เปลี่ยนศัตรูตัวร้ายในนาข้าว สู่ “อาหาร” ระดับขึ้นเหลาเพราะราคาดีสุด ๆ หอยเชอรี่สีทองในระบบชีววิถี เลี้ยงง่ายใช้ทุนต่ำ ขายเท่าไรก็กำไร! ราคามิตรภาพ 150 บาทแต่ถ้าตลาดแกะเนื้อแล้ว 400/กก. ทำได้หลายอย่างโดยเฉพาะปิ้งย่างสูตรหม่าล่าที่คนจีนฟินสุด ๆ
อาจารย์ประทีป มายิ้ม ปราชญ์เกษตรของแผ่นดินแห่งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง “สวนพออยู่พอกิน บ้านมายิ้ม” พัทยาจ.ชลบุรี บอกว่า การเข้ามาเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อนของ “หอยเชอรี่” ชื่อวิทยาศาสตร์ Pomacea canaliculate (Lamarck)คือเป็นลักษณะของการชักชวนเข้าร่วมทำฟาร์มพันธะสัญญาcontract farming ก่อนโดยมีการเสนอขาย “พันธุ์” สำหรับการเลี้ยงให้แล้วจากนั้นก็สัญญาว่าจะรับซื้อ ผลผลิตที่ได้ทั้งหมดคืนกลับมายังคนที่ขายพันธุ์ให้ ซึ่งปรากฏว่ายุคนั้นชาวนาต่างก็ให้การตอบรับโครงการเป็นอย่างดี แต่ทว่าไม่นานหลังจากซื้อพ่อแม่พันธุ์มาเลี้ยงแล้วทุกอย่างก็แปรผันไปหมดที่เคยบอกไว้ ไม่มีคนเข้ามารับซื้อคืนตามที่สัญญา สรุปก็คือว่าชาวนาถูกหลอก! และจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่เพียงแต่การปล่อยทิ้งลงในแหล่งน้ำอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะไม่รู้วิธีจะจัดการอย่างไรดี ในเวลาต่อมายังกลายเป็นภาระต้นทุนการผลิตให้อย่างไม่จบไม่สิ้น ทุก ๆ ปีต้องซื้อยากำจัดหอยเชอรี่ซึ่งระบาดในนาข้าวอย่างหนัก! ขณะที่คนได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้หาใช่อื่นไกล ก็คือคนที่เคยนำพันธุ์มาส่งเสริมให้ชาวนาเลี้ยงนั่นเอง เจ็บนี้อีกนาน!!!
“เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เกษตรกรไทยเป็นเบี้ยล่างตั้งแต่ต้นทางเลย ก็คือซื้อศัตรูพืชเอาไว้ในกำมือ เสร็จแล้วปล่อยศัตรูพืชลงไปในแหล่งน้ำสาธารณะ แพร่ระบาดไปทั่ว! ก็ซื้อสารกำจัดศัตรูพืชมาอีก อันนี้คือ 3 สเต็ปเลยที่เสียหายไป ทีนี้พอมีการพูดคุยกันว่า “หอยเชอรี่” มันกินได้ สำหรับคนไทยแล้วอะไรที่เป็น “อาหาร” แล้วกินได้ ทำเท่าไรมันก็ไม่พอกิน! วิธีการกำจัดที่ดีที่สุด วิธีการกำจัดศัตรูพืช ศัตรูและแมลงที่รบกวนเกษตรกรไทยที่ดีที่สุดก็คือ ทำเป็นอาหาร เอาศัตรูมาเป็นมิตรซะ! มันเป็นศัตรูมันเสียหายในทางที่ทำลายเกษตรกร แต่แทนที่เราจะไปซื้อยามาฆ่ามัน เราก็เอามันมากินซะ! มันก็จะได้หมดไปเรื่อย ๆ “
“หอยเชอรี่สีทอง” สัตว์เศรษฐกิจความหวังใหม่!
จุดเริ่มต้นก็มาจากจังหวัดทางภาคอีสาน ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อุดรธานี บริเวณนั้นก็เอามาเลี้ยงกันพอเลี้ยงไปแล้วมันเกิดการ “จากทีแรกเลยมันก็เป็นสีทองนี่แหละ แต่ว่ามันกลับสู่สถานะเดิมมันเลยเป็นสีดำด้วย ครั้งแรกที่มันเข้ามาเลยคือเป็นสีทอง หรือที่เขาเรียกว่าสีสนิม มันจะเป็นสีสนิม ซึ่งครึ่งหนึ่ง(50%)ของยีนเดิมมันก็คือเป็นสีทอง อีกครึ่'งหนึ่ง(50%)มันจะเป็นสีดำ แล้วทีนี้เลี้ยงไปเลี้ยงมามันกลายเป็นสีดำเยอะมาก ทำให้มีการนำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะมันก็ดำอยู่อย่างนั้น ที่เขาเรียกกันว่าสีสนิมนะ ส่วนไอ้ตัวสีทองยังคงสถานะเดิมไว้(F2) ที่ไม่ใช่เป็นF1 นะเพราะถ้าตัวนี้มันยังกลับไปสู่พ่อแม่ ปู่ย่าตายายได้ แต่ถ้า F2 มันก็จะยังคงสถานะเอาไว้ได้ 75% แล้วตัวที่เป็นสีทองมันก็จะมีอยู่เฉพาะในกลุ่มของร้อยเอ็ดหรือสะดืออีสานนั่นแหละ”
ก็จะมีการคัดเฉพาะตัวที่เป็น “สีทอง” เอามาเลี้ยง แล้วก็ทำให้มันเป็นเรื่องเป็นราวที่จะเอามาขายได้ จากศัตรู! แทนที่จะฉีดยาฆ่าทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็เอามาเลี้ยงซะ! แล้วก็ขาย ได้กิน(เป็นอาหาร) และก็ได้เงินด้วย “ก็ไปขายให้ใครล่ะ? ก็ขายให้คนจีนเนี่ยแหละครับ ตอนนั้นจีนเข้ามาในกัมพูชาเยอะ ที่เขมรชื่อว่านิคมอะไรสักอย่างหนึ่งผมก็จำชื่อไม่ได้ เอาไปทำเมนู “หม่าล่า” หลงเซียหม่าล่า เป็นการเปิดตัวเพื่อให้ตลาดได้รู้จัก แล้วคนจีนชอบมาก รวมถึงยังมีส้มตำและเมนูอื่น ๆ อีกสารพัดหลากหลายเลย ลาบหอย หรือต้มสด ๆ จิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ดแซ่บ ๆ เป็นต้น ปรากฏว่าตลาดชอบเพราะเนื้อของ “สีทอง” มันหวาน นุ่ม(เหนียวน้อย) ซึ่งต่างกับ “สีดำ” ที่เนื้อจะเหนียวมากกว่า กระด้างกว่า แล้วอีกอย่างคือสีทองมันจะดูน่ากินมากกว่าด้วย”
การเลี้ยงหอยเชอรี่สีทองในระบบชีววิถี(แบบต้นทุนต่ำ)
อาจารย์ประทีป เล่าอีกว่า และตั้งแต่นั้นมาหลังการเปิดตลาด “หอยเชอรี่สีทอง” ก็มีการขยายสู่การเลี้ยงในรูปแบบฟาร์ม ทำเชิงการค้า รวมถึงการบริโภคหอยชนิดนี้ก็มีความนิยมแพร่หลายมาเรื่อย ๆ ถึงปัจจุบัน การเลี้ยงหอยเชอรี่สีทองสามารถทำได้ไม่ยุ่งยากอะไรมากนัก ขอเพียงเข้าใจหลักการจัดการเรื่องน้ำที่ใช้เลี้ยงภายในบ่อหรือภาชนะที่เตรียมไว้ จากอัตราการขยายจำนวนประชากรครั้งหนึ่ง ๆ ซึ่งค่อนข้างจะสูงมาก คือ จากการวางไข่1 ฝัก(ที่เห็นเป็นฝักสีชมพู) จะมีจำนวนอยู่กว่า800-2,000 ฟองเลยทีเดียว! การเลี้ยงอาหารใช้ได้ทั้งแบบให้กินพืช(ผักและใบไม้ต่าง ๆ) ควบคู่กันไปกับอาหารเม็ดสำเร็จรูป(สูตรปลากินเนื้อ เช่น อาหารปลาดุก) ที่ให้ผลการเลี้ยงได้เร็วขึ้นกว่า หรือจะเป็นแบบ “ชีววิถี”ที่สวนพออยู่พอกินฯ ใช้เลี้ยงอยู่ ซึ่งจะให้กินอาหารที่เน้นพืชต่าง ๆ เป็นหลัก ก็สามารถให้ผลผลิตได้ดีไม่แพ้เช่นเดียวกัน
“ทีนี้ถามว่าดีมั้ย ผมมองว่าเนื่องจากว่าหอยเชอรี่เป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงง่ายที่สุด ในบรรดาสัตว์น้ำทุกชนิด เลี้ยงง่ายที่สุดครับ ถ้าไม่ให้น้ำเสียก็ง่ายที่สุดแล้ว ต้นทุนต่ำที่สุด ถ้าไม่คิดว่าเลี้ยงแล้วขายให้ใครหรือขายไม่ได้ก็กินได้นี่ครับ ต้นทุนต่ำที่สุด เอาวัชพืชให้มันกิน”
บ่อเลี้ยง: การจัดการภายในบ่อจะต้องเป็นลักษณะของ” พื้นที่กึ่งเปียกกึ่งแห้ง” ให้อาศัยอยู่ตลอดเวลา กล่าวคืออาจจะมีทุ่นหรือขอนไม้วางไว้ให้หรือพืชน้ำลอยได้อย่างเช่น จอก ผักตบชวา เพื่อเป็นที่แห้งสลับกับน้ำให้กับหอยได้ปีนขึ้นมาอาศัยแบบสลับกันตามที่ต้องการ ระดับความลึกของน้ำ1 ฟุตจะเหมาะสมที่สุด การจัดการคุณภาพน้ำก่อนนำมาใช้เลี้ยงจะต้องพักทิ้งไว้อย่างน้อย1 สัปดาห์(น้ำจากทุกแหล่ง) และห้ามลืมว่าหอยมีการปีนหนีออกจากบ่อได้จะต้องมีการป้องกันโดยหาอะไรมาปิดกั้นทางเดินของหอยเอาไว้
พันธุ์หอยและอัตราในการปล่อยเลี้ยง:ถ้าเป็นการเริ่มต้นเลี้ยงจะมีอยู่ 3 แบบ หนึ่งคือ ซื้อ “ลูกพันธุ์” มาก็จะมีไซส์ เหรียญสลึง ห้าสิบสตางค์ บาท ห้าบาท และก็เหรียญสิบบาท หรือไม่ก็ซื้อ “ไข่” มาซึ่งจะมีการขายกันอยู่ในแถบนี้คือว่า 12 ฝัก:100 บาท ประมาณนี้ โดยถ้าพ่อแม่มีไซส์ที่ขนาดใหญ่จำนวนไข่ต่อฝักที่ได้ก็จะสูงถึง 3,000 ฟองเลยทีเดียว ประมาณ 7-10 วันก็จะเริ่มฟักออกจากไข่ และถ้าไซส์ประมาณปลายดินสอ(เพิ่งออกจากไข่มา) ก็จะมีกลุ่มที่เอาไปเลี้ยงอนุบาล1, 2, 3 เพื่อขายพันธุ์ต่อให้กับคนเลี้ยงด้วย ต่อมาคือ กลุ่มที่ซื้อลูกพันธุ์ไปเลี้ยงขุนต่อ ไซส์ที่เหมาะสมที่สุดก็คือ ประมาณไซส์เหรียญห้า ที่ผ่านการเลี้ยงมา 45 วันแล้ว ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 8-15 บาท/ตัว และอีก 45 วันก็จับขายได้หรือทำพ่อแม่พันธุ์ได้แล้ว กับอีกกลุ่มคือ พ่อแม่พันธุ์ ที่ใช้ตั้งแต่ขนาดเหรียญห้า-สิบบาทเป็นต้นไป
“แต่กลุ่มนี้(ไซส์พ่อแม่พันธุ์) จะค่อนข้างมีปัญหาเยอะ ส่วนใหญ่หอยจะไปน็อคน้ำตาย หรือหอยจมน้ำตาย มือใหม่ยังไม่รู้! พอไปถึงก็ดีใจได้หอยมาปล่อยลงน้ำเลย ปรากฏตายหมดเลย! กลุ่มนี้จะลงทุนสูงและโอกาสเสี่ยงสูง ไม่เหมือนซื้อไข่หรือซื้อลูกเล็กไปเลี้ยงพวกนี้มันจะปรับตัวได้ดีกว่า เพราะว่ากลุ่มที่เราซื้อมาไซส์เหรียญห้า-เหรียญสิบ เราไม่รู้ว่าเขาเลี้ยงมันมาจากอาหารประเภทไหน น้ำอย่างไร บางคนก็เลี้ยงน้ำบาดาล บางคนเลี้ยงน้ำกรอง เลี้ยงน้ำประปา แต่พอมาถึงที่บ้านเรา ๆ ก็มาใส่น้ำของเราเลย มันจึงน็อคน้ำไงครับ หรือบางทีเขาจำศีลมาแล้ว(หอยมันจำศีล) อยู่ ๆ มันแห้งแล้วก็เอาหอยไปใส่น้ำเลย มันก็จมน้ำตาย ฉะนั้นเบื้องต้นคือ จะต้องเป็นลักษณะของพื้นที่เลี้ยงแบบกึ่งเปียกกึ่งแห้งก่อน สมมุติว่าเรามีกะละมัง1 ใบเราเอาน้ำใส่ไว้ประมาณ 2 นิ้วมือ แล้วก็เอาขันคว่ำไว้1 ใบตรงกลาง ถ้าหากว่าหอยเค้าทนน้ำของเราไม่ได้เขาก็จะมาเกาะขันขึ้นมาที่แห้ง แล้วถ้าเขาขาดน้ำเมื่อไหร่เขาก็จะเดินลงไปหาน้ำเอง อันนี้ก็คือจะง่ายที่สุดแล้ว”
การปล่อยเลี้ยงก็เริ่มจาก “พ่อแม่” 1 คู่ เลี้ยงเพื่อให้แพร่ขยายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็น “ตัวเมีย” จะมีลักษณะคือ ก้นดำ(มีสายสีดำ ๆ หรือท่อรังไข่ติดอยู่) ฝาจะเรียบบาง แต่ถ้าเป็น “ตัวผู้” คือ ก้นจะขาว ฝาจะเป็นคลื่น ๆ ไม่เรียบ ขนาดของตัวถ้าเข้าสู่ระยะเต็มวัยแล้ว 3-4 เดือนขึ้น ตัวผู้จะเล็กกว่าตัวเมีย(ความต่างประมาณเหรียญห้ากับเหรียญสิบ) ก็คือจะไม่หนีไปกว่ากันมากนัก ซึ่งการเลี้ยงในระบบชีววิถีก็คือจะใช้วิธีการขยายขนาด(ตัว) และลดจำนวนประชากรที่หนาแน่นลงด้วยการทยอยจับ เอาตัวที่มีขนาดใหญ่ออกไปเป็นอาหารหรือขายสร้างรายได้ เพื่อให้ตัวเล็กที่เหลือค่อย ๆ โตขึ้นมาแทนที่ เนื่องจากหอยเชอรี่จะมีอัตราการขยายพันธุ์ที่ไวมาก ๆ อยู่แล้ว
การให้อาหาร: เรามีพืชผักอะไรบ้างรอบ ๆ บ้าน ยกตัวอย่างเช่น ใบหม่อน ใบมะละกอ ใบบัวบก-แว่นแก้ว ใบตอง หัวปลี ต้นกล้วย จอก แหน สาหร่าย พวกนี้กินได้หมดเลย หรือผักต่าง ๆ ที่เราซื้อมาจากตลาดเอามาทำอาหาร ส่วนที่เหลือทิ้งก็สามารถเอามาเลี้ยงหอยเชอรี่สีทองได้หมด “คือวัชพืชที่มีอยู่ในบ้านเราทั้งหมดเอามาเลี้ยง มันกินได้หมด ของผมนี่ใช้ใบอ่อมแซบ บัวบก ใบหม่อนที่เราตัดแต่งออกจากต้น ใบองุ่น ใบตอง หัวปลีกล้วย ฯลฯ หรือแม้กระทั่งใบสักก็กินได้ ยกเว้นใบพืชที่เป็นสมุนไพรเบื่อเมา เช่น โล่ติ้น หางไหล สะเดา อย่าให้กิน! หรือใบมันสำปะหลัง ใบผักไชยาซึ่งพวกนี้จะมีสารไซยาไนด์อยู่ ก็กินได้แต่ไม่ควรให้กินบ่อย เพราะพิษจะไปสะสมอยู่ในตาหรือกระเพาะขี้ของหอยเชอรี่ ดังนั้นเวลานำมาทำอาหารจะต้องแยกเอาส่วนนี้ออกไปจากเนื้อหอยด้วย เพื่อเลี่ยงการรับพิษที่มาจากอาหารใช้เลี้ยงที่มีพิษเบื่อเมาซึ่งหอยกินเข้ามาสะสมเอาไว้”
ซึ่งการให้อาหารโดยเฉลี่ย1 ตัวจะกินใบไม้ได้ราว ๆ1 ใบ/วัน(ยกตัวอย่างกรณีของใบหม่อน) ดังนั้นต้องดูจำนวนประชากรหอยที่อยู่ในบ่อเลี้ยงกับปริมาณของอาหารที่ให้ต่อครั้งอย่างเพียงพอ ที่สวนพออยู่พอกิน บ้านมายิ้ม จะให้อาหารอย่างช้าเลยก็คือ วันเว้นวัน
การเปลี่ยนถ่ายน้ำ: เฉลี่ย 3 วัน/ครั้ง หรือดูจากคุณภาพน้ำเป็นสำคัญซึ่งหากเริ่มเห็นว่าหอยขึ้นมาเกาะตามขอบบ่ออยู่เหนือจากน้ำขึ้นมาเป็นจำนวนที่มากผิดปกติ นั่นอาจหมายถึงว่าน้ำเริ่มเสียแล้วจะต้องรีบทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อเลี้ยงให้ทันทีไม่ต้องรอจนถึง 3 วัน/ครั้งก็ได้ วิธีการถ่ายน้ำใหม่โดยครั้งแรกให้เอา “น้ำใหม่” ประมาณครึ่งหนึ่งของที่เราจะเติมลงไปแทนในบ่อ เทลงไปให้รวมกับ “น้ำเก่า” ก่อนโดยหลังจากที่ตักน้ำเก่าออกไปสักครึ่งหนึ่งแล้ว พอน้ำเก่าผสมกับน้ำใหม่ที่เติมเข้าไปแทนที่ปล่อยทิ้งไว้สักครึ่งชั่วโมงแล้ว พอสังเกตเห็นหอยเริ่มลงไปเดิน แสดงว่าปรับสภาพได้แล้ว จึงค่อยเอาน้ำทั้งหมดออกไปแล้วเติมน้ำใหม่เข้าไปแทนที่(ประมาณ75%) แบบนี้จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการน็อคน้ำ
ผลผลิต & ตลาดและราคา
“การเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ประมาณ3 เดือน (ไซส์ 60 ตัว/กก. ขึ้นอยู่กับอาหารด้วย) 4 เดือน 5 เดือน 6 เดือน แล้วแต่ไซส์ ราคาจำหน่ายมี150 บาท/กก. อันนี้คือขายแบบทั้งเปลือก แต่ถ้าต้มแคะเนื้อก็อีกราคาหนึ่ง กิโลละ 400 บาทคือเอาแต่เนื้ออย่างเดียว อันนี้ไซส์กลาง(42-43 ตัว/กก.) แต่ถ้าไซส์ใหญ่(28-30 ตัว/กก.) ราคากิโลละ 600 บาท อันนี้คือจะเป็นไซส์ของเมนูหม่าล่าที่นิยมบริโภคกัน ไซส์42-43 ตัว/กก. จะเป็นไซส์ของส้มตำ ส่วนไซส์60 ตัว/กก. คือเป็นไซส์ของเมนูทั่วไปของอาหารอีสานอย่างเช่น ลาบหอย พล่าหอย ลวกจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด และอื่น ๆ”
อาจารย์ประทีป บอกว่า ตลาดหลัก ๆ ของหอยเชอรี่สีทองเลยคือจะเป็น ร้านส้มตำ โดยเฉพาะที่ไหนเป็นย่านท่องเที่ยวและมีร้านอาหารรสแซบประเภทนี้เปิดขายอยู่ ส่วนมากจะต้องการใช้หอยเชอรี่เพื่อปรุงเมนูต่าง ๆ เสิร์ฟลูกค้ากันอยู่แล้ว ร้านอาหารหรือภัตตาคารบางแห่งก็ใช้ด้วย อย่างที่ตนเองเลี้ยงอยู่ตอนนี้ก็มีหลายบ่อ คือทุกบ่อที่เลี้ยงสัตว์น้ำอยู่เดิมก็จะมีหอยเชอรี่สีทองที่เติมลงไปอยู่ในนั้นด้วย นับจำนวนแล้วก็หลักหมื่นตัวที่หมุนเวียนกันให้ผลผลิต ซึ่งบรรดาแม่ค้าพอรู้ว่าที่นี่มีหอยเชอรี่สีทองก็มักจะแวะเวียนเข้ามาขอซื้อ ไม่เคยขาดเลยแต่ละวัน ก็จำเป็นจะต้องทยอยจับหอยขายให้อยู่เรื่อย ๆ เช่นกัน โดยตั้งราคาเป็นแบบมิตรภาพให้คือ150 บาท/กก. คละไซส์กันไปเลยทั้ง “เล็ก-กลาง-ใหญ่” ก็เหมือนกับเป็นการบริหารจัดการจำนวนประชากรที่เลี้ยงอยู่ในบ่อ เพื่อไม่ให้มีหนาแน่นจนเกินไปด้วย
“ในความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ผลผลิตการเกษตรประเทศไทย มันจะเป็นกระแสอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่ที่ว่าปั่นกระแสแล้วติดหรือไม่ เราก็จะผ่านการถูกกลุ่มนักธุรกิจนักลงทุนระยะสั้น เข้ามาฉกฉวยโอกาส มาทำพืชมาทำสัตว์แต่ละชนิด มาปั่นกระแสอย่างเช่นพืชหลาย ๆ ตัว หรือสัตว์หลาย ๆ ชนิดที่เคยทำให้มีความโด่งดังขึ้นมาทั้งด้านราคา ฉะนั้นเกษตรกรไทยเนี่ยควรจะต้องตระหนักรู้ เราคิดจะทำเพื่ออะไรประโยชน์ของเรา ถ้าเรารู้ไม่เท่าทันการตลาด เราก็จะเป็นเหยื่อการตลาด หอยเชอรี่สีทองก็จะเป็นตัวหนึ่งของสัตว์น้ำปั่นกระแส แต่ถ้าหากว่าเราคิดว่าจะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารเสริมโปรตีนในครอบครัว กินก็ได้ ขายก็ได้ ต้นทุนต่ำที่สุด ไม่ได้ขายก็ได้กิน มันมีเยอะกินไม่ไหวก็ขายออกไป เพราะไม่มีต้นทุนอะไรมากก็ใช้วัชพืชที่มีรอบบ้านเศษเหลือของพืชผักที่จะต้องทิ้งโดยเปล่าประโยชน์อยู่แล้ว ก็เนี่ยมาแลกเป็นอาหารเสริมโปรตีน ก็คือเนื้อของหอย และยังก่อให้เกิดรายได้ ลดรายจ่าย เสริมรายได้ ขยายโอกาส แบบค่อยเป็นค่อยไป”
พร้อมกันนี้อาจารย์ประทีปยังได้ฝากเน้นย้ำสำหรับ ผู้ที่คิดจะเลี้ยงสัตว์ประเภทเหล่านี้ไว้ในครอบครอง คุณต้องมั่นใจและปลอดภัยได้ว่ามันจะไม่เล็ดลอดออกไปสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ควบคุมให้ดีอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ห้ามหลุดรอดออกไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นโดยเด็ดขาด มันถึงจะเป็นความยั่งยืนแท้จริง
ขอบคุณข้อมูลจาก “สวนพออยู่พอกิน บ้านมายิ้ม” พัทยา จ.ชลบุรี สอบถามเพิ่มเติมโทร.081-664-5561
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *