xs
xsm
sm
md
lg

หาดใหญ่โพลเผยชาวใต้ไม่เชื่อลมปาก"แม้ว"วางมือการเมือง - หนุนพันธมิตรฯ เคลื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - หาดใหญ่โพลเผยชาวใต้ไม่เชื่อ"ทักษิณ"วางมือทางการเมือง หวั่นกลับเกิดการประท้วงรุนแรง รัฐบาลสมัคร 1 ไม่สามารถทำตามนโยบายที่แถลง ระบุการเคลื่อนไหวพันธมิตรชอบธรรม และพอใจการทำงานของ กกต.

หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลสมัคร 1 หรือ รัฐบาลนอมินี โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชน จำนวน 1,097 ตัวอย่าง ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2551 สรุปผลการสำรวจ จากกลุ่มตัวอย่างซึ่ง ส่วนใหญ่อาศัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช (ร้อยละ 19.1) รองลงมาเป็นจังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานี คิดเป็นร้อยละ 15.4 และ 8.9 ตามลำดับ

นอกจากนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 62.5) มีอายุระหว่าง 31-40 ปี (ร้อยละ 37.6) รองลงมา อายุระหว่าง 21-30 ปี (ร้อยละ 37.0 ) และอายุระหว่าง 41-50 ปี (ร้อยละ 16.7) ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.1 มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี รองลงมา ร้อยละ 33.3 มีวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญา/ปวส. และร้อยละ 10.8 มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและเมื่อพิจารณาสถานภาพด้านอาชีพ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพนักงานบริษัท/รับจ้าง(ร้อยละ 43.8) รองลงมา ประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย (ร้อยละ 32.5) และร้อยละ 11.9 มีสถานภาพเป็นนักเรียน/นักศึกษา

ผลการสำรวจในเรื่องของการดำเนินการตามนโยบายประชาชนชาวใต้ ร้อยละ 66.0 คิดว่ารัฐบาลสมัครจะไม่สามารถทำตามนโยบายที่แถลงไว้ กับรัฐสภาในวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2551 ได้โดยให้เหตุผลว่าเพราะเข้ามาเป็นรัฐบาลเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ (ร้อยละ 60.4) รองลงมาเป็นเหตุผลที่ว่าเข้ามาบริหารประเทศเพื่อให้การช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ร้อยละ 23.8) และร้อยละ 15.3 ที่ให้เหตุผลว่าเนื่องจากเกิดความแตกแยก ในคณะรัฐมนตรี

ส่วนกลุ่มที่เห็นว่าสามารถดำเนินการตามนโยบายได้มีเพียงร้อยละ 33.8 โดยส่วนใหญ่ ให้เหตุผลว่าเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน (ร้อยละ 66.0) รองลงมาเป็น เหตุผลเนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีประสบการณ์ในการบริหาร (ร้อยละ 21.8) และร้อยละ 11.1 เห็นว่า เป็นเพราะนโยบายที่เสนอเป็นนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยเดิม

ประชาชนชาวใต้ร้อยละ 49.1 คาดว่ารัฐบาลสมัคร 1 ไม่สามารถแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ซึ่งมีร้อยละใกล้เคียงกับกลุ่มที่คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้คิดเป็น ร้อยละ 46.2 ส่วนนโยบายที่ประชาชนต้องการให้นำมาใช้ในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันสันติยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ 27.3) รองลงมาเป็นการสร้างความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ปกครอง ทหาร ตำรวจในพื้นที่ (ร้อยละ 21.0) การจัดตั้งสภาประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ 19.4)

การจัดตั้งสำนักงานบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ 16.7) การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษา (ร้อยละ 4.9) แนวทางการปราบปรามยาเสพติด (ร้อยละ 4.3) และแนวคิดเขตปกครองพิเศษของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง (ร้อยละ 3.0) นอกจากนี้ความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการทำสงครามยาเสพติดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พบว่าประชาชนร้อยละ 34.6 เห็นด้วยในระดับน้อยและน้อยมาก ร้อยละ 57.3 เห็นด้วยในระดับ ปานกลางมีเพียง ร้อยละ 7.1 ที่เห็นด้วยในระดับมากและมากที่สุด

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีด้วยแนวคิดเศรษฐกิจด้วยเศษสตางค์ พบว่าประชาชน ร้อยละ 23.2 ที่เห็นด้วยในระดับน้อยและน้อยมาก ร้อยละ 67.2 เห็นด้วยในระดับปานกลาง และร้อยละ 9.5 เห็นด้วยในระดับมากและมากที่สุด ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการตรึงราคาสินค้าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ) พบว่าประชาชนร้อยละ 61.9 คิดว่าไม่สามารถตรึงราคาสินค้าได้

ด้านประเด็นแนวการดำเนินการที่ส่งผลต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ความเห็นเกี่ยวกับการกระทำของรัฐบาลสมัคร 1 ที่ทำให้ประชาชนคิดว่ารัฐบาลสมัคร เป็นรัฐบาลนอมินี ของ พ.ต.ท. ดร ทักษิณ ชินวัตร เรียงตามลำดับดังนี้
1.การปลดอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) (ร้อยละ 72.2)
2.การรื้อนโยบายประชานิยมมาดำเนินการ (ร้อยละ 58.3)
3.การที่ ส.ส. และรัฐมนตรีพบปะกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ร้อยละ 50.4)
4.การแทรกแซงและคุกคามสื่อมวลชน (ร้อยละ 49.6)
5.การปราบปรามยาเสพย์ติดโดยใช้ความรุนแรง (ร้อยละ 23.8)
6.การเยียวยาข้าราชการที่ได้รับความไม่เป็นธรรมในรัฐบาลสุรยุทธ์ (ร้อยละ 16.0)

นอกจากนี้ประชาชน ร้อยละ 68.6 เห็นว่าการปลดอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไม่มีความชอบธรรมมีเพียงร้อยละ 31.0 ที่เห็นว่ามีความชอบธรรมและประชาชน ร้อยละ 79.9 คิดว่าคงจะมีการปลดผู้บริหารระดับสูงเพิ่มอีก และบุคคลที่คาดว่าน่าจะถูกปลดมากที่สุดจากรัฐบาลสมัคร 1 คือผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทย (นางธาริษา วัฒนเกษ) คิดเป็นร้อยละ 48.2 รองลงมาเป็น พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวช (ร้อยละ 20.6) นายจรัญ ภักดีธนากุล (ร้อยละ 14.9) และนายปราโมช รัฐวินิต (ร้อยละ 6.8)

ประชาชนร้อยละ 61.6 เห็นว่าการกระทำของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ (นายนพดล ปัทมะ) และประธานสภาผู้แทนราษฎร์ (นายยงยุทธ์ ติยะไพรัช) เดินทางไปพบ พ.ต.ท. ดร ทักษิณ ชินวัตร เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม โดยให้เหตุผลว่า เพราะเป็นการเดินทางไปเพื่อรับคำสั่งมาดำเนินงาน (ร้อยละ 60.2) รองลงมาเป็นเหตุผลเพราะยังดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี และประธานสภาผู้แทนราษฎร์ (ร้อยละ 37.7) มีเพียงร้อยละ 38.3 ที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่เหมาะสมโดยให้เหตุผลว่า เพราะต้องการขอคำปรึกษาในฐานะเป็นผู้มีประสบการณ์ (ร้อยละ 75.7) เหตุผลรองลงมาเป็นการพบปะพูดคุยในฐานะคนรู้จัก (ร้อยละ 23.3)

ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการคืนพาสสปอร์ตแดงให้ พ.ต.ท. ดร ทักษิณ ชินวัตร พบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นที่ใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 45.9 ไม่เห็นด้วยและร้อยละ 45.5 เห็นด้วย นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 51.2 ไม่เชื่อว่าพ.ต.ท. ดร ทักษิณ ชินวัตร จะเลิกเล่นการเมืองมีเพียงร้อยละ 41.6 ที่เชื่อว่าเลิกเล่นการเมืองแล้ว นอกจากนี้ประชาชนยังคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุด เมื่อ พ.ต.ท. ดร ทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าสู่ประเทศไทยเรียงตามลำดับดังนี้

1.เกิดการประท้วงของประชาชนอย่างรุนแรง (ร้อยละ 71.1)
2.พ.ต.ท.ดร ทักษิณ ชินวัตร มีความผิดถึงกับติดคุกตลอดชีวิต (ร้อยละ 62.5)
3.การหลุดจากคดีทุจริตต่าง ๆ ของครอบครัวชินวัตร (ร้อยละ 59.4)
4.มีประชาชนไปต้อนรับเป็นจำนวนมาก (ร้อยละ 51.4)
5.เกิดการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ร้อยละ 28.5)
6.พ.ต.ท. ดร ทักษิณ ชินวัตร กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี (ร้อยละ 28.0)
7.มีการปราบปรามกลุ่มพันธมิตรอย่างรุนแรง (ร้อยละ 10.4)
8.พ.ต.ท. ดร ทักษิณ ชินวัตร วางมือทางการเมืองเพื่อประกอบธุรกิจเพียงอย่างเดียว(ร้อยละ 10.0)

สำหรับประเด็นการชุมนุมของพันธมิตรประชาชน ประชาชนร้อยละ 57.6 คิดว่าการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาชนจะมีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้หยุดการแทรกแซงสื่อมวลชนและกระบวนการยุติธรรมเป็นการกระทำที่ชอบธรรมและร้อยละ 42.0 คิดว่าไม่เป็นความชอบธรรม

ส่วนประเด็นการปฏิบัติงานของ กกต. ประชาชนร้อยละ 64.5 มีความพึงพอใจในการกระทำของ กกต. ในการตัดสินคดีทุจริตการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงราย (นายยงยุทธ์ ติยะไพรัช) มีเพียงร้อยละ 27.6 ที่ไม่พึงพอใจและ ร้อยละ 7.6 ไม่แสดงความคิดเห็น
กำลังโหลดความคิดเห็น