xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) 2 ปีโควิด! ไม่ปิดโรงแรม ไม่ไล่ออก เปลี่ยนใหม่เพื่อไปต่อ...ด้วยกัน “รอยัลริเวอร์ ออร์แกนิค ฟาร์ม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การมองหาโอกาสให้เจอในท่ามกลางวิกฤต คือวิธีคิดเพื่อการรับมือช่วงโควิดฯ ที่ผ่านมา รอยัลริเวอร์ก็ไม่ต่างจากโรงแรมอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ แต่การไม่ไล่ออกแถมยังฝึกทักษะวิชาชีพให้ กลับกลายมาเป็น Positioning ใหม่ของธุรกิจในปัจจุบันด้วย


คุณตามโพธ ต่อสุวรรณ ตำแหน่ง Strategic Planning Director ของ Royal River Hotel Group บอกกับเราว่า โรงแรมรอยัลริเวอร์เปิดดำเนินกิจการมาถึงตอนนี้ก็ประมาณ 37 ปีแล้ว ขณะที่อายุของตัวอาคารจริง ๆ ก็ร่วมประมาณ 40 กว่า ซึ่งที่นี่ก็จะมีพื้นที่เยอะมากที่เป็นพื้นที่ทั้ง ข้างอาคาร ภายนอกอาคาร อย่างตรงนี้ก็เป็นพื้นที่ริมน้ำ (แม่น้ำเจ้าพระยา) ก็ประมาณ 1,000 ตร.ม. ที่เป็นของโรงแรม ซึ่งปัจจุบันก็จะเป็นผู้บริหารรุ่น 2 ที่เข้ามาบริหารโรงแรมอยู่ ซึ่งในส่วนของตนเองก็ทำงานทางด้านการวางแผน กลุ่มลูกค้าก็จะมีทั้ง นักท่องเที่ยว ทัวร์ รวมไปถึงหน่วยงานราชการ ก็จะเป็นปกติเหมือนกันกับโรงแรมในแถบ ๆ นี้ทุกโรงแรม

“จุดเริ่มต้นจริง ๆ สำคัญมันต้องย้อนไปจนถึงปี 2554 ก็คือปีที่น้ำท่วม คือโรงแรมเนี่ยน้ำท่วมหมดเลย ชั้น1 คือหมดเลย ไม่มีเหลือเลย โรงแรมต้องปิด ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่ได้เข้ามาทำงานแต่ว่า เข้ามาช่วยเหลือโรงแรมก็คือเข้ามาช่วยดูในช่วงน้ำท่วมการวางแผนการจัดการน้ำหรือการวางแผนในการซ่อมบำรุง ก็เข้ามาช่วยตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งจริง ๆ ตอนนั้นผมอยู่กับน้ำในโรงแรมนี่แหละ แล้วผมก็นึกในใจว่าพนักงานโรงแรม ณ ขณะนั้นมีประมาณสัก500 กว่าคน ผมมีความรู้สึกว่า ถ้ามันเกิดอะไรขึ้นกับโรงแรมแบบเนี้ย อย่างเช่นน้ำท่วมแล้วโรงแรมต้องปิด พนักงานเหล่านี้เขาจะมีคือเขาจะออกไปข้างนอกเนี่ย เขาจะสามารถอยู่รอดในโลกข้างนอกได้มั้ย” เพราะว่าถ้าน้ำท่วมหรือเกิดอะไรขึ้นสักอย่างซึ่งตอนนั้นตนเองก็ยังไม่รู้ว่าจะมี “โควิด-19”มา แต่ก็คิดว่าเราอยู่กันมา30 ปี40 ปี ธรรมชาติไม่เคยส่งน้ำมาเยอะขนาดนี้มาท่วมเรา วันนี้ส่งน้ำมาท่วมเราได้ วันใดวันหนึ่งก็อาจจะส่งอะไรสักอย่างมา


“ซึ่งมันอาจจะถึงจุดที่เราไม่สามารถไปหางานทำได้ พนักงานของเราไม่สามารถไปหางานทำได้ ผมก็มีคำถามกับตัวเองว่า
แล้วตัวพนักงานเองเขาจะอยู่รอดได้ยังไงในสภาวะแบบนั้น ซึ่งตอนนั้นผมไปนั่งคิดดู เราก็ดูสภาพทั่ว ๆ ไปแล้วผมก็มีความรู้สึกว่า ผมอยากจะฝึกให้พนักงานมี 
3 Skill ซึ่งผมเชื่อว่า 3 สกิลนี้ ถ้ามีแล้วไม่ว่าสภาวะไหนคุณสามารถพอจะเอาตัวรอดได้ สกิลแรกคือ สกิลช่าง ไม่ว่าสภาวะไหนมนุษย์เรามีอารยธรรมหนึ่งต้องใช้ช่าง สกิลที่สองก็คือ สกิลอาหาร ตอนที่ผมคิดเนี่ยน้ำท่วมแค่ผมมีความรู้สึกว่า ทุกคนต้องกิน ถ้าคุณทำอาหารเป็นก็รอด แล้วเราก็มาเห็นอีกทีหนึ่งช่วงโควิดฯ ว่าสุดท้ายคนตกงานคือมาขายอาหารออนไลน์กันหมด แล้วประคับประคองชีวิตจนรอดออกมาได้ สกิลที่สามก็คือ สกิลเกษตร ผมมองว่าประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่นเยอะ ประเทศอื่น ๆ เมืองหนาวเนี่ยเขาปลูกอะไรก็ยาก ประเทศไทยอากาศดี ดินดี น้ำก็ดี”



“โอกาส” ในวิกฤต เมื่อโควิด-19 คือตัวเร่งเปลี่ยน!
จนมาถึงจุดที่ “โควิด-19” มา“ผมก็รู้แล้วว่าชะตากรรมโรงแรมคือ เราโดนปิดแน่! คือโดนปิดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าลูกค้าจะไม่มา แต่ปิดหรือไม่ปิดมันขึ้นกับเรา เราเลือกเองว่าจะปิดหรือจะเปิดต่ออยู่ที่เราแล้ว พอมาถึงจุดนี้ ผมก็เลยบอกผู้บริหารว่า มันคือโอกาสมันคือโอกาสที่จะทำให้เราได้เปลี่ยน เพราะว่าโควิดฯ โรคระบาด ถ้าเราดูในประวัติศาสตร์เราจะรู้เลยว่า โรคระบาดไม่มีทางมาด้ว ยwave เดียว มันจะมาหลายเวฟแล้วมันกินเวลาประมาณหนึ่ง ซึ่งเราทำอะไรไม่ได้เป็นแฟคเตอร์ภายนอก เราทำอะไรไม่ได้กับเขา เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่เราทำได้ คือ ต้องหาโอกาสในวิกฤตให้เจอ”

3 ทักษะ(Skill) ที่ตนเองอยากจะทำมันก็จะrelate ได้กับ “จุดแข็ง” ของโรงแรมในอนาคต เพราะดูแล้วว่าเรื่องของ Green Hotel เรื่องของ Environment เรื่องของสุขภาพ คือยังไงก็มา ยังไงก็เป็นเทรนด์แน่นอน เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดเป็น “ออร์แกนิคฟาร์ม”จุดสตาร์ทขึ้นมา คือเริ่มจากการอยากปลูกต้นไม้ก่อน


สู่...Royal River Organic Farm
ก็ได้ไปดูงานกับ “สวนผักคนเมือง” มาด้วย และก็ขอให้ทางสวนผักคนเมืองส่งวิทยากรมาช่วยทางโรงแรมด้วย เพราะว่าตอนนั้นยังปลูกอะไรไม่ได้เลย เป็นพื้นปูนเราก็เลยขอให้ทาง สสส.และก็สวนผักคนเมือง ส่งวิทยากรมาช่วยเรา ซึ่งก็ดีมากสวนผักคนเมืองก็ส่งวิทยากรมาช่วยเราจริง ๆ โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย ก็มาสอนเราทุกอย่าง มาแนะนำ พอเขาเห็นว่าอ๋อคุณจะทำแบบนี้ แบบนี้ ๆ ก็มาแนะนำ” การใช้ “อ่างอาบน้ำ” และ “อ่างล้างหน้า” มาทำเป็นแปลงปลูก ก็เกิดจากการที่สวนผักคนเมืองมาดูให้“ผมก็บอกกับเขาว่าจริง ๆ ผมมีอ่างแต่ผมไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้มันมาใช้ได้ เพราะมันก็เป็นลักษณะเหมือนกระถางแหละตอนนั้นเราก็รู้สึกแบบนั้น แต่เราก็ไม่มีความรู้พอที่จะแบบว่าเอ๊ะมันต้องใส่อะไรลงไปในนั้นบ้าง ทำยังไง ก็เป็น สสส. เองบอกว่าถ้ามีอ่างแบบนี้นะใช้ได้หมดเลย คุณทำเลยแบบใช้ได้แน่นอน” ก็เลยเป็นที่มาว่างั้นเรามาปรับกัน ก็มาเปลี่ยนเป็นการใช้ “อ่าง” ทั้งอ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า จริง ๆ ส้วมก็ใช้ปลูกได้แต่คาดว่าก็คงไม่มีใครกล้าทาน ก็เลยเอาส้วมไปทำแค่เป็นเหมือนกับฐานรองทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้คือ Waste ซึ่งทางโรงแรมเองมีอ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า ไม่ต่ำกว่า 200-300 ชิ้น/อย่าง เพราะว่าเวลามีการรีโนเวตคือพวกนี้จะต้องรื้อออกทั้งหมด

ก็เป็นจุดคลิกสตาร์ทเรื่องของสวน “ออร์แกนิคฟาร์ม” ทั้งหมดก็เริ่มขึ้นมา ในช่วงเดียวกันตอนนั้นมี สสส. มาสอนเรื่องการเกษตร ตนเองก็ไปหา “ช่าง” เก่ง ๆ ที่รู้จักกันเพราะว่าเวลาทำอะไรแบบนี้มันจำเป็นต้อง มีงานช่าง เพราะอ่างอาบน้ำมันไม่ได้ตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเองต้องมีขาตั้งหรืออะไรต่าง ๆ ต้องมีงานช่างซึ่งมันต้องใช้ ก็ไปหาช่างที่มีฝีมือรวมทั้งช่างในโรงแรมเพื่อมาสอนพนักงานให้ทำให้เป็น


พึ่งพาตนเองได้ แบบเศรษฐกิจพอเพียง
ตอนนั้นทางโรงแรมเองก็มีงบประมาณน้อย จะจ้างผู้รับเหมามาก็ไม่ได้ ก็ใช้แบบเอาคนของทางโรงแรมเอง ซึ่งมาทำงานอยู่แล้วแต่ไม่มีงานทำ “เราก็ให้คนที่สนใจนะครับ อันนี้เป็นสมัครใจ พนักงานคนไหนสมัครใจงานช่างมาลงชื่อสมัคร เราเอาวิทยากรมาสอน เราเอาช่างในโรงแรมมาสอน ผมสอนหมดนะครับตั้งแต่งานเหล็ก อ๊อคเหล็ก การทำเกี่ยวกับงานเหล็กทั้งหมด การทำสี การยาแนวกระเบื้อง เพราะเราต้องมีซ่อมห้องที่ยาแนวแตกต่าง ๆ ไปจนถึงปูพื้นลามิเนต”จริง ๆ แล้วมันเป็นเหมือน “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่จะต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ ไม่ใช่แบบทุกอย่างก็ต้องจ้างช่างจากข้างนอกมาทั้งหมด ถ้าพนักงานเราเพียงแค่ “ทำได้” ก็จะสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ช่วงนั้นก็จะมีประกบกันไประหว่างการสอน “เกษตร” การสอน “ช่าง” ในส่วนของ “อาหาร” ก็จะมีแม่ครัวของทางโรงแรมเองอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องจ้างใครมาสอน เราก็สอนกันเอง


แปลงขยะอาหารให้เป็น “ปุ๋ย” สำหรับปลูกผัก
พอเป็นการเลี้ยงในอ่างปลูกไปดินก็จะค่อย ๆ หายไป อาจจะออกไปกับน้ำหรือละลายไปก็แล้วแต่ ที่จะต้องมีการสูญเสียไป“เราต้องซื้อทั้งดินและปุ๋ย ซึ่งงบประมาณการลงทุนน่าจะเริ่มเยอะ ทางฝ่ายที่ดูแลต้นไม้เขาก็บอกว่ามันใช้งบประมาณในการดูแลเยอะเหมือนกันนะ ผมก็เลยเริ่มศึกษาว่า เรารู้แหละว่าปุ๋ยอินทรีย์มันทำได้ แต่ว่าในเทคโนโลยีช่วงแรกที่เรามีเครื่องเอาอาหารมาทำเป็นปุ๋ย เครื่องมันแพงมาก ซึ่งเราลงทุนไม่ได้และก็เราไม่มีความรู้มากพอที่จะทำงานกับมัน ผมเลยตัดสินใจขอความช่วยเหลือจาก สสส.อีกรอบหนึ่ง เพราะว่าตอนนั้นเขาเคยแนะนำเราแล้วว่าจริง ๆ คุณทำปุ๋ยหมักได้เองเลยนะ ก็เลยเชิญวิทยากรกลับมาสอนเราอีกรอบหนึ่ง”


โดยที่ใช้ “อ่างอาบน้ำ” ทำอยู่ดีแล้วก็มี “ขยะอาหาร” อยู่แล้วด้วย เราก็แค่เอาขยะอาหารมาหมักกับดินที่ใช้ปลูกไปแล้ว เพราะถือเป็นการเติม “ปุ๋ย” ให้กับดิน ก็จะมีการre-use ดินจากอ่างที่ปลูกแล้ว มาใส่ลงในอ่างที่ทำปุ๋ย แล้วก็นำขยะอาหารมาหมัก ก็จะมีกระบวนการในการหมัก โดยใน 1 อ่าง ที่จะออกมาเป็นดินพร้อมใช้ ก็คือ 25 วัน ก็แก้ปัญหากันไปเรื่อย ๆ พยายามที่จะ Find The Way ว่าจะทำยังไงได้บ้าง จนสุดท้ายคือสามารถผลิตได้ ผลิตปุ๋ยเองได้ด้วยวิธี Manual ไม่มีเครื่องจักรไม่มีใด ๆ ทั้งสิ้น ก็สุดท้ายก็ใช้แค่ เศษอาหาร กับกากน้ำตาล และก็แรงของพนักงานในการคลุก“ตลอดมาในช่วงโควิดฯ เราก็ดำเนินการมา ลองปลูกนั่นนี่โน่นมาเรื่อย ๆ ตัวปุ๋ยนี่เป็นปัญหาแน่นอนตั้งแต่ตอนนั้น ผมดูแล้วว่าถ้าโรงแรมเปิดเต็ม capacity เศษอาหารมันจะเยอะมาก ระบบของเราที่เป็นแมนนวลรองรับเศษอาหารไม่ไหวแน่นอน ตอนนั้นใจผมเนี่ยไป พอทำแบบนี้ได้เริ่มมีความอยากมากขึ้นแล้ว มันไม่หยุดแค่นี้แล้ว ผมอยากที่จะทำให้โรงแรมเราเป็น Zero Food Waste คือไม่มีเศษอาหารออกไปนอกโรงแรมเลย”


สร้างสวนผัก ที่ได้มากกว่าผัก
ก็ศึกษาข้อมูลในช่วงโควิดฯ ไม่ได้ไปดูงานแต่ว่าก็มีการติดต่อกับต่างประเทศ เช่น ทางเกาหลี ไต้หวัน มาเลเซีย และบริษัทที่เป็นคนไทยเอง บริษัทเหล่านี้ที่ทำของคนไทยก็นำเข้ามาบ้างบางบริษัท ติดต่อไปพร้อมกับศึกษาข้อมูลไปเรื่อย ๆสุดท้ายเราก็ได้ตอนก่อนโควิดจะจบ เราก็ได้เครื่องทำปุ๋ยมา 2 เครื่อง ใช้ 2 เครื่องเป็นแบบ 2 ระบบ พอเราอยากเอาอาหารไปทำเป็นปุ๋ยเลยเกิดอีกระบบหนึ่งขึ้นมา คือ ระบบแยกขยะ เราเลยต้องทำด้วย เพราะถ้าเราเอาทุกอย่างใส่ลงไปในถังขยะเดียวกัน อาหารด้วย พลาสติกด้วย เศษกระดาษด้วย ทำปุ๋ยไม่ได้เครื่องไม่สามารถทำได้” เพราะฉะนั้นจะต้องมีการย้อนกลับไปทำระบบแยกขยะก่อน ขยะอาหารจะไปไหน ขยะพลาสติกจะไปไหน ขยะกระดาษจะไปไหน ซึ่งจะต้องทำตั้งแต่ต้นทางเลยมันก็เลยกลายเป็นลามไปตอนหลังจากโควิดฯ เปิดก็เลยเป็นที่มา ที่เราไปร่วมโครงการกับ กทม. เอาขวดพลาสติกไปผลิตเป็นเสื้อของคนกวาดถนน ไปบริจาคก็จะมีหน่วยงานของ กทม. เข้ามารับจากเราไป ขยะกระดาษก็จะมีหน่วยงานที่ร่วมมือกับ กทม. มารับไปเพื่อเข้าโรงแยกรีไซเคิล ส่วนขยะอาหารเราก็เอามาใช้เองในการทำปุ๋ย”ปัจจุบันทำให้ทางโรงแรมเองเหลือขยะที่ส่ง กทม. เหลือแค่ประมาณ 1 ใน 10 ของที่เคยจะต้องส่ง เพราะฉะนั้นก็น้อยลงไปเยอะ




ความยั่งยืน เพื่อทุกคนไปต่อ...ด้วยกัน
คุณตามโพธ ต่อสุวรรณ ผู้จัดการฝ่าย Strategic Planning Director ของ Royal River Hotel Group บอกด้วยว่า พอโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายทางโรงแรมเองก็เลยคิดว่า อันนี้เป็น “จุดขาย”อีกจุดหนึ่งของรอยัลริเวอร์เพราะว่าตอนนี้เรามีผักปลอดสารพิษให้ลูกค้าแล้ว เราสามารถปลูกผักปลอดสารพิษได้ เราทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งก็จะมีลูกค้าหลายรายที่สนใจทางด้านนี้ก็มาพักกับเรา แล้วก็มาดูวิธีการของเรา เป็นเวิร์กช็อป เป็นสถานที่ทัศนศึกษาของนักเรียน โรงเรียนแถวนี้คุณครูเมื่อรู้ข่าวก็ติดต่อมาขอพานักเรียนเข้ามา บางมหาวิทยาลัยที่อยากจะสอนเรื่องนี้ ก็กลายเป็นว่าอยากให้ผมสอน แต่ว่าพอดีผมไปไม่ได้เขาก็ยกนักเรียนมาเรียนที่นี่ ก็มาเป็นลูกค้าของโรงแรมแบบขอจัดสัมมนาที่นี่พานักเรียนมาเรียน แต่ให้ผมเป็นวิทยากรให้พร้อมกับดูงานของโรงแรมไปด้วยในระบบเรื่องพวกนี้ทั้งหมด” นั่นก็คือที่มาของ Positioning ใหม่ของโรงแรมที่จะเป็น Green Hotel ด้วย ที่ไม่ใช่ “Green” แบบแค่ green แต่ว่า“เราใช้คำว่าเป็นการ “เปลี่ยน” เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ เรามั่นใจว่าไม่ว่าจะเกิดสภาวะไหนต่อไปนี้ โรงแรมพอจะสามารถ “พึ่งพาตนเอง” ในสภาวะวิกฤตได้ เพราะ2 ปีของโควิด-19 เกือบสองปีกว่าของโควิดฯ ที่ผ่านมา เราไม่ปิดโรงแรม ไม่เคยไล่พนักงานออก เราsurvived ด้วยวิธีการทำแบบนี้”

เปลี่ยนใหม่เพื่อไปต่อ...ด้วยกัน ขอบคุณตัวอย่างของการปรับตัวในการนำพาธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น
และกลายมาเป็น “จุดขาย” ใหม่ของธุรกิจที่กำลังได้รับความสนใจการตอบรับจากลูกค้า สำหรับ Royal River Hotel Group หลังข้ามผ่านวิกฤต “โควิด-19” มาได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าที่เคย สำหรับธุรกิจอื่น ๆ ที่สนใจสามารถไปดูงานหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทางรอยัลริเวอร์ได้ด้วยเช่นกัน



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น