สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แถลงผลการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเกษตรระดับชุมชนท้องถิ่น ในพื้นที่ 8 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ จันทบุรี ชุมพร ปทุมธานี พังงา เพชรบูรณ์ สกลนคร สมุทรสงคราม และอุดรธานี ระบุสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรได้มากกว่า 5,500 คน สร้างนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์กว่า 30 นวัตกรรม ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มากกว่า 48 ล้านบาท จากการมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นภาคประชาชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าเกษตร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป โดยแบ่งกลุ่มตามเทคโนโลยีการเกษตร ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีและกระบวนการด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าเกษตร ประชาชนผู้สนใจทำเกษตร กลุ่มผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมเกษตรสำหรับประชาชนและผู้สนใจทั่วไป หวังยกระดับไทยเป็นประเทศรายได้สูง
โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ลัทธจิตร มีรักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดงาน ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวแนะนำรายละเอียดของโครงการฯ นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายละเอียดการสนับสนุนโครงการฯ และดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. กล่าวต้อนรับ โดยมีหน่วยงานพันธมิตรและผู้แทนเกษตรกรเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
ดร.ลัทธจิตร มีรักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการฯนี้ของ วว. สามารถช่วยพี่น้องเกษตรกรได้จริงเป็นรูปธรรมโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปใช้ทำเกษตรกรรม มีรายได้มั่นคงใช้ในครอบครัว ยิ่งทำยิ่งได้ ซึ่งจะนำไปเป็นโมเดลต้นแบบความสำเร็จระดับมหภาคต่อไป เราจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราจะมีการต่อยอดโครงการไปสู่จังหวัดอื่นๆในภาคอื่นๆของประเทศต่อไป เราจะไม่หยุดการดำเนินโครงการเพียง 8 จังหวัดเท่านั้น
นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจะต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น การดำเนินโครงการนี้จะกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศต่อไป จากการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวน 48 ล้านบาทของโครงการ หากขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆของประเทศ จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเข้มแข็ง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่เป็นแรงงานมากที่สุดในประเทศ เกิดการแปรรูปผลผลิตการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น จะเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสร้างวิสาหกิจชุมชน สร้างโอกาส สร้างการลงทุน สร้างรายได้และต่อยอดธุรกิจในสาขาอื่นๆ
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า จากการที่ วว. ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำเนิน “โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” โดยใช้หลักแนวความคิด นวัตกรรมความคิด พิชิตเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามหลักการ ทำน้อยได้มาก พัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ที่เน้นการให้ความรู้แก่ประชาชน ตั้งแต่ต้นทาง ด้านการผลิตผลการเกษตร กลางทาง ด้านการสกัดและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในระดับอุตสาหกรรมกลางและขนาดย่อมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และปลายทาง ด้านการขนส่ง การตลาด และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตร โดยมุ่งหนุนอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด เพื่อยกระดับประเทศให้เป็นประเทศรายได้สูง มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงโดยการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้ ตามวัตถุประสงค์ในการสร้างการเกษตรสร้างมูลค่าตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
จากการที่ วว. ได้ลงพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัด โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ดำเนินการสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด มหาวิทยาลัย รวมถึงเครือข่ายเกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ หรือศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ร่วมกันนำเทคโนโลยีพร้อมใช้ของ วว. ทั้งด้านการเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบท้องถิ่น เทคโนโลยีการสกัดสารสำคัญ มาตรฐานการผลิตเครื่องสำอางและยา ถ่ายทอดความรู้เชิงปฏิบัติการ ให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการที่อยู่ในท้องถิ่น ให้สามารถสร้างสินค้าซึ่งเป็นนวัตกรรมชุมชน ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปเพิ่มมูลค่าและยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้กับสินค้าในท้องถิ่นให้มีความเป็นเอกลักษณ์ และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดย วว. ได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมใช้ในด้านการเกษตร ตลอดห่วงโซ่คุณค่า นับตั้งแต่ เทคโนโลยีก่อนเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป และการตลาด ในพื้นที่ 8 จังหวัด ดังนี้
จังหวัดจันทบุรี วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างนวัตกรรม การพัฒนากระบวนการผลิตสมุนไพร การพัฒนากระบวนการผลิตใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินและการชีวภัณฑ์ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตเชิงปริมาณและคุณภาพ
จังหวัดชุมพร วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างนวัตกรรม การยืดอายุการเก็บรักษาใบกระท่อม สามารถส่งจัดจำหน่ายในพื้นที่ห่างไกลและมีอายุการจำหน่ายยาวนานขึ้น และการลดต้นทุนเพื่อการผลิตทุเรียนอย่างยั่งยืน สามารถลดต้นทุนได้ถึงร้อยละ 30 และสามารถผลิตสารชีวภัณฑ์จากเชื้อที่มีคุณภาพดี ต้นทุนต่ำและง่ายต่อการนำไปใช้งาน
จังหวัดปทุมธานี วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างนวัตกรรม การผลิตกล้วยต้นเตี้ยเพื่อการลดการหักล้มจากพายุช่วยลดการสูญเสียจากลม และการให้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชยังส่งผลดีต่อการเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพ เทคโนโลยีการผลิตกล้วยผลโตโดยใช้ฮอร์โมน ทำให้ราคาผลผลิตสูงขึ้น และการพัฒนายกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสารสกัด นำสารสกัดจากวัตถุดดิบท้องถิ่น ได้แก่ บัวหลวง ข้าวหอมปทุม กล้วยหอมทอง พัฒนาเป็นเครื่องสำอาง สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าการเกษตร
จังหวัดพังงา วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างนวัตกรรมการเพิ่มผลผลิตผักเหลียงสด โดยใช้สารชีวภัณฑ์ที่เหมาะสม ต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูงในการเพิ่มผลผลิต ทำให้เก็บผลผลิตได้มากกว่าเดิมถึง 2 เท่า และการยืดอายุการเก็บใบเหลียงสด สามารถเก็บได้นานขึ้น จากเดิม 5-7 วัน เป็น 10-15 วัน ทำให้เพิ่มระยะเวลาการจำหน่ายได้มากขึ้น
จังหวัดเพชรบูรณ์ วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการสร้างนวัตกรรมการพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปสมุนไพรและพืชท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขิง เป็นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อินทรีย์เคมีที่มาจากวัสดุในท้องถิ่นเชิงปริมาณและระยะเวลา ที่เหมาะสม ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตเชิงปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งทำให้เกิดกระบวนการผลิตขิงที่ได้มาตรฐาน การพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปสมุนไพรและพืชท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกระบวนการสกัดน้ำมันอะโวคาโด เป็นกระบวนการสกัดและฟอกสีที่ได้มาตรฐาน
จังหวัดสกลนคร วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้การใช้ชีวภัณฑ์ในระบบเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ช่วยควบคุมคุณภาพของจุลินทรีย์ที่ผลิต ลดการปนเปื้อน ลดระยะเวลาการเลี้ยง ขยายเชื้อจุลินทรีย์และใช้งานง่าย และน้ำใบย่านางอเนกประสงค์ผง โดยใช้เทคโนโลยี freeze dry เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการ
จังหวัดสมุทรสงคราม วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมการเพิ่มผลผลิตคุณภาพลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชบังคับการออกดอกของลิ้นจี่ สามารถทำให้ลิ้นจี่ออกดอกได้เร็วขึ้น ลดการหลุดร่วงของดอก ทำให้ขนาดผลผลิตโตขึ้น และคุณภาพดีขึ้น เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวด้วยการรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ ชีวภัณฑ์ เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูลิ้นจี่ในพื้นที่ และยังสามารถใช้สำหรับเพิ่มผลผลิตส้มโอในพื้นที่ได้อีกด้วย
จังหวัดอุดรธานี วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม การผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนอกฤดูกาล โดยการใช้สารควบคุมการออกดอกและติดผลนอกฤดู ส่งผลดีทั้งระยะสั้น คือทำให้ได้ผลผลิตนอกฤดูกาล และส่งผลระยะยาว คือ เกษตรกรสามารถขยายผลให้สมาชิกกลุ่ม ทำให้เกิดการลงทุนในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น
นายบรรเลง ศรีสวัสดิ์ ผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน จ.ชุมพร ในฐานะผู้แทนเกษตรกร 8 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า มีความเชื่อมั่นว่ากิจกรรมของโครงการจะสร้างและเพิ่มมูลค่าผลผลิตเชิงคุณภาพ เพิ่มความหลากหลายและยกระดับประเทศให้เป็นประเทศรายได้สูง สามารถกระจายรายได้ตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการที่เกษตรกรเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ การดำเนินงานของ วว. ทำให้ต้นทุนการผลิตของเราลดลงได้กว่า 40% หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆของประเทศต่อไป
“ตลอดระยะเวลาดำเนินการโครงการฯ วว. สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ได้มากกว่า 5,500 คน เกิดการสร้างนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์กว่า 30 นวัตกรรม ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มากกว่า 48 ล้านบาท นับเป็นนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตรในพื้นที่ กระตุ้นการบริโภคของประชาชนภายในประเทศจากสินค้าเกษตรคุณภาพดีและผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมจากวัตถุดิบท้องถิ่น ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศที่เข้มแข็งและยั่งยืน สร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจ จากการพัฒนาสินค้านวัตกรรมจากฐานรากด้วยกลไกทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เชื่อมโยงการทำงานกับสถาบันอุดมศึกษาภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สามารถสนับสนุนการพัฒนาหรือแก้ปัญหาพื้นที่อย่างรวดเร็ว อันจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สร้างขีดความสามารถของชุมชนในการนำนวัตกรรมไปใช้เปลี่ยนแปลงและจัดการปัญหาชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน”