xs
xsm
sm
md
lg

วว. โชว์นวัตกรรมยืดอายุลิ้นจี่หลังเก็บเกี่ยว คงสีผลชมพู - แดง เพิ่มรายได้ชาวสวนอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก) ดร.กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส ศนก. และ ดร.สรวิศ แจ่มจำรูญ นักวิจัย ศนก. ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ติดตามผลการดำเนิน โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีภายใต้การสนับสนุนโดย สภาพัฒน์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมสู่ภูมิภาค ก่อให้เกิดการลงทุนของเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูป พร้อมกระตุ้นการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ 


ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ณ ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ว่า วว. นำนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพลิ้นจี่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรในพื้นที่ ผ่านการดำเนินงาน “การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชส่งเสริมการผลิตลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” จำนวน 7 พื้นที่ โดยใช้สารควบคุมฯ กับต้นลิ้นจี่จำนวนกว่า 200 ต้น ตัวอย่างเช่น แปลงสาธิตที่ 1 ณ สวนนายบุญมา นวมสุคนธ์ และแปลงสาธิตที่ 2 ณ สวนลิ้นจี่ 200 ปี เป็นต้น ทำให้มีผลผลิตที่ดี สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ด้วยนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพโดย วว.

ซึ่งมีจุดเด่น คือ สามารถทำให้ออกดอกได้เร็วกว่าลิ้นจี่ที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมของต้น ทำให้ราคาจำหน่ายลิ้นจี่สูงกว่าเพราะออกก่อน และให้ปริมาณผลผลิตมากกว่าเพราะเตรียมต้นได้สมบูรณ์ ลดการหลุดร่วงเพราะออกผลผลิตก่อน ช่วยเลี่ยงฝนหลงฤดูที่เป็นสาเหตุทำให้ดอกและผลร่วง นอกจากนี้การให้ฮอร์โมนแปลงเพศจะทำให้ติดผลมากกว่า และการให้ฮอร์โมนขยายขนาดผลจะทำให้ผลโต เกรดและคุณภาพดี จำหน่ายได้ราคาสูงกว่า

“จากการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่ง วว. มุ่งเน้นการถายทอดและให้ความรู้ แนวทาง และเป็นพี่เลี้ยงให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างต่อเนื่องพบว่า ผลผลิตลิ้นจี่มีปริมาณสูงขึ้น ผลมีขนาดโต เกรดและคุณภาพลิ้นจี่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของเกษตรกรและผู้ประกอบการในอนาคต ทำให้รายได้มากขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาต่อหน่วยสูงขึ้น วว. พร้อมขยายผลการดำเนินงานในรูปแบบโมเดลนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจด้วยเกษตรกรรมที่มีประสิทธิภาพ” ..... ผู้ว่าการ วว. กล่าว


ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการ ศนก. วว. กล่าวว่า วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการทำแปลงสาธิตการผลิตลิ้นจี่ในแปลงเกษตรกรจำนวน 7 แปลง ซึ่งปลูกต้นลิ้นจี่ที่มีอายุ 50 - 100 ปี จำนวน 200 ต้น ทำการเตรียมต้นลิ้นจี่โดยการฉีดฮอร์โมนและสารบำรุงก่อนเข้าฤดูหนาวจำนวน 2 เดือน เพื่อให้ลิ้นจี่ออกใบอ่อนพร้อมกันและได้รับสารบำรุงทางใบจนมีความสมบูรณ์และมีใบแก่รอฤดูหนาว

โดยมีขั้นตอนกระบวนการผลิต ดังนี้ 1) เมื่อลิ้นจี่เจอฤดูหนาวแล้วมีดอก ให้เกษตรกรฉีดพ่นฮอร์โมนเพิ่มดอกเพศผู้เพื่อเพิ่มการติดผล และ 2) เมื่อลิ้นจี่ติดผล ให้เกษตรกรฉีดสารขยายขนาดผลและสารบำรุงเพิ่มขนาดของผลและลดการหลุดร่วงของผลลิ้นจี่ จากการปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ (โดยเปรียบเทียบต้นให้สารและไม่ให้สาร) ดังนี้ การออกดอกของต้นให้สารจะหนาแน่นกว่าประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ และต้นไม่ให้สารจำนวน 50 ต้น ไม่ออกดอกและผล 6 ต้น ส่วนในต้นให้สาร 150 ต้น ไม่ออกดอกและผล 1 ต้น แต่ในปีไม่หนาวต้นให้สารและไม่ให้สารจะออกดอกและผลแตกต่างมากกว่าปีที่มีอากาศหนาวยาวนานแบบปีนี้


นายบุญมา นวมสุคนธ์ เกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ที่ผ่านมาประสบปัญหาการควบคุมการออกดอกของลิ้นจี่ ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่สม่ำเสมอทุกปี และมีผลผลิตต่ำ จากกการที่ วว. ได้นำนักวิจัยและความรู้มาอบรมและให้คำแนะนำต่างๆ ทำให้ขณะนี้ลิ้นจี่ติดผลมากและมีลูกดก กิ่งก้านแข็งแรงมาก ผลผลิตออกเยอะกว่าสวนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ดีใจและภูมิใจที่ได้รับคำแนะนำและนักวิจัยลงพื้นที่มาทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด หากเกษตรกรท่านอื่นๆ สนใจขอให้ติดต่อที่ วว. ได้เลย จะได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ โดยตัวเราก็ต้องปฏิบัติตามที่นักวิจัยแนะนำด้วยอย่างสม่ำเสมอ

ในโอกาสเดียวกันนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. พร้อมคณะนักวิจัย ได้มอบนวัตกรรมการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ “ชุดรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลิ้นจี่แบบเคลื่อนที่” ให้แก่ นายบุญมา นวมสุคนธ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตลิ้นจี่พันธุ์ค่อมและยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวต่อไป

โดย ศนก.วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ได้นาน 3 สัปดาห์ เนื่องจากแก๊สกำมะถัน (สารซัลเฟอร์) สามารถกำจัดโรคพืชที่ติดมากับผล มีกำลังผลิต 200 กิโลกรัม/ครั้ง ใช้เวลาการรมประมาณ 2 ชั่วโมง ประกอบด้วยตู้ทนกรดขนาด 120x120 เซนติเมตร สำหรับใช้บรรจุลิ้นจี่ และต่อท่อเข้ากับชุดเผากำมะถัน ซึ่งจะใช้กำมะถัน 300 กรัมต่อลิ้นจี่ 200 กิโลกรัม หลังจากการรม 2 ชั่วโมง แล้วดูดแก๊สกำมะถันออกไปบำบัด ในส่วนของระบบจะบำบัดด้วยด่างต่อไป


ทั้งนี้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีหน้าที่ยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ ทั้งแบคทีเรีย (bacteria) ยีสต์ (yeast) และรา (mold) ใช้เป็นสารฟอกสีผลไม้สด เช่น ลำไย ลิ้นจี่ ปริมาณการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอาหารต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 214 (พ.ศ.2543) กำหนดให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท ได้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไวน์ มอก. 2089-2544 ได้กำหนดให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร

องค์การอนามัยโลก ( WHO ) กำหนดค่าความปลอดภัยไว้ คือ ปริมาณที่ได้รับไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัม/คน/วัน


อนึ่ง จังหวัดสมุทรสงครามเป็นแหล่งผลิตลิ้นจี่ที่สำคัญเป็นอันดับ 1 ในภาคกลาง โดย “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” เป็นสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ในปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกลิ้นจี่ทั้งสิ้น 1,920 ครัวเรือน รวมเนื้อที่การปลูกประมาณ 5,196 ไร่ แยกเป็นพื้นที่อำเภอเมือง 7 ไร่ อำเภออัมพวา 2,328 ไร่ และอำเภอบางคนที 2,861 ไร่

ลิ้นจี่หลังการเก็บเกี่ยวแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพผลผลิตและเอธิลีนไม่มีผลต่อการสุก หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า เป็นผลไม้ที่ไม่สามารถบ่มให้สุกได้ ดังนั้นการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่จึงควรเก็บเกี่ยวในระยะผลแก่พอดีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยทั่วไปเกษตรกรจะใช้การเปลี่ยนสีของเปลือกเป็นเกณฑ์สำคัญในการตัดสินใจว่า จะเก็บเกี่ยวผลลิ้นจี่ได้หรือไม่ โดยจะสังเกตจากเปลือกของลิ้นจี่ เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวอมชมพู สีชมพูหรือสีแดง โดยเกณฑ์การเปลี่ยนสีจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ สภาพแวดล้อม และการดูแลรักษา ลิ้นจี่หลังการเก็บเกี่ยวแล้วต้องระมัดระวังตามกระบวนการเก็บเกี่ยวและการขนส่งอย่างถูกต้อง ในกรณีที่ไม่มีการรมด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผิวผลจะมีสีชมพู แดง หรือแดงเข้ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ เมื่อรมด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผิวผลอาจเป็นสีเหลืองจางถึงชมพู

คุณค่าทางโภชนาการของลิ้นจี่ ประกอบด้วย กรดอะมิโนที่เป็นโครงสร้างของโปรตีนได้แก่ ไทโรซีน แอสปาราจีน อะลานีน ทรีโอนีน วาลีน และสารประกอบไกลซีน น้ำมันจากเมล็ดลิ้นจี่มีสารประกอบ เป็นกรดไขมันที่สำคัญเช่น ปาล์มมิติก 12%, โอลิอิก 27% และไลโนเลอิค 11%


กำลังโหลดความคิดเห็น