ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – โรงไฟฟ้าจะนะฝ่าแรงต้านชาวบ้านฉลุย ทำพิธีขนานเครื่องไฟฟ้าเข้าสู่ระบบแล้ว โดยมีพล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ประเดิมใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA แห่งแรกของประเทศไทย กำลังผลิต 731 เมกะวัตต์ ด้วยระบบพลังงานความร้อนร่วม คาดว่าพร้อมส่งมอบและจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เสริมความมั่นคงด้านกระแสไฟฟ้าให้กับภาคใต้ได้ภายในเดือนพฤษภาคม หนุนกิจกรรมและเงินกองทุนพัฒนาชุมชนพื้นที่รอบอีกปีละ 50 ล้านบาท
วันนี้ (21 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ณ โรงไฟฟ้าจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีขนานเครื่องไฟฟ้าจะนะเข้าสู่ระบบการจ่ายไฟฟ้า โดยมีนายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชนชาว จ.สงขลา ร่วมเป็นสักขีพยานในงานพิธี
พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เป็นเวลาเกือบ 30 ปี ที่รัฐบาลประเทศไทยกับมาเลเซียพยายามหาข้อยุติในพื้นที่ ครอบคลุมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างกว่า 7,250 ตารางกิโลเมตร และมีการขุดพบก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ก่อนที่จะมีการกำหนดเป็นแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย JDA ( Malaysia-Thailand Joint Development Area:JDA) โดยมีการขุดก๊าซธรรมชาติขึ้นมาส่งผ่านยังโรงแยกก๊าซ อ.จะนะ จ.สงขลา ก่อนที่จะส่งต่อเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งไทยและมาเลเซีย โดยแหล่งก๊าซธรรมชาตินี้จะนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงภาคใต้ด้วย
สำหรับโรงไฟฟ้าจะนะเป็นโครงการที่เกิดขึ้น ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2547-2558 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ที่มีเพิ่มขึ้น เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 เป็นต้นมา รวม 36 เดือน ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 766 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 16,9000 ล้านบาท
แม้ว่าระหว่างที่มีการก่อสร้างจะมีเสียงทักท้วงจากประชาชนในท้องที่บ้าง ในเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งจากความวิตกกังวลของโรงแยกก๊าซทรานส์ไทย-มาเลย์ ที่เข้ามาตั้งรองรับการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทยและมาเลเซีย ตลอดจนข้อกังวลที่มีการนำน้ำจากคลองนาทับซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ชาวบ้านพึ่งพิงเป็นแหล่งประกอบอาชีพ มีความผูกพันกับวิถีชีวิต และมีพื้นที่ป่าชายเลน
กฟผ.จึงมอบหมายให้บริษัททีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ เมเนจเม้นท์ เป็นผู้ดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวบ้าน และเดินหน้าก่อสร้างด้วยความเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งพลังงานพัฒนาภาคใต้
ปัจจุบัน กฟผ. มีโครงการสนับสนุนชุมชน ตลอดจนส่งเสริมยกระดับคุณภาพชีวิต การศึกษา สังคม อาทิ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมปีละ 5.1 ล้านบาท, การอนุรักษ์และส่งเสริมอาชีพประมงปีละ 700,000 บาท, มอบทุนการศึกษาให้โรงเรียนปีละ 352,000 บาท, มอบทุนเพื่อสนับสนุนการสร้างห้องผ่าตัด รวมบริจาคเงินก่อสร้างมูลนิธิคลองนาทับ 20 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันว่าคลองนาทับจะไม่เกิดผลกระทบด้านน้ำอันเนื่องมาจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า รวมถึงกองทุนพัฒนาชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า 1 สตางค์/หน่วย ซึ่งเป็นเงินประมาณ 50 ล้านบาท/ปี เป็นต้น
ทั้งนี้ เป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ที่ได้จากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในอัตราสูงสุด 130 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 731 เมกะวัตต์ ใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วม ประกอบด้วยเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันแก๊ส 2 เครื่อง เครื่องผลิตไอน้ำ 2 เครื่อง และเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำอีก 1 เครื่อง เพื่อให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันความต้องการของพื้นที่ภาคใต้ เพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ลดปัญหาไฟตกและดับนานๆ ตลอดจนลดการพึ่งพากระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช และประเทศมาเลเซียด้วย
โรงไฟฟ้าจะนะเริ่มทดสอบเดินเครื่อง และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจนครบทั้ง 3 ชุดแล้ว และอยู่ระหว่างการปรับแต่งอุปกรณ์ ทดสอบระบบตามขั้นตอน ก่อนที่จะทดสอบประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเพื่อการส่งมอบ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551