ตรัง – โอเล่ดง กระทิงแดงยิม แชมป์โลก WBC แชมป์โลกชาวตรัง บวชทดแทนคุณพ่อแม่ที่บ้านเกิด ซึ่งเป็นกำลังใจสำคัญในการเดินสายชกมวย ตั้งใจฝึกสมาธิซึ่งสามารถนำไปใช้พัฒนาการชก
โอเล่ดง กระทิงแดงยิม แชมป์โลก WBC แชมป์โลกหนึ่งเดียวชาวใต้ ของประเทศไทยในขณะนี้ ซึ่งมีชื่อจริงว่า นายกิตติพงษ์ หรือ น้องโอ ใจกระจ่าง อายุ 22 ปี ชาวหมู่ที่ 6 ตำบลหนองปรือ อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ได้เดินทางกลับบ้านพักในจังหวัดตรัง เพื่อบวชแก้บนและทดแทนพระคุณพ่อแม่ หลังจากได้ครองแชมป์โลก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 จากการชนะคะแนน อีเกิล เด่นจุลพันธ์
ทั้งนี้ เพราะก่อนหน้าที่จะขึ้นยกชิงแชมป์โลกนั้น โอเล่ดง ได้บนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ว่า หากสามารถคว้าชัยชนะเป็นแชมป์โลกได้สำเร็จนั้น ก็จะกลับบ้านที่จังหวัดตรังเพื่อบวชทดแทนพระคุณพ่อแม่ และก็สามารถทำได้สำเร็จอย่างที่หวัง
โอเล่ดง ได้บวชที่วัดศรีรัตนาราม หรือวัดหนองช้างแล่น ตำบลหนองช้างแล่น อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง โดยครั้งแรก โอเล่ดง ตั้งใจที่จะบวชยังวัดเขาพระ ในพื้นที่อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง เนื่องจากอยู่ใกล้บ้านมากกว่า แต่ทางครอบครัวได้มีการจัดเตรียมงานไว้ที่วัดหนองช้างแล่น ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงอย่างมากในพื้นที่ และยังอยู่ห่างจากบ้านไม่ไกลมากนัก สะดวกในการที่จะให้น้าชายขี่รถจักรยานยนต์มารับ เพื่อให้โยมพ่อโยมแม่ได้บิณฑบาตที่บ้าน
สำหรับการบวชในครั้งนี้หวังไว้ว่า จะทำให้ตนเองมีสมาธิเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การชกมวยดีขึ้นด้วย และเมื่อนำมาผสมผสานกับคำสอนของพ่อที่เน้นย้ำเสมอตั้งแต่เริ่มเรียนวิชามวย เมื่อตอนอายุ 6 ขวบว่า การที่จะเป็นนักมวยที่ดีได้ จะต้องมีความอดทน และมีสมาธิที่แน่วแน่น ตั้งใจ ซึ่งจะส่งผลให้ขึ้นไปเป็นนักมวยที่เก่งคนหนึ่งในวงการมวย ดังนั้น การชกมวยทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ตนเองจะใส่ความตั้งใจ อดทน และสมาธิ เพื่อการชกที่ดีที่สุด จึงหวังว่าสมาธิที่ได้รับจากการบวชในครั้งล่าสุดนี้ จะเพิ่มฝีมือการชกมวยให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
โอเล่ดง เล่าอีกว่า หลังจากสึกแล้ว ตนก็ได้เดินทางเข้าค่ายฝึกซ้อมในทันที เนื่องจากก่อนที่จะบวช 1 วันนั้น ทางค่ายได้โทรศัพท์มาตาม เพื่อที่จะให้เข้าค่ายฝึกซ้อม ก่อนที่จะขึ้นชกป้องกันตำแหน่งประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2551 กับนักชกชาวญี่ปุ่น ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการเก็บตัวแต่ละครั้งนั้น จะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน โดยการฝึกซ้อมจะเน้นหนักที่พละกำลัง เนื่องจากตนเองเป็นมวยที่อ่อนแรง จึงต้องขยันในการฝึกซ้อม และฝึกซ้อมนานกว่านักมวยคนอื่นๆ เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังและเรี่ยวแรง
สำหรับลักษณะเด่นของตนเอง ถือได้ว่าเป็นมวยที่มีชั้นเชิง ฝีมือ และมีช่วงจังหวะที่ดี สามารถอ่านเกมและแก้เกมคู่ชกได้ ส่วนเป้าหมายในการชกมวยอาชีพนั้น ก็หวังไว้ว่าจะทำให้ดีที่สุด โดยไม่เคยคาดหวังว่าจะป้องกันตำแหน่งไปอีกกี่ไฟต์ แต่ทุกไฟต์ที่ขึ้นชกนั้นจะทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าผลที่ออกมานั้นจะเป็นเช่นไร และจะไม่เสียใจ เพราะตนเองทำดีที่สุดแล้ว พร้อมทั้งจะไม่ทรยศกับตนเองและคำสอนของพ่อ ที่ย้ำเสมอว่าไม่ว่าจะทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด แล้วผลลัพธ์ก็จะออกมาดีตามที่เรากระทำ
โอเล่ดง เล่าถึงชีวิตหลังการเป็นแชมป์โลก ว่า ในขณะนี้เริ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย โดยมีคนรู้จักมากขึ้น และเมื่อไปไหนมาไหนมีคนจำได้ว่าเป็นแชมป์โลก ก็เข้ามาทักทายและแสดงความยินดี ซึ่งก็รู้สึกดีใจ แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปมากกว่านี้
ส่วนรางวัลที่ได้จากการชกมวยแต่ละครั้ง ตนเองได้ส่งกลับมาให้พ่อและแม่เก็บไว้ใช้จ่ายภายในบ้านที่จังหวัดตรัง และก็มีบางครั้งที่ตนเองไม่มีเงิน ก็จะโทรศัพท์มาขอกับทางบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องการเรียน โดยขณะนี้กำลังเรียนที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ระดับชั้นมัธยมปลาย สำหรับทรัพย์สินอื่นๆ นั้นยังไม่ได้คิดสร้าง เนื่องจากทางบ้านยังคงมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก โดยจะพยายามเก็บเงินให้ได้มากที่สุด เพื่อครอบครัวจะได้สะดวกบายมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
สำหรับประวัติโดยย่อนั้น โอเล่ดง เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายเสมอ กับนางสมจิตร ใจกระจ่าง ซึ่งนายเสมอ ผู้เป็นพ่อเป็นนักมวยเก่า อดีตมีชื่อในวงการมวยว่า สิงห์เสมอ ลูกเจ้าแม่ไทรบ่วง และได้ตั้งค่ายมวยเป็นของตนเองเมื่อปี 2534 ด้วยการนำอุปกรณ์การชกมวยเก่าๆ จากค่ายมวยอื่นๆ มาใช้ฝึกซ้อม โดยใช้ชื่อค่ายมวยว่า ศิษย์เสมอชัย และได้ให้ลูกชายคนที่ 2 ฝึกหัดชกมวยไทย ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ในชื่อว่า โอเล่ห์ดง และพาตระเวนชกไปทั่วภาคใต้ จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยเฉพาะหลังจากได้แชมป์จากเวทีทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในรุ่นน้ำหนัก 55 ปอนด์ เป็นครั้งแรก
ต่อมาก็ขึ้นชิงแชมป์ภาคใต้ ในรุ่นน้ำหนัก 60 ปอนด์ ที่เวทีหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อปี 2542 จากนั้น คุณพ่อก็เลิกทำค่ายมวย เนื่องจากหมดทุน ส่วนนักมวยในค่าย ได้ให้ย้ายเข้าไปอยู่กับค่ายมวย ใหม่ เมืองคอน
จากนั้นมา โอเล่ดง ก็ได้เริ่มชกมวยสากลสมัครเล่น โดยเป็นตัวแทนของโรงเรียนผดุงศิษย์พิทยา จนสามารถคว้าแชมป์นวมทอง 3 ปีซ้อน และได้หันชกมวยสากลอาชีพ ในสังกัดค่ายมวย ทุ่งสงทักษิณ เมื่อปี 2545 จนมีโอกาสขึ้นชิงแชมป์โลก รุ่นน้ำหนัก 105 ปอนด์ จนได้เป็นแชมป์ รุ่นสตรอว์เวต ABCO และแชมป์เยาวชน WBC ของสภามวยโลก และสามารถครองแชมป์เยาวชน ได้นานถึง 16 ครั้ง ก่อนที่จะสละแชมป์เยาวชน แล้วหันมาชกไต่อันดับ จนสามารถชิงแชมป์โลก รุ่นสตอร์เวต น้ำหนัก 105 ปอนด์ WBC ของสภามวยโลก มาได้สำเร็จ