xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรปี 66 ยังไปรอด! ดีพร้อมร่วม 60 บิ๊กโรงงานเกษตรรุก “ดีพร้อม MIND” นำร่องเกษตรชั้นนำ 6 จังหวัด หนุนชุมชนโตพร้อมโรงงานขนาดใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ MIND เผยปี 2566 ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรยังมีโอกาสเติบโตได้ โดยคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของภาคส่วนดังกล่าวจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.0 – 3.0 ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคส่วนดังกล่าวเติบโตทั้งในมิติของผู้ประกอบการ และรูปแบบสินค้า - บริการที่เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดจึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ทำความร่วมมือกับ 60 สถานประกอบการด้านเกษตรอุตสาหกรรมใน 6 จังหวัดได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี บ่มเพาะความรู้การทำธุรกิจเกษตรให้กับชุมชนรอบโรงงาน พร้อมมอบโจทย์ให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ นำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ที่สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจและสร้างมูลค่าได้จริง โดยตั้งเป้าว่าในแต่ละจังหวัดจะมีคนในชุมชนเข้าร่วมโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 60 ราย และจะมีการคัดเลือก 30 สุดยอดไอเดียไปต่อยอดดำเนินการให้เกิดเป็นสินค้าและบริการที่สามารถสร้างมูลค่าได้จริง


ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในขณะนี้ถือว่ามีการปรับตัวที่ดีขึ้น ทั้งในแง่ของมูลค่าที่เกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งการปรับตัวของกลุ่มผู้ประกอบการที่ปัจจุบันได้มีการสรรหาวิธีการ โซลูชั่นและแนวคิดใหม่ ๆ มาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยภาคส่วนหนึ่งที่เริ่มเห็นการปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจเพิ่มคือ “อุตสาหกรรมและธุรกิจด้านการเกษตร” ที่ปัจจุบันได้มุ่งสู่เกษตรอุตสาหกรรม เกษตรบริการ รวมถึงเกษตรสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของผู้บริโภค อาทิ การแสวงหาแหล่งอาหารใหม่ ความตระหนักในภาวะทางสุขภาพ อีกทั้งยังมีการนำโมเดลการทำเกษตรกรรมไปใช้กับการท่องเที่ยว การสร้างสรรค์สินค้านวัตกรรม และแรงหนุนจากภาครัฐที่มียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG สร้างเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 ทั้งในสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการปรับตัวที่ดีขึ้นผู้ประกอบการ - เกษตรกรรายย่อยก็ยังคงต้องเผชิญกับความผันผวนหลายประการ อาทิ ต้นทุนด้านพลังงาน การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และการควบคุมสินค้าบางประเภท โดยแนวทางในการรับมือที่สำคัญคือ การดำเนินงานด้วย “แนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน และเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาด การแบ่งปันเทคโนโลยีจากรายใหญ่สู่รายเล็ก รวมทั้งการรวมกลุ่มในรูปแบบคลัสเตอร์เพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มการเข้าถึงโอกาสจากธุรกิจเครือข่ายที่จะสร้างธุรกิจเกษตรที่เข้มแข็งขึ้นในชุมชน ซึ่งประเด็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก โดย “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (MIND) ได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงฯ เร่งสนับสนุนภาคการเกษตรของไทยให้เติบโต โดยดำเนินงานผ่านมิติที่ 2 ซึ่งเป็นการดูแลสังคมโดยรอบโรงงาน ผสานแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน – เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยกระดับชุมชนที่ใกล้ชิดกับโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรให้เข้าถึงโอกาสการสร้างรายได้ด้วยการใช้โมเดลเกษตรกรรม พร้อมสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้ แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความได้เปรียบของประเทศ ส่งผลให้เกิดผู้ประกอบการและการจ้างงานในระบบที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนมีสินค้า บริการใหม่ ๆ รองรับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ”


ด้านนายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ดีพร้อมได้นำนโยบายจากรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมาพัฒนาเป็น “กิจกรรมยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม  โตพร้อม MIND” ซึ่งเป็นการทำความร่วมมือกับสถานประกอบการ SMEs สาขาเกษตรอุตสาหกรรมใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และปทุมธานี รวมจำนวน 60 กิจการ เพื่อบ่มเพาะความรู้ที่สำคัญสำหรับการทำธุรกิจเกษตรให้กับชุมชนรอบโรงงาน รวมไปถึงการมอบโจทย์ธุรกิจให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ที่สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจและสร้างมูลค่าได้จริง นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้ในด้านอื่น ๆ ด้วย อาทิ การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม การลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการผลิต แนวทางการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง โดยตั้งเป้าว่าในแต่ละจังหวัดจะมีคนในชุมชนเข้าร่วมโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 60 ราย ซึ่งดีพร้อมกับสถานประกอบการจะร่วมกันคัดเลือก 30 สุดยอดไอเดียไปต่อยอดดำเนินการให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์ต่อไป และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 24 ล้านบาท

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (คนที่ 3 จากขวา)
ในขณะที่นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของโครงการ “โตพร้อม MIND” เป็นการดำเนินงานผสมผสานและผลักดันภาคเกษตรอุตสาหกรรมให้โตไปพร้อมกับนโยบาย 4 มิติ โดยการที่ภาคเกษตรอุตสาหกรรมจะเติบโตได้นั้นนอกจากเรื่องภาคธุรกิจที่จะส่งเสริมธุรกิจแล้ว การอยู่ร่วมกันในชุมชนไม่ว่าอยู่ร่วมกันในเชิงสิ่งแวดล้อมหรือการทำให้ชุมชนรอบโรงงานสามารรถกระจายรายได้และอยู่ร่วมกันกับชุมชนได้นั้นเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายที่จะผลักดันให้เติบโตไปพร้อมกันกับภาคเกษตรอุตสาหกรรม ดังนั้นโครงการ “โตพร้อม MIND” มุ่งเน้นให้กลุ่มโรงงานที่มีศักยภาพหรือกลุ่มโรงงานที่มีขนาดใหญ่สามารถสร้างเครือข่ายให้กับกลุ่มโรงงานในพื้นที่หรือชุมชน โดยสามารถช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนโดยรอบให้เติบโตไปพร้อมกับโรงงานได้ พร้อมทั้งสามารถนำผลิตภัณฑ์เข้าไปทำการตลาดกับทางโรงงานได้ โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมเคยจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ขึ้นมา ซึ่งทำให้ชุมชนสามารถเข้ามาใช้พื้นที่โดยรอบโรงงานเพื่อทำการตลาด ส่งผลให้กลายเป็นกลไกทางการตลาดเพื่อให้ชุมชนและโรงงานเติบโตไปพร้อมกันได้


ทั้งนี้กลุ่มโรงงานขนาดใหญ่บางรายจะมีกลุ่มเครือข่ายเพื่อกระจายความร่วมมือระหว่างโรงงานขนาดใหญ่ด้วยกัน ซึ่งโรงงานขนาดใหญ่นั้นมีศักยภาพในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ SE (Social Enterprise) อยู่แล้ว ทำให้สามารถถ่ายทอดวิธีการและแนวทางให้กับชุมชนไปสู่โรงงานที่อยู่ในกลุ่มเครือข่ายได้ นอกจากนี้ยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการสอนและแนะนำโรงงานขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในพื้นที่ รวมถึงแนะนำการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ดังนั้นโรงงานขนาดใหญ่จึงมีบทบาทในการมีส่วนช่วยให้โรงงานขนาดเล็กหรือชุมชนเติบโตไปพร้อมกัน นอกจากนี้ทางโครงการฯ ยังได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการ ส่วนกลุ่มโรงงานขนาดเล็กนั้นจะเน้นไปที่การส่งเสริมด้านมาตรฐานการผลิต โดยที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าไปดูแลและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องของมาตรฐานและนวัตกรรมในฐานการผลิตต่างๆ


อย่างไรก็ตามโครงการนี้เป็นการนำร่องใน 6 จังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านพื้นที่เกษตรกรรมและมีผู้ประกอบการนวัตกรรมเกษตรที่โดดเด่น อาทิ ผู้แปรรูปมะพร้าว ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโค การพัฒนาสมุนไพรไทย ฯลฯ มาร่วมให้องค์ความรู้เฉพาะทางและความรู้ที่สำคัญสำหรับการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ เช่น Global Mindset การวางแผนกลยุทธ์เล่าเรื่องแบรนด์ให้มีพลัง การนำเสนอแผนธุรกิจให้ตรงกับแหล่งเงินทุน และเทคนิคการเจรจาให้คู่ค้า - ผู้บริโภคสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นขึ้น เป็นต้น โดยสถานประกอบการ SMEs และชุมชนโดยรอบที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับการบ่มเพาะยกระดับธุรกิจเพื่อชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม จำนวน 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 18 ชั่วโมง

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6877-78 ต่อ 1806-1807 หรือ ติดตามข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้ที่ www.diprom.go.th และ www.facebook.com/dipromindustry












* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น