xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯ ชุมพร จับมือ มจพ. หนุนแนวทางสกัดน้ำมันปาล์ม เผยผลสำเร็จเกินคาด เพิ่มประสิทธิภาพกว่า 25 ล้านบาท./ปี ลดค่าใช้จ่ายพลังงานกว่า 5 แสนบาท/ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร ภายใต้ การนำของ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ดำเนิน โครงการกำหนดมาตรฐานการผลิตและยกระดับการผลิตในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจังหวัดชุมพร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ เผยผลดำเนินการที่ผ่านมา 5 กิจการ ที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มได้เพิ่มขึ้น มากกว่า 25 ล้านบาท/ปี เพิ่มประสิทธิภาพของระบบหม้อน้ำและระบบไอน้ำ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ได้ไม่น้อยกว่า 500,000 บาท/ปี


นายคณิต กายสอน อุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร กล่าวถึงการจัดทำโครงการว่า “ โครงการดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่อุตสาหกรรมจังหวัชุมพร ได้นำนโยบายของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คือ 1. ธุรกิจต้องไปได้ 2 ต้องดูแลชุมชน 3. ต้องดูแลสิ่งแวดล้อม 4. ต้องกระจายรายได้ให้ชุมชน ผ่านแนวทางการปฏิบัติอย่างง่ายคือ “ใช้หัวและใจปั้นชุมชน”


ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงงานสกัดปาล์มของชุมพร เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของจังหวัดที่มีศักยภาพที่จะนำร่องและเป็นแกนหลักทางด้านเศรษฐกิจ การดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นกลุ่มนำร่องหลักในการดำเนินโครงการฯ การส่งเสริมขีดความสามารถของอุตสาหกรรมสกัดปาล์มน้ำมันครั้งนี้ มุ่งเป้าไปที่การลดการสูญเสียของการสกัดน้ำมันปาล์ม จากการเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดน้ำมันปาล์ม ในการนำนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิต ด้วยการปรับพารามิเตอร์ของเครื่องจักรให้เหมาะสมกับคุณลักษณะของวัตถุดิบและการเปลี่ยนแปลงของวัตถุดิบตามฤดูกาล ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อช่วยในการหาพารามิเตอร์ที่เหมาะสมในการตั้งค่าการทำงาน รวมถึงการตรวจวัด ปรับปรุง ปรับจูน ระบบไอน้ำและหม้อน้ำ จะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันปาล์มมีผลผลิตที่สูงขึ้นและมีคุณภาพที่ดี ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ เป็นผลให้ความต้องการน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น ทั้งยัง ก่อให้เกิดรายได้ที่กระจายไปตลอดห่วงโซอุปทาน พร้อมช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันด้านการตลาด อันจะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม ชุมชน ผู้ประกอบการมีการเติบโตและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน


นอกจากนี้ การดำเนินโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมีคู่มือมาตรฐานกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มที่มีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางในการดำเนินงานที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจังหวัดชุมพร และกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวในระบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน


ที่ผ่านมา มีโรงงานผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 5 แห่ง พร้อมร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพกับทีมที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยได้รับคำแนะนำปรึกษาเชิงลึกด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดน้ำมันปาล์ม การตรวจวัดระบบหม้อน้ำและระบบไอน้ำ ตลอดจนจัดทำคู่มือระบบมาตรฐานกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มที่มีประสิทธิภาพ พร้อมจัดกิจกรรมการอบรมส่งเสริมองค์ความรู้ ที่มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในจังหวัดชุมพรเข้าร่วมกิจกรรม จำนวนมากกว่า 40 คน ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 210 วัน


สำหรับผลการดำเนินงานการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตการสกัดน้ำมันปาล์ม ปรากฏว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น รวมกว่า 25 ล้านบาท/ปี ขณะที่ ผลการดำเนินงานการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหม้อน้ำและระบบไอน้ำ โดยปรับแต่งการเผาไหม้ให้มีการใช้ปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสม สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รวมกว่า 5 แสนบาท/ปี








* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น