xs
xsm
sm
md
lg

เครือซีพีหนุน “วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกาย” ต้นแบบกาแฟสร้างป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เครือซีพีหนุน “วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกาย” ต้นแบบกาแฟสร้างป่า ปรับเปลี่ยนวิถีทางการเกษตร ยกระดับเศรษฐกิจสีเขียวตามโมเดล BCG อย่างยั่งยืน ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

กว่า 5 ปีที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี ขับเคลื่อนโครงการศูนย์วิจัยบ้านกองกาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ “Re4rest ปลูกเพื่อความยั่งยืน 4 ต้นน้ำภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน”

โดยชูกลยุทธ์ปลูกกาแฟฟื้นฟูป่า เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า สู่การพัฒนาอาชีพเกษตรกรอย่างยั่งยืนในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้สร้างความยั่งยืนในด้านมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนบ้านกองกาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยการลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างกาแฟ และปลูกพืชแบบผสมผสานที่ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถสร้างป่า สร้างรายได้ควบคู่กับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการฟื้นฟูป่า พร้อมนำองค์ความรู้และทักษะด้านบริหารจัดการตลอดกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ยกระดับการพัฒนาสู่ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)

นายนนท์ นาคะเสถียร ผู้จัดการทั่วไป ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า โครงการศูนย์วิจัยบ้านกองกาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นโครงการที่ผนึกความร่วมมือทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน ในเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชน พร้อมทั้งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าต้นน้ำ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เพื่อลดปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และลดการขยายพื้นที่ในการทำเกษตร พร้อมทั้งเกษตรกรได้รับสิทธิทำกิน


ในปัจจุบันเกษตรกรตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากขึ้น จึงมีการคืนพื้นที่เพื่อฟื้นฟูป่าและเปลี่ยนมาปลูกกาแฟและไม้ผลเมืองหนาวแล้ว 1,175 ไร่

ในปีนี้เครือซีพีตั้งเป้าพัฒนา “ศูนย์วิจัยกาแฟบ้านกองกาย สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์” เพื่อยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ พร้อมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต รวมถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับทางกลุ่มวิสาหกิจ ยกระดับกาแฟให้มีคุณภาพ และได้รับมาตรฐานพร้อมขยายช่องทางการตลาดใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

คุณศตวรรษ อาภาประเสริฐ หรือพี่ไชยรัตน์ คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกาย เล่าว่า ตนเข้ามาร่วมในโครงการตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งถือเป็นเกษตรกรรุ่นแรกจนถึงปัจจุบัน โดยเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะปรับการทำการเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกกาแฟ เนื่องจากพืชเชิงเดี่ยวต้องใช้พื้นที่ในการปลูกจำนวนมาก และมีต้นทุนสูง

ทางซีพีก็เข้ามาช่วยส่งเสริมด้านองค์ความรู้ ด้านวิชาการในการปลูกกาแฟและไม้ผลอื่นๆ เช่น แมคคาเดเมีย พลับ อะโวคาโด จนในปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ มีการปลูกแล้วจำนวน 133 ไร่ มีผลผลิตแล้วกว่า 18,000 กิโลกรัม ซึ่งคาดว่าในรุ่นถัดไปจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้จากการที่เครือซีพีให้คำแนะนำ


ปัจจุบัน “วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกาย” มีสมาชิกในวิสาหกิจชุมชนแล้ว 40 ครัวเรือน จนปัจจุบันสามารถมีผลผลิตเป็นสินค้าที่ไม่ได้แปรรูปและแปรรูปแล้ว สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ “กาแฟคั่วอะราบิกา 100% ตรา กาแฟบ้านกองกาย” ที่มีคุณภาพที่ดี

“ตั้งแต่เครือซีพีและหน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาสนับสนุนการปลูกกาแฟ ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีหมอกควัน ไฟป่าลดลง เกษตรกรส่วนใหญ่สามารถลดพื้นที่ในการทำเกษตร ทำให้มีป่าเพิ่มขึ้น ลดต้นทุน และลดภาระแรงงานของเกษตรกรได้ นอกจากนี้ การปลูกกาแฟยังสามารถลงทุนครั้งเดียว แต่เก็บผลได้ในระยะยาว และมีตลาดรองรับ เครือซีพียังสนับสนุนให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน”

ในปัจจุบันผลผลิตกาแฟฟื้นป่าบ้านกองกายได้ขยายผลต่อยอดสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) มีการจัดการที่ดีตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้ได้กาแฟคุณภาพส่งมอบสู่ตลาด เพื่อสร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยเครือซีพีทำหน้าที่เป็นตลาดในการรับซื้อกาแฟเชอร์รีสดส่งต่อมาที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่แจ่ม เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพภายในพื้นที่และจัดจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการต่อไป


ล่าสุดได้มีการส่งเข้าประกวด Thailand Coffee Fest 2022 และโครงการประกวดสุดยอดกาแฟไทย 2565 ซึ่งก็ได้รับการจัดอันดับอยู่ในกาแฟระดับพิเศษอีกด้วย

ในอนาคต เครือซีพีและกลุ่มวิสาหกิจบ้านกองกายมีความตั้งใจจะกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบในการสร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน สร้างเศรษฐกิจสีเขียว ตามโมเดล BCG ให้ชุมชนโดยรอบที่มีความสนใจปลูกกาแฟสร้างป่า ให้สามารถเข้ามาเรียนรู้ และนำไปขยายผลต่อยอดต่อไปได้




กำลังโหลดความคิดเห็น