xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! บ.ศรีสุพรรณฟาร์ม “จ.” ออกเอกสารสิทธิไม่ถูกต้อง-ทับที่ดินชาวบ้านกว่าพันไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี- “อดีตกำนันตำบลน้ำหัก” แฉการออกเอกสารสิทธิครอบที่ดินของ “บ.ศรีสุบรรณฟาร์ม จ.” ไม่ถูกต้อง ทับที่ดินชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือน รวมเนื้อที่กว่า 1,600 ไร่ ทั้งที่พื้นที่จริงของบริษัทมีเพียงประมาณ 500 ไร่ เท่านั้น นำเอกสารทั้งหมดส่งถึงมือ มท 1.แล้ว

วันนี้ (25 มี.ค.) นายวิลาศ ไกรวงศ์ อายุ 60 ปี อดีตกำนัน ต.น้ำหัก อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ญาติคนสนิทของ พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ สว.สุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นายสมเดช ปิยนัตน์ อายุ 54 ปี ผู้ได้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจาก บริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด กรณีออกเอกสารสิทธิทับที่ทำกินตนเอง และชาวบ้าน

โดยมีการนำเอกสารภาพถ่ายทางดาวเทียม และเอกสารหลักฐานการออกเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินของ บริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด มาแสดง พร้อมระบุว่า ปี 2529 มีการออกสารสิทธิพื้นที่ดังกล่าว จำนวนกว่า 6,000 ไร่ มีการใช้ชื่อบุคคลภายนอกมาสวมทับ มีนายทุนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่ดิน

ดำเนินการออกเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินประมาณ 94 แปลง มีทั้งที่ดินสาธารณะ และทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน รวมทั้งของตนเองด้วย ทั้งยังมีการขายให้ บริษัท ไทยมาเลเซีย จำกัด จำนวน 81 แปลง แต่ทางบริษัทไม่สามารถเข้ามาดำเนินการใดๆ ในที่ดินดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีที่ดินตามเอกสารสิทธิ

จึงขายเอกสารสิทธิต่อให้กับ บริษัท สามผลปาล์ม จำกัด แล้วนำไปจำนองกับธนาคารกรุงไทย จนถูกยึดไปขายทอดตลาด จากนั้น บริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด เข้ามาประมูลซื้อจากกรมบังคับคดี เนื้อที่รวมกว่า 2,000 ไร่ ราคา 33 ล้านบาท

แล้วนำไปจำนองกับธนาคารได้เงินกว่า 100 ล้านบาท ทางผู้บริหาร บริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด ก็รู้ว่าไม่มีพื้นที่ตามเอกสารสิทธิ แต่ยังไปประมูลมา

อดีตกำนันตำบลน้ำหัก กล่าวต่อไปว่า โดยภาพรวมแล้ว บริษัทมีที่ดินจริงประมาณ 520 ไร่เท่านั้น ตามเอกสารสิทธิ ส่วนพื้นที่ที่เหลือเนื้อที่กว่า 1,600 ไร่นั้น เป็นที่ดินของตนเอง และชาวบ้านในตำบลน้ำหักกว่า 100 ครัวเรือน

ที่ได้รับความเดือดร้อน จากการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินทำกินของเจ้าหน้าที่ที่ดินที่นั่งเขียนกำหนดพื้นที่ โดยไม่ลงพื้นที่จริง ทำไห้พื้นที่ตามเอกสารสิทธิเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมเท่ากันหมด

ด้าน นายสมเดช ปิยนัตน์ กล่าวว่า ทางชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ได้ทำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ว่า พยานหลักฐานของชาวบ้านไม่มีน้ำหนัก ไม่น่าเชื่อถือ จึงยกคำร้อง พร้อมมีคำสั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ตามเอกสารสิทธิของทางบริษัท

อีกทั้งมีคำสั่งให้สำนักงานที่ดินดำเนินการรังวัดพื้นที่ใหม่ ซึ่งทางชาวบ้านได้ขออุทธรณ์ต่อ และเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย ประกอบกับผลการรังวัดที่ดินล่าสุด ขัดกับการออกเอกสารอย่างชัดเจน และพื้นที่ส่วนใหญ่ของชาวบ้าน เป็นสวนยางพาราที่มีอายุกว่า 20 ปี ซึ่งขัดแย้งกับหลักฐานจากกรมบังคับคดีว่า ที่ดินที่ยึดขายทอดตลาด เป็นสวนปาล์มน้ำมัน

พร้อมเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตั้งอธิบดีกรมที่ดินตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิว่า ถูกต้องหรือไม่ หากพบว่า ไม่ถูกต้องขอให้ทำการเพิกถอนการออกเอกสารสิทธิตามมาตรา 61 โดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด



กำลังโหลดความคิดเห็น