ศูนย์ข่าวภูเก็ต -กรอบความตกลงการจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย คืบหน้า เจรจาลดภาษีสินค้าเหลือศูนย์แล้ว 82 ราย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมผลักดันสินค้าอีกหลายพันรายการ ส่งผลมูลค่าการค้าไทย-อินเดีย ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ในปีนี้ ขณะที่ตลาดท่องเที่ยวสดใสนักท่องเที่ยวอินเดียมาไทยเพิ่มปีละ 16% นักลงทุนไทยใช้อินเดียเป็นฐานในการผลิตสินค้าส่งออกต่างประเทศ
วันนี้ (27 มี.ค.) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนาวิชาการสร้างความรู้ ความเข้าใจตลาดอินเดีย และเตรียมความพร้อมการเปิดเสรีในกรอบไทย-อินเดีย อาเซียน-อินเดีย ในหัวข้อ “ตะลุยภารตะ ขุมทรัพย์ทางการค้า” โดยมีผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในพื้นที่ภูเก็ตและภาคใต้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ที่ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จ.ภูเก็ต
ทั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้รู้จักตลาดอินเดียตลอดจนถึงศักยภาพ โอกาสทางการค้า การลงทุน และความคืบหน้าในการจัดทำเขตการค้าเสรี รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ซึ่งจะทำให้ได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และใช้เป็นแนวทางสำหรับการเจรจาเปิดเสรีในด้านต่างๆ
เตรียมผลักดันสินค้าอีกหลายพันรายการ
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า อินเดียเป็นประเทศหนึ่ง ที่เป็นยุทธศาสตร์ในการขยายตลาดใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากมีศักยภาพที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมี GDP เติบโตอัตราร้อยละ 8-9 ต่อปี และเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงมาก เพราะมีประชากรกว่า 1 พันล้านคน ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่ทุกประเทศกำลังจับตามอง จากที่เศรษฐกิจของอินเดียเติบโตเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากจีน จึงทำให้อินเดียเป็นเป้าหมายหลักที่จะเป็นคู่ค้าของไทย และมีปัจจัยดึงดูดการลงทุนมากที่สุดในเอเชียใต้
ในอดีตมูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินเดีย มีปริมาณไม่มากนัก แต่หลังจากที่ไทย-อินเดีย ได้ลงนามกรอบความตกลงการจัดทำเขตการค้าเสรี-อินเดีย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 และได้ตกลงลดภาษีสินค้าในเบื้องต้น 82 รายการ โดยได้ลดภาษีเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2549 และภาครัฐมีการส่งเสริมการค้ากับทางอินเดีย และได้หันมาใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นเครื่องมือหนึ่งในการค้า ทำให้การค้าระหว่างไทย-อินเดีย ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายรายการที่มีศักยภาพ เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ หลอดภาพโทรทัศน์สี เครื่องปรับอากาศ เพชรพลอยและอัญมณี ฯลฯ และทำให้ไทยกลับเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับอินเดียจากเดิมเมื่อเริ่มลดภาษี มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 900 ล้านเหรียญ แต่ในปี 2550 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงถึง 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับความคืบหน้าการเจรจา FTA ไทย-อินเดีย ในตอนนี้นอกเหนือจากการนำร่องยกเลิกภาษีสินค้า 82 รายการแล้ว ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างจัดทำ Package ที่จะลดภาษีให้สมบูรณ์ เนื่องจากในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา อินเดียขอรื้อบัญชีสินค้าที่จะมีการลดภาษี โดยอ้างว่าผลประโยชน์ที่ได้ทั้งสองฝ่ายไม่สมดุลกัน ซึ่งทำให้การเจรจาที่น่าจะเสร็จสิ้นแล้ว ต้องล่าช้าออกไปอีก ซึ่งหากผลประโยชน์ที่ไทยได้ลดน้อยลงคงต้องทบทวนใหม่อีก
การค้าระหว่างกันทะลุ 5 พันล้าน ปีนี้
นายชนะ กล่าวอีกว่า ในปี 2551 คาดว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินเดีย น่าที่จะไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐและไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท เป็นการส่งออกของไทย และคิดว่าการค้าระหว่างไทย-อินเดีย จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากขณะนี้ทั้งไทยและอินเดีย กำลังเจรจาที่จะปรับภาษีสินค้าที่เหลืออีก 4,000-5,000 รายการ ซึ่งการเจรจาการค้ากับทางอินเดียจะต้องดำเนินการอย่างช้าๆค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากอินเดียมีความระมัดระวังในการเจรจาการค้ามากทุกอย่างจะต้องไม่มีใครได้เปรียบและเสียเปรียบจึงจะสามารถตกลงกันได้
นายชนะ ยังกล่าวถึงช่องทางของนักธุรกิจและนักลงทุนในภาคใต้ที่จะเข้าไปในอินเดีย ว่า ภาคใต้และภูเก็ตมีโอกาสในการเข้าไปลงทุนทางด้านการท่องเที่ยว และดึงชาวอินเดียให้เดินทางมาท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ เนื่องจากอินเดียมีจำนวนประชากรที่สูงมาก และในจำนวนประชากรที่สูงนี้ มีคนอินเดียที่อยู่ในระดับเศรษฐีจำนวนมาก ที่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจากภูเก็ตและภาคใต้ก็สามารถที่จะเข้าไปลงทุนทางด้านการท่องเที่ยว และบริการในอินเดียได้เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่มีความสวยงาม เหมาะสำหรับการลงทุนด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพการลงทุน ด้านการแปรรูปอาหารทะเลส่งออกไปจำหน่ายประเทศใกล้เคียงที่ไม่มีทางออกทะเลอีกในบริเวณนั้นด้วย และพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียอยู่ห่างจากพม่าไม่มากนัก
การท่องเที่ยวลู่ทางสดใส
นายพิชยา สายแสงจันทร์ หัวหน้างานพัฒนาและส่งเสริมการตลาดอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ททท.ไปเปิดตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียอย่างจริงจังเมื่อปี 2004 โดยการตั้งสำนักงานททท.ในอินเดีย และที่ผ่านมานักท่องเที่ยวอินเดียที่เข้ามาประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่แล้วเข้ามาประเทศไทยกว่า 540,000 คน เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนถึง 16% โดยส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวอินเดียจะนิยมท่องเที่ยวในกรุงเทพฯและพัทยา เพราะชอบชอปปิ้งจับจ่ายซื้อสินค้า และเฉลี่ยค่าใช้จ่ายอยู่ที่วันละ 4,700 บาท
ส่วนภูเก็ต เป็นเมืองในฝันของชาวอินเดียที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว เพราะราคาค่อนข้างสูงและห้องพักไม่ค่อยเพียงพอ เพราะอินเดียจะเข้ามาอันดามันในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เช่นกัน รวมทั้งทัศนคติของผู้ประกอบการในอันดามันยังมองไม่เห็นความสำคัญของตลาดอินเดียเท่ากับตลาดยุโรป อเมริกา และ ญี่ปุ่น
กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายสำหรับตลาดอินเดีย ที่ ททท.วางไว้ จะเป็นกลุ่มแต่งงานรวมถึงฮันนีมูน กลุ่มถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากหากสามารถดึงให้มาถ่ายทำในประเทศเทศไทยได้ รวมทั้งกลุ่มจัดประชุมสัมมนา และ อินเซนทีฟ เพราะอินเดียมีบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมาก
สำหรับแผนการทำตลาด ทุกปี ททท.จะทำตลาดส่งเสริมการขายในตลาดอินเดียปีละ 4-5 ครั้ง ซึ่งในปีนี้จะเชิญชวนผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากภูเก็ตและอันดามันให้เดินทางไปส่งเสริมการขายในตลาดอินเดียด้วย เพื่อดึงให้คนอินเดียเดินทางมาท่องเที่ยวที่ภูเก็ตและอันดามันมากขึ้น
นักลงทุนไทยใช้อินเดียเป็นฐานการส่งออก
ด้าน นายอนุสรณ์ มุทราอิศ ประธานสภาธุรกิจไทย-อินเดีย และกรรมการบริหารบริษัท เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดอินเดียเป็นตลาดใหญ่ มีผู้คนเป็นจำนวนมาก จากในช่วงแรกของการลงทุนทางบริษัทมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปีที่ผ่านมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ มีกำไรอยู่ในลำดับที่ 97 ในอินเดีย และขณะนี้ก็อยู่ในระหว่างการเจรจากับทางรัฐบาลของอินเดีย เพื่อลงทุนสร้างโรงงานเพิ่มที่เมืองเชนไน บนเนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ เพื่อขยายโรงงานและใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังยุโรป แอฟริกา และ มิดเดิลอีสต์ โดยใช้งบลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ตลาดอินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ซึ่งการที่ได้ไปลงทุนในช่วงที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับที่ดี แม้ว่าในการเจรจาอาจจะต้องใช้เวลาและอดทน เพราะเขาชอบที่จะมีการพูดคุยกันค่อนข้างมากก่อนที่จะมีการตกลง ซึ่งนอกจากบริษัท เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ แล้ว ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุนแล้ว เช่น ซีพี อิตัลไทย เป็นต้น และอยู่ระหว่างที่จะดำเนินการอีกหลายแห่ง เช่น ช.การช่าง ปูนซิเมนต์ไทย เป็นต้น