xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นสุดการรอคอย “ลิ้นจี่ค่อม” อัมพวาปีนี้ติดดกสะใจ! แถมราคาก็น่าซื้อมาก ๆ จากสวนใครอยากชิมจัดเลย!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความยากของที่นี่ก็คือ เรื่องอากาศ (หนาว) ที่ไม่ค่อยแน่นอนจึงทำให้บางปี “ลิ้นจี่ค่อม” อัมพวาไม่มีผลผลิตออกมาเลย! หรือปีเว้นปีถึงจะได้ชิม แต่ด้วยรสชาติที่ทำให้ติดใจ รสเปรี้ยวอมหวาน เนื้อแห้ง ล่อน ไม่แฉะน้ำ เลยเป็นที่รอคอยของคนที่รัก

ลิ้นจี่ค่อมอัมพวา เนื้อแห้ง ล่อน ไม่แฉะน้ำ รสเปรี้ยมอมหวาน กินอร่อย
และการเข้ามาของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ก็ถือว่าตอบโจทย์ตรงใจของคนในพื้นที่ได้พอดี ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยที่นำมาทำการสาธิตในครั้งนี้ ได้แก่1. นวัตกรรมการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพลิ้นจี่พันธุ์ค่อม สาธิตการผลิตลิ้นจี่ในแปลงเกษตรก จำนวน 7 แปลง ต้นลิ้นจี่อายุ 50-100 ปี จำนวน 200 ต้น ทำการเตรียมต้นโดยฉีดพ่นฮอร์โมนและสารบำรุงก่อนเข้าฤดูหนาว(ล่วงหน้า2 เดือน) ให้ออกใบอ่อนพร้อมกันและได้รับสารบำรุงทางใบเพิ่มความสมบูรณ์และมีใบแก่รอฤดูหนาว มีการฉีดพ่นสารหยุดยอดสารจะคุมไม่ให้ออกใบอ่อนอีกในช่วงนี้ จนกระทั่งพอเจอฤดูหนาวแล้วมี “ดอก”ฉีดพ่นฮอร์โมนเพิ่มดอกเพศผู้เพื่อเพิ่มการติดผล เมื่อติด “ผล” ฉีดพ่นสารขยายขนาดผลและสารบำรุงเพิ่มขนาดของผลและลดการหลุดร่วงของผล 2.นวัตกรรมการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว วว.ได้มอบ “ชุดรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลิ้นจี่แบบเคลื่อนที่” แก่ตัวแทนเกษตรกรเพื่อนำไปใช้กับผลผลิตลิ้นจี่พันธุ์ค่อมต่อไป โดย ศนก.วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ได้นาน 3 สัปดาห์ เนื่องจากแก๊สกำมะถัน (สารซัลเฟอร์) สามารถกำจัดโรคพืชที่ติดมากับผล มีกำลังผลิต 200 กิโลกรัม/ครั้ง ใช้เวลาการรมประมาณ 2 ชั่วโมง ประกอบด้วยตู้ทนกรดขนาด 120x120 เซนติเมตร สำหรับใช้บรรจุลิ้นจี่และต่อท่อเข้ากับชุดเผากำมะถัน ซึ่งจะใช้กำมะถัน 300 กรัมต่อลิ้นจี่ 200 กิโลกรัม หลังจากการรม 2 ชั่วโมง แล้วดูดแก๊สกำมะถันออกไปบำบัด ในส่วนของระบบจะบำบัดด้วยด่างต่อไป ทั้งนี้ WHO กำหนดค่าความปลอดภัยไว้ คือ ปริมาณที่ได้รับไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัม/คน/วัน ซึ่งฤดูการผลิตล่าสุดนี้(ปีนี้) ถือว่าสามารถสรุปผลที่ได้อย่างน่าพอใจมาก ๆ

ต้นลิ้นจี่อายุ 50 ปีขึ้นที่ปีนี้ให้ผลผลิตดกสะพรั่งเต็มต้นแบบนี้
“สำหรับผม ผมว่ามันโอเค100% สำหรับผมนะ! การใช้ก็ง่ายใช้ฉีดปกติตามที่เราเคยใช้ แต่เขาก็จะมีสูตรมาว่าให้เราใช้เท่าไหร่
มันทำให้ได้เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณลูกทั้งน้ำหนัก คือมันมากลูกกว่าแล้วน้ำหนักเนี่ย ลูกไม่ใหญ่แต่มันได้น้ำหนักดีขึ้นด้วย”
นายบุญมา นวมสุคนธ์ เกษตรกรเจ้าของสวนลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ในตำบลแควอ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม บอกถึงความพึงพอใจในเทคโนโลยีใหม่จาก วว. ที่เข้ามาช่วยทำให้ตนเองได้รับผลผลิตที่น่าพอใจสำหรับปีนี้ และยังเล่าให้ฟังด้วย“ปัญหาของการผลิตลิ้นจี่ที่ผ่านมาคือมันน่าจะเป็นที่ “อากาศ” มันปรวนแปร คือหนาวเร็วอะไรเงี้ย(หนาวไม่นาน) แต่อย่างของปีนี้หนาวนาน หนาวซะ 60 วันอย่างเงี้ย มันก็เกินไป เกินความต้องการของลิ้นจี่ ซึ่งพืชนี้เขาจะชอบอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 16-17 องศาฯ อย่างน้อย ๆ ต้องมี 15 วัน แต่บางปีอุณหภูมิก็สูงไป อย่างเช่น 20 กว่า แต่อย่างปีนี้มันก็ลดไปถึง 12-13 องศาฯ เลย ดีที่ว่ามีทาง วว. เข้ามาแนะนำในเรื่องของการผลิตแบบใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย มันก็เลยทำให้เรายังได้ผลผลิตอยู่ และมันค่อนข้างที่จะดีกับลิ้นจี่พันธุ์ค่อมตัวนี้”

นายบุญมา นวมสุคนธ์ เกษตรกรสวนลิ้นจี่อัมพวา

การเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ที่ยังใช้ พะองช่วยในการปีนขึ้นไปเก็บบนต้นตามแบบดั้งเดิม
นายบุญมายังบอกด้วย อย่างเมื่อก่อนตรงนี้ออกลูกต่อปีแค่ 20 ต้นเอง จากทั้งหมดกว่า 68 ต้น“เป็นเพราะอากาศด้วย และการดูแลของเราเองด้วย แต่พอมาใช้สารตัวนี้จากการแนะนำของ วว. แล้วเราก็ดูแลเรื่อยมาตั้งแต่ ก่อนจะแตกใบอ่อน จนแตกใบอ่อน จนใบแก่ จนมันเป็นดอก จนมันเป็นลูก จนเนี้ยะจนลูกแก่ ผลผลิตมันจะดีกว่า” ตรงนี้ปีนั้นมันออกตนเองกะเอาไว้ว่าสักประมาณ 2 ตัน แต่สรุปแล้วก็ได้อยู่ที่ตันหน่อย ๆ แล้วพอมาใช้สารจากทีมด็อกเตอร์ที่มาแนะนำ ขนาดต้นนั้นเคยหัก(เก็บลูก) ได้แค่ไม่ถึง 200 กก. แต่รอบนี้ถ้าลูกไม่แตกไม่เสียหายต้นนี้ถึง 500 กก. ซึ่งแต่ละต้นก็จะได้ปริมาณของผลผลิตมากน้อยกว่ากันแตกต่างออกไป ตามขนาดของทรงพุ่มต้นเป็นสำคัญด้วย(พุ่มใหญ่ก็ได้เยอะกว่า) หรืออย่างต้นนี้ปีที่แล้วได้แค่ 20 กก.เอง แต่ตอนนี้ตนเองหักขายไปกว่า 20 กก.แล้ว ก็ยังเหลืออยู่บนต้นอีกตั้งเยอะซึ่งคาดว่ารวม ๆ แล้วก็น่าจะได้ถึง100 กก./ต้น

เจออากาศร้อนจัดในช่วงนี้ทำให้ลิ้นจี่สุกไว(ผิวแดงเร็วกว่าปกติ) และถ้าหากเก็บช้าก็มีผลแตกด้วยซึ่งส่วนนี้ขายไม่ได้ต้องนำมาแปรรูปทำแห้งแบบเดียวกับลำไยด้วย
เกษตรกรเล่าให้ฟังว่า จากความไม่แน่นอนของผลผลิตลิ้นจี่ค่อมที่ผ่านมา ก็เลยทำให้ต้องหันไปทำพืชเศรษฐกิจตัวอื่นควบคู่ อย่างเช่นทำ ส้มโอ(พันธุ์ขาวใหญ่) และทำมะพร้าวฯ ด้วย เป็นต้น เพื่อที่จะรอลิ้นจี่ซึ่งตอนนี้ “ลิ้นจี่” กลายเป็นพืชรองของคนในพื้นที่ไปแล้ว ส้มฯ กลายเป็นพืชหลักขึ้นมาแทน อย่างของตนเองการทำลิ้นจี่ก็จะเป็นลักษณะการเช่าสวนของคนอื่นทำอีกที(จะไม่ใช่สวนที่ตนเองปลูกเอง) ซึ่งปัจจุบันก็มีทำรวมกันอยู่ประมาณ 16-17 ไร่ในส่วนของการทำลิ้นจี่ราคาถือว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ปีนี้ แต่ผมไม่รู้นะ ผมเพิ่งจะทำวันนี้เพิ่งจะหัก แต่ก็เห็นเขาขาย ๆ กันมี 150 บ้าง 180 บ้าง 200 บ้าง สุดแท้แต่รสชาติ ลูก(ขนาดผล) เพราะตรงกับช่วงเทศกาลวันไหว้ “เชงเม้ง” ด้วย แต่ว่าเนี่ยหลังจากนี้มันจะวูบ ๆ ลงไปเลย ถ้าคนทานลิ้นจี่รสชาติไม่จัด พอมาเจอรสชาติจัดคนก็อิ่ม คราวนี้มันก็เลยพอถึงช่วงรสชาติดี คนก็จะกินน้อยลง”อย่างของตนเองเริ่มเปิดขายที่ราคา 150 บาท/กก. มีวางขายที่หน้าบ้านบ้าง และทำส่งให้กับคนกลางด้วยต่อไป ปีนี้ผลผลิตในพื้นที่รวม ๆ แล้วคาดว่าจะมีมากถึงกว่า 3,000 ตัน ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้วและน่าจะไปสิ้นสุดฤดูกาลจริง ๆ ก็ช่วงประมาณต้นเดือนพฤษภาคม

หลังเก็บจากต้นมาโดนอากาศทำให้ผิวลิ้นจี่ ดำ ไม่สวยแต่หากมีเทคโนโลยีช่วยผิวก็จะสวยแบบนี้ได้นานกว่า

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. พร้อมทีมนักวิจัยร่วมมอบเครื่องรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์แบบเคลื่อนที่ให้แก่ตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่สำหรับใช้ค่อไป
ด้านตัวแทนกลุ่ม “แปลงใหญ่ลิ้นจี่ตำบลแควอ้อม”นายอโนชา หลีสุวรรณ ซึ่งเป็นอดีตกำนันพร้อมด้วย นายจีรศักดิ์ เฮงประเสริฐ เจ้าของสวนลิ้นจี่200 ปี(ต้นพันธุ์ค่อม) ก็ร่วมกันสะท้อนให้ฟังถึงสถานการณ์ผลิตที่ผ่านมา “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” ของคนในพื้นที่ว่า ความที่ลิ้นจี่ของที่นี่ไม่ได้ถูกบรรจุให้เป็น “พืชเศรษฐกิจ” เพราะด้วยไม่แน่นอนในเรื่องของผลผลิต ที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ(หนาว) ในแต่ละปีเป็นสำคัญ ดังนั้นการผลิตจึงเริ่มแปรเปลี่ยนไปสู่พืชเชิงอนุรักษ์มากกว่าแล้วปัจจุบัน “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” ของอัมพวาก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอ(สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ด้วย บางปีผลผลิตออกน้อยถึงไม่มีเลยก็มี แต่ว่าสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ “ราคา” มักขึ้น-ลงตามภาวการณ์ของตลาดเช่นเดียวกับพืชอื่น และสวนทางกับ “ต้นทุนผลิต” ที่เจ้าของสวนต้องแบกรับโดยเฉพาะค่าแรงงานที่ถือว่าแพงมาก ทำให้ต้องมีการขายแบบ “เหมาสวน” เข้ามาแทนตกลงราคาซื้อที่กิโลกรัมละกี่บาท(สมมุติว่า 60 บาท/กก.) ซึ่งถ้าสวนยอมรับได้ก็ขายได้หมดทั้งสวนไปเลย หรือถ้าใครพอมีแรงงานทำได้ “การห่อผล” จะช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิต และยังสามารถขายได้ราคา 300-400 บาท/กก.อีกด้วย




สงกรานต์นี้หากใครสนใจอยากจะไปเที่ยวสวนลิ้นจี่ เดินชิล ๆ เด็ดลิ้นจี่ค่อมชิมไปถ่ายเซลฟี่รูปสวย ๆ โพสต์อวดเพื่อน ๆ ในโลกโซเชียลฯ ให้อิจฉาเล่น ซึ่งที่นี่ก็น่าจะเป็นอีก Good Idea ช่วงวันหยุดสุดหรรษานี้! หรืออยากชิมลิ้นจี่แต่ว่าอากาศร้อนไม่อยากจะออกจากบ้านไปไหนเลยก็สามารถสั่งซื้อจากสวนได้เกษตรกรบอกว่าก็พร้อมจัดส่งให้ด้วยเช่นกัน สามารถสอบถามเพิ่มได้ที่โทร. 097-089-9426 (ลุงบุญมา) หรือสนใจเทคโนโลยีการผลิตของ วว. สามารถติดต่อได้ที่ 0-2577-9004

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น