที่ จ.สงขลา แล้ว คณะนักศึกษาและคณาจารย์ หมาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ก็จะเดินทางไปศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ต่อไป