xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ทุ่ม 490 ล.ซื้อ PT.MAR รุกธุรกิจปาล์ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปตท.ฮุบกิจการบริษัท PT.MAR ที่ธุรกิจปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซีย ใช้เงินลงทุน 490 ล้านบาท ชี้เป็นโอกาสที่ดีที่นับวันความต้องการใช้น้ำมันปาล์มจะเพิ่มสูงขึ้น เผย ได้ร่วมลงนามเอ็มโอยูหลักเกณฑ์การคิดค่าเช่าท่อก๊าซ กับกรมธนารักษ์แล้ว เตรียมเสนอขออนุมัติต่อบอร์ด ปตท.และผู้ถือหุ้นต่อไป ระบุ ค่าเช่าพร้อมดอกเบี้ยไม่ทบต้นจะอยู่ที่ 7.5% ต่อปี คิดเป็นเงิน 1,520 ล้านบาท

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.ได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) ในประเทศสิงคโปร์ โดย ปตท.ถือหุ้น 100% เพื่อเป็นตัวแทนในการลงทุนโครงการพัฒนาธุรกิจปาล์มและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย รองรับความต้องการในตลาดโลก ล่าสุด ทาง ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นเพื่อเข้าซื้อกิจการบริษัท PT. Mitra Aneka Rezeki (PT.MAR) ประเทศอินโดนีเซีย จากผู้ถือหุ้นเดิมของ PT.MAR ในสัดส่วน 95% คิดเป็นจำนวนเงินรวม 14.725 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 490 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัท PT.MAR ดำเนินธุรกิจปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มทางทิศตะวันตก ของเกาะกาลิมันตัน โดยมีใบอนุญาตให้ดำเนินการปลูกปาล์มบนพื้นที่ประมาณ 14,000 เฮกตาร์ หรือประมาณ 87,500 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบขนาด 5-7 หมื่นตัน/ปี ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2554-2555 โดยผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายให้กับผู้ซื้อในประเทศอินโดนีเซียและในตลาดโลก

การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจของ ปตท.ที่นับวันความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบจะเพิ่มสูงขึ้นเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยตลาดหลักจะอยู่ในอินโดนีเซียและส่งออกในส่วนที่เกินความต้องการใช้ หากไทยเกิดขาดแคลนน้ำมันปาล์มดิบก็สามารถส่งเข้าไปจำหน่ายได้

นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการซื้อกิจการ PT.MAR ครั้งนี้ ได้ดำเนินการผ่าน Kalimantan Thai PalmPte., Ltd.(KTP) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ โดยมีปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 100% ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ ได้ชำระเงินบางส่วน โดยผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท PT.MAR ได้โอนหุ้นจำนวน 95% ให้ ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ ทาง ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จะดำเนินการชำระเงินเพิ่มเติมตามสัญญาให้แก่ผู้ขาย โดยการชำระเงินงวดสุดท้ายอีกประมาณ 4-5 ล้านเหรียสหรัฐจะดำเนินการเมื่อ PT.MAR ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จะใช้เงินทุนหมุนเวียนในการทำพัฒนาธุรกิจปาล์มอีกเฮกตาร์ละ 500-800 เหรียญสหรัฐฯ/ปี

ปัจจุบัน PT.MAR มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 5,000 ล้านรูเปี๊ยะห์อินโดนีเซีย หรือประมาณ 20 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 5,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000,000 รูเปี๊ยะห์อินโดนีเซีย ขณะที่บริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 40 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 942.5 ล้านบาท ประกอบด้วย หุ้นสามัญ 40 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 1 เหรียญสิงคโปร์

แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนซื้อกิจการโครงการพัฒนาธุรกิจปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียของ ปตท.ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสทางธุรกิจของ ปตท. ที่นับวันความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบริษัทย่อยของ บมจ.ปตท.เคมิคอล คือ บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตไบโอดีเซล (บี100) ขนาด 2 แสนตันและแฟตตี้แอลกอฮอล์ 1 แสนตัน ซึ่งใช้วัตถุดิบคือ น้ำมันปาล์ม ที่ส่วนใหญ่จัดหาจากในประเทศ

โดยไบโอดีเซลที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ขายให้ ปตท.และโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ คาดว่า ภายในสิ้นเดือนนี้จะสามารถเดินเครื่องจักรผลิตได้เต็มกำลังการผลิต 2 แสนตัน จากนโยบายรัฐที่ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทน ทำให้อนาคตจะเกิดโรงงานผลิต บี100 มากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นเกินซัปพลายที่ผลิตได้ ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ ปตท.จะป้อนน้ำมันปาล์มดิบที่อินโดนีเซียเข้ามาจำหน่ายในไทยได้

*** เอ็มโอยูหลักเกณฑ์ค่าเช่าท่อก๊าซ

นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า กรมธนารักษ์ และ ปตท.ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าตอบแทนในการใช้ทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้แก่กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยกรมธนารักษ์ และบริษัท จะใช้ข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจเป็นหลักการประกอบการทำสัญญาเช่าทรัพย์สินที่จะได้จัดทำขึ้น ซึ่งข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะมีผลบังคับต่อเมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทฯและหรือผู้ถือหุ้นของ บมจ.ปตท.ตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท และหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแล้วแต่กรณี

สำหรับข้อสรุปแนวทางการคิดค่าเช่าทรัพย์สินที่ได้ทำการแบ่งแยกมีสาระสำคัญดังนี้ 1.หลักเกณฑ์การคิดค่าเช่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กับกระทรวงการคลัง เป็นลักษณะของการแบ่งรายได้ โดยรายได้ค่าผ่านท่อที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณค่าเช่าจะคำนวณจากรายได้ค่าผ่านท่อที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปีของท่อที่เกี่ยวข้อง คูณสัดส่วนระยะทางของท่อที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง

2.อัตราค่าเช่าจะกำหนดเป็นอัตราขั้นบันได ดังนี้ รายได้ 0-3,600 ล้านบาท จะคิดอัตราค่าเช่า 5% รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 3,601-3,700 ล้านบาท คิดอัตราค่าเช่า 10% รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 3,701-3,900 ล้านบาท คิดอัตราค่าเช่า 15% รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 3,901-4,100 ล้านบาท คิดอัตราค่าเช่า 20% รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 4,101-4,300 ล้านบาท คิดอัตราค่าเช่า 25% รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 4,301-4,500 ล้านบาท คิดอัตราค่าเช่า 30% และรายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 4,501-5,000 ล้านบาท คิดอัตราค่าเช่า 36%

โดยสัญญาเช่าดังกล่าวมีกำหนด 30 ปี และ ปตท.สามารถต่อสัญญาออกไปได้อีกคราวละ 30 ปี โดยภาระค่าเช่าต่อปีที่ ปตท.ต้องจ่ายให้กับกระทรวงการคลังจะต้องไม่ต่ำกว่า 180 ล้านบาท และสูงสุดไม่เกิน 550 ล้านบาท

และ 3.อัตราค่าเช่าตามข้อ 2 จะคำนวณย้อนหลังนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่มีการแปลงสภาพการปิโตรเลียมฯ เป็น ปตท.โดยจากการคำนวณตัวเลขเบื้องต้นของ ปตท.คาดว่าค่าเช่าพร้อมดอกเบี้ยไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ถึงสิ้นปี 2550 คิดเป็นเงินรวมประมาณ 1,520 ล้านบาท ซึ่งการจ่ายเงินงวดแรกจะทำได้หลังจากที่กรมธนารักษ์ และ ปตท.ได้ลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น