ปชป.แฉ “โกร่ง” ผลประโยชน์ทับซ้อนธุรกิจพลังงานในประเทศลาว ผ่านบริษัท ช.การช่าง ลงทุนสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในลาวหลายแห่ง รวมมูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท
รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของนายวีรพงษ์ รามารกูร ที่ปรึกษาบริษัทเอกชนหลายแห่ง หลังจาก ครม.มีมติแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ โดยมีอำนาจเข้าร่วมประชุม ครม.และมีสิทธิ์เรียกหน่วยงานรัฐมาให้ข้อมูล แผนแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากนายวีรพงษ์ เป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนหลายแห่งโดยเฉพาะการเป็นประธารและกรรมการ ของบริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอจี้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ สปป.ลาว ทุนจดทะเบียน 6,605 ล้านบาท ถือหุ้นใหญ่โดย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โดยตั้งแต่ปี 2550 ที่ผ่านมานายวีรพงษ์ ได้เสนอให้รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อวางแผนระยะปานกลางและระยะยาวเรื่องพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้น
ข่าวแจ้งว่า บริษัท ช.การช่าง ได้หันมารับงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว โดยได้เข้าไปร่วมลงทุนโครงการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 ของ ของบริษัท เซาท์อิสท์ เอเชีย เอนเนอจี้ จำกัด ร่วมทุนกับ ช.การช่าง และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี บ.ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว โดยโครงการเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2549 คาดจะแล้วเสร็จและเริ่มเก็บน้ำเข้าอ่างได้ในปลายปี 2552 และเริ่มทดลองผลิตไฟฟ้าในปี 2553 ด้วยประมาณการผลิตไฟฟ้า 2,218 กิกะวัตต์-ชั่วโมง/ปี
เมื่อปลายปี 2549 ที่ผ่านมา นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ได้นำคณะไปเยี่ยมโครงการก่อสร้าง และร่วมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแผนงานและการลงทุนของ สปป.ลาว เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างกันเพื่อผลักดันให้เกิดโครงการเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่างๆ ใน สปป.ลาว เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและพลังงานของทั้งสองประเทศ เนื่องจากปี 2550 รัฐบาลลาวได้อนุมัติโครงการสร้างเขื่อนมากที่สุดโดยมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง 6 แห่ง และเขื่อนในประเทศอีก 10 แห่ง
ข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ บริษัท ช.การช่าง ยังได้เซ็นเอ็มโอยูกับรัฐบาลลาวในเดือนพฤษภาคมปี 2550 ที่ผ่านมาในโครงการก่อสร้างเขื่อน ไซยะบุรี ในเมืองไชยะบุรี ทางตอนใต้เมืองและแขวงหลวงพระบางประเทศลาว มูลค่าการลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท วางแผนจะเริ่มก่อสร้างโครงการในปี 2554 โดยบริษัทยังได้รับสัมปทานการผลิตไฟฟ้าจากรัฐบาลเป็นเวลา 30 ปี โดยคาดว่าจะขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ในปี 2558
ข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะนี้ บริษัท ช.การช่าง เตรียมที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในในโครงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม บริเวณชายแดนไทย-ลาว อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มูลค่าการลงทุนกว่า 90,000 ล้านบาท ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ประเทศไทย ตามที่นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ได้ไปลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมก่อสร้างโครงการเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยบริษัทเตรียมจะเข้าไปลงทุนเกี่ยวกับการผันน้ำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะได้กำไรเป็นจำนวนมาก