ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างป่วน หลังน้ำมันขาดคลัง สั่งคุมเข้มจำกัดยอดขายปั๊มอิสระ ขณะที่โรงงานเดี้ยงไม่มีน้ำมันใช้
ภาวะตลาดน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ เกิดความปั่นป่วนอย่างหนักใน 1-2 วันนี้ เนื่องจากคลังน้ำมันทุกแห่งใน จ.สงขลา และ จ.สุราษฎร์ธานี มีการควบคุมโควตาน้ำมันให้แก่ผู้ค้าส่ง
ทั้งนี้ มีรายงานจากกลุ่มผู้ค้าส่งน้ำมันใน จ.สงขลา ว่า ภาวะตลาดน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้เริ่มขาดแคลน เนื่องจากคลังน้ำมันทุกบริษัท ทั้ง ปตท.เชลส์ คาลเท็กซ์ เอสโซ่ และบางจาก ได้จำกัดโควตาการขายน้ำมันให้กับกลุ่มผู้ค้าส่ง เช่น จากเดิมที่สั่งซื้อ 10 คัน แต่คลังขายน้ำมันให้แค่ 6 คัน ซึ่งสัดส่วนลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะ ปตท.และคาลเท็กซ์ ไม่ขายน้ำมันให้กับผู้ค้าส่ง โดยจะขายให้กับปั๊มน้ำมันที่เป็นลูกค้าแบรนด์ของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่มีการจำกัดโควต้าเช่นกัน เพื่อป้องกันการขายผ่านหัวจ่าย โดยอิงบัญชียอดขายน้ำมันของแต่ละปั้มในเดือนที่ผ่านมา
“จากข้อมูลของผู้ค้าส่ง ระบุว่า นอกเหนือจากถูกจำกัดโควตาน้ำมันแล้ว ราคาซื้อจากคลังยังแพงกว่าราคาขายหน้าป้ายของปั๊มน้ำมัน เช่น ดีเซลแพงกว่าลิตรละ 40 สตางค์ เบนซินแพงกว่า 10 สตางค์ ในขณะที่แกสโซฮอล์ ราคาซื้อกับราคาขายเท่ากัน ซึ่งส่วนต่างของราคาดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการปั๊มอิสระที่ไม่มีโลโก้ ต้องประสบภาวะขาดทุน เพราะราคาซื้อแพงกว่าราคาขายหน้าปั๊ม ที่สำคัญปั้มอิสระขาดแคลนน้ำมัน จากการที่ผู้ค้าส่งถูกจำกัดโควตาจึงมีน้ำมันไม่พอส่งให้กับลูกค้าของตัวเอง”
กลุ่มผู้ค้าส่งน้ำมัน เผยว่า เหตุที่คลังน้ำมันต่างๆ ต้องจำกัดโควตาการขายให้กับกลุ่มผู้ค้าส่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยิ่งขายมากก็ยิ่งขาดทุนมาก และไม่สามารถปรับราคาได้เนื่องจากรัฐบาลได้บีบ ปตท.ให้ตรึงราคาน้ำมันเอาไว้ คลังน้ำมันทุกแห่งจึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมยอดขายน้ำมันให้กับกลุ่มผู้ค้าส่ง ซึ่งถือเป็นลูกค้ากลุ่มรองนอกเหนือจากลูกค้าที่เป็นปั้มน้ำมันแบรนด์ของตัวเอง หากรัฐบาลยังคงตรึงราคาน้ำมันเอาไว้ ภาวะขาดแคลนน้ำมันจะยังคงอยู่ เพราะบริษัทน้ำมันต่างๆ จะใช้มาตรการนี้บีบรัฐบาลเพื่อขอปรับราคาน้ำมัน ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องปรับราคาน้ำมันอีกอย่างน้อย 40-80 สตางค์ผู้ประกอบการน้ำมันถึงจะอยู่ได้”
สำหรับผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง จากการที่คลังน้ำมันควบคุมโควตาน้ำมัน ในกลุ่มของโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง ตรัง และในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีโรงไม้ และโรงโม่หิน เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องรับน้ำมันจากผู้ค้าส่งโดยตรง