เทหมดหน้าตักสุดท้าย! มาใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่กับธรรมชาติปลูก “เลม่อนปลอดสาร” 30 ไร่ เน้นแปรรูปขายเองผ่านออนไลน์และขายส่ง ตลาดไปได้สวย จากกระแสรักสุขภาพที่กำลังมา! ล่าสุดเปิดหน้าร้านเพิ่มใน “จตุจักร” พร้อมเล็งต่อยอดธุรกิจสู่แฟรนไชส์
คุณต่อศักดิ์ วัฒนวิจารณ์ เจ้าของสวนเลม่อนชะอำ บนพื้นที่ผลิตกว่า 30 ไร่ในเขต จ.เพชรบุรี เล่าให้ฟังว่า ความตั้งใจที่อยากจะมาใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่กับธรรมชาติ สูดอากาศแบบโอโซนนิด ๆ ไม่ใกล้ไม่ไกลทะเล “หัวหิน-ชะอำ” มากนัก เลยไม่เอาแล้วเลิก! พอแค่นี้กับธุรกิจต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ที่เคยทำมาก่อนหน้านานหลายปี อพาร์ทเม้นต์และธุรกิจอิมพอร์ต-เอ็กซ์พอร์ต ตัดสินใจขาย! นำเงินทุนก้อนสุดท้ายเพื่อมาลงกับการทำฟาร์มเกษตรอยู่ที่นี่แทน
“ผมเริ่มมา 4 ปีที่แล้ว พอดีรู้จักกับคนไต้หวันเขาบอกว่าทำไมถึงไม่ปลูกพืชประเภทนี้ เพราะตอนนี้ที่ไต้หวันกำลังรณรงค์ให้คนหันมาดื่ม “น้ำเลม่อน” แทนน้ำชา ทานกับน้ำร้อนเป็น “ยา”นะถ้าทานกับน้ำเย็น “วิตามิน” จะสูงมาก เราก็เริ่มมีความรู้สึกว่าจริง ๆ พื้นที่เราโดยเฉพาะเพชรบุรี ก็เป็นแหล่งปลูกมะนาวอยู่แล้ว โดยธรรมชาติโดยพื้นดินมันก็น่าจะแมตซ์กันได้ แล้วอีกอย่างคือภรรยาเคยไปที่อิตาลี แล้วก็เห็นเมืองเลม่อนหนึ่งเมืองมันเต็มไปด้วยเลม่อนเลยครับ แล้วมันมีความสวยงาม สดชื่น อะไรเงี้ยครับแล้วเราก็มองว่าอนาคต ถ้ามีร้านขายเลม่อนสวย ๆ สักหนึ่งร้านมีอะไรแบบนี้ ทำรีสอร์ทในแปลงเลม่อนได้ เราก็มองไปตรงนั้นด้วยครับ มันก็เลยพอดีสองประเด็นนี้มาประจวบกัน เราก็เลยมีความสนใจและก็เริ่มที่จะทำ ที่ตรงนี้เริ่มต้นอยู่ประมาณ 30 ไร่ เดิมเลยสมัยก่อนเขาปลูกมันสำปะหลังหรืออะไรสักอย่างเนี่ยละครับก็รกร้างมา ซึ่งเราก็เริ่มเข้ามาทำ ปรับที่ แล้วก็ค่อยลงปลูก ก็ขยับขยายวางระบบที่เป็นระบบการเกษตรชัดเจน”
คุณต่อศักดิ์บอกด้วยว่า สำหรับ “เลม่อน” คนในประเทศไทยอาจจะไม่ค่อยรู้จักกันสักเท่าไร ดังนั้นตลาดขายส่งใหญ่ ๆ ก็จะค่อนข้างลำบากอยู่สักหน่อย ประกอบกับการผลิตแบบ “ปลอดสาร” อย่างที่สวนเน้นทำอยู่ ผลของเลม่อนที่ได้ก็เลยจะไม่ค่อยสวยเท่าไร ด้วยปริมาณซึ่งก็มีเยอะมาก แต่ในขณะที่ตลาด(การซื้อ) มีน้อยกว่ามันก็ต้องมี “ของเหลือ” ซึ่งในใจที่คิดไว้แต่แรกอยู่แล้ว จะไม่เน้นขายเรื่อง “ผล”เป็นหลัก แนวคิดคืออยากจะทำ “แปรรูป” อยู่แล้ว ส่วนตัวอีกอย่างมองว่า “เลม่อน” น่าจะดีกว่ามะนาว คือ1. โรคพืชไม่มี ที่หนัก ๆ อย่างโรคแคงเกอร์จะไม่ค่อยเจอ อาจจะมีบ้างก็เช่น สแคร๊บ แต่ว่าไม่หนักหนาเท่า โดยหลัก ๆ ที่นี่จะต่อสู้กับแมลงและหนอนมากกว่า ส่วนนอกนั้นเรื่องของ “ชุดดิน” ที่นี่ก็เหมาะเพราะเป็นดินปนทราย ค่อนข้างจะแมตซ์กับการทำเลม่อนหรือปลูกมะนาว เรื่องอากาศดีมาก พื้นที่ตรงนี้ค่อนข้างจะตอบโจทย์ และจากการที่เลม่อนหรือมะนาวเป็นพืชที่ต้องการแสง 100% ซึ่งตนคิดว่าที่นี่ก็เหมาะสมกับการปลูกไม่แพ้
หลังการลองผิดลองถูกมากับ “สายพันธุ์” ต่าง ๆ ที่นำมาปลูกไว้มากเกินแล้ว คุณต่อศักดิ์บอกว่าในที่สุดก็คัดเลือกพันธุ์ได้เหมาะกับการใช้งานมากที่สุด เช่น การทำน้ำเลม่อนเนดก็มี “พันธุ์เมเยอร์” ที่ให้น้ำเยอะ หรือการใช้ผิวสำหรับการทำอาหารบางประเภทที่เน้นใช้ผิวเป็นหลัก ก็มี “พันธุ์ยูเรก้า” เป็นต้น จากนั้นในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยความที่ มีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติเยอะอยู่แล้ว ฝรั่งเศส อิตาลี ที่แวะเวียนเข้ามาชมสวน ก็ได้แนะนำให้ทำในสิ่งที่บ้านเขามีความนิยมบริโภคกัน อย่าง LEMON CELLO ด้วยซึ่งเป็นเหล้าหมักกับผิวส้ม เป็นการดึงเอาประโยชน์จากผิวส้ม (น้ำมันฯ) ที่เป็นตัวยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียต่าง
ๆ ได้ดีมาก แต่เขาก็ไม่ได้บอกเราว่ามันดีอย่างไร เพียงแต่บอกว่าคนอิตาลีชอบทานสิ่งนี้หลังอาหาร ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีประโยชน์ในการช่วยย่อยหรืออื่น ๆ อีกมากที่เราก็ยังไม่รู้ได้ แล้วเขายังบอกอีกว่ามันดังมาก ปัจจุบันมีขายไปทั่วโลกสำหรับ “เลม่อนเชลโล่” แล้วเขาก็บอกวิธีทำให้ด้วย ปรากฏว่าพอลองทำดูแล้วให้คนอิตาลีเจ้าตำรับของสูตรนี้ชิม คนฝรั่งเศสก็ชิมด้วย เขาบอกอร่อย! คือคนต่างชาติ Love เลยซื้อเลย! ต่อมาอีกคือ CANDIED คนอิตาลีก็ชอบทำด้วย เป็นผลไม้ประเภทหนึ่งที่เขานิยมทานหลังอาหารอีกเช่นกัน ก็ถามวิธีการทำจากเขามาค่อย ๆ ลองทำดู จนสามารถพัฒนาได้คุณภาพออกมาที่คนอิตาลีชิมแล้ว ก็ชอบอีก! และตัวนี้ร้านเบเกอรี่ยังชอบซื้อไปแต่งหน้าเค้กกันเยอะมาก ต่อมาอีกก็คือ “3 ZAPP” รสจี๊ดจ๊าดทานกับพริกเกลือเป็นของทานเล่น ซึ่งได้มีการพัฒนาเป็นหนึ่งในไอเท็มของฟูดส์ และยังมีอีกหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเลม่อนได้
“ก่อนโควิดก็มีคนเรียกร้องมาพอมาเห็นสวน แล้วก็มาเห็นผลิตภัณฑ์เราอย่างนี้ เขาอยากจะมาเรียนรู้มาให้เราสอนเราก็บอกได้ครับ เชิญ ๆ ครับ ก็เชิญเขามาก็เปิดclass สอนทำผลิตภัณฑ์ เป็นน้ำยาเอนกประสงค์ สบู่ แชมพู ก็สอนให้1 class แล้วก็ช่วงเช้าจะสอนเรื่องการปลูกเลม่อน การเก็บ การตัดแต่ง การให้ปุ๋ย-ให้น้ำ ก็เคยทำเวิร์กช้อปมา ส่วนตอนนี้เมนหลักของเราก็ทำออนไลน์กับขายส่ง เราก็จะมีคนเอาไปขายแทน แล้วตอนนี้ก็มีโครงการที่เราไปเปิดShop เล็ก ๆ อยู่ที่ตลาดนัดจตุจักร เป็นเอ้าท์เลตขายน้ำและผลิตภัณฑ์ของเรา และในอนาคตเราก็อยากจะทำ เป็นพวกแฟรนไชส์ด้วยเป็นอะไรประมาณนั้นครับ”
สำหรับการพัฒนาต่อไป คุณต่อศักดิ์บอกว่าพอเริ่มเรียนรู้กับมัน จนเรารู้แล้วว่าเราจะแยกประเภทในเรื่องของการทำสินค้าอย่างไร ต่อไปหน้าสวนจะเริ่มพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เปิดเป็นเหมือนฟาร์มที่สำหรับคนมานั่งทานหรือดื่มได้ และก็มาซื้อผลิตภัณฑ์เหมือนเอ้าท์เลต และยังจะเปิดเป็นแหล่งสัมมนาเรียนรู้ในเรื่องของเลม่อนทุกอย่าง ต่อไปจะทำในเชิงของเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งสำคัญที่สุดคือ เอาประสบการณ์ของตนเองไปเป็นวิทยาทาน จากความเสียหายเยอะมากที่เคยเจอมา “สิ่งที่ผิด”คือมาที่นี่ก็จะบอกก่อนเลย เพราะฉะนั้นคนที่มาก็จะเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกอย่างเดียว ก็อยากจะให้มาเรียนรู้ก่อนใครอยากจะทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่อง “เลม่อน” ไม่ว่าจะเป็น การแปรรูป การเกษตร หรือเรื่องการผลิต ฯลฯ คืออยากให้มาคุยมาแลกเปลี่ยนไอเดียกันก่อน
ถามคุณต่อศักดิ์อีกว่า แนวโน้มของตลาดเลม่อนในบ้านเราจะพัฒนาหรือเติบโตไปในทิศทางอย่างไรบ้าง? ซึ่งเจ้าตัวก็ได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมมองในส่วนตัวไอเดียส่วนตัวนะครับ ผมว่าต่อไปเนี่ยมันจะขยายตัวใหญ่มาก ๆ ด้วยนะ ไม่ใช่ใหญ่ธรรมดา เราเห็นจากผลิตภัณฑ์ที่เขามีทั้งหมดเลยครับ วันนี้ลองไปเดินในซูเปอร์มาร์เก็ตดูครับ เราจะเห็นทุกอย่างต้อง LEMON Plus หมดเลย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม เห็นไหมครับที่ออกมาใหม่ทั้งหลายสังเกตดูทุกที่จะมี เลม่อน พลัส รวมทั้งไม่ว่าจะเป็นน้ำยาขจัดคราบ น้ำยาขจัดกลิ่น น้ำยาทุกอย่างเครื่องสุขภัณฑ์ทั้งหมด ก็ต้องเป็นเลม่อน เพราะฉะนั้นต่อไปผมว่าคนรณรงค์ในเรื่องการดื่ม “เลม่อน” ก็เยอะมาก จนปัจจุบันนี้เราก็เริ่มขายดีขึ้นมาน่าตกใจ! เหมือนกันครับจากกระแสที่ว่าความต้องการที่บริษัทใหญ่ ๆ ที่ผลิตกันขึ้นมาเป็นน้ำเลม่อนต่าง ๆ ผมว่าต่อไปคนจะเข้าใจมากขึ้นยิ่งถ้าสมมติว่า apply ไปให้มันเข้ากันได้ดีกับอาหารไทยได้ ต่อไปเลม่อนก็จะค่อย ๆ แทรกเหมือนกัน เพียงแต่วันนี้คนยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไรเพราะมะนาวมันจะเป็นผลไม้ฤดูกาล เวลาที่มันแพง มันก็แพงจับใจ แต่เลม่อนเป็นไม้ทะวายมันสามารถเกิดได้ตลอดปีตลอดทชาติ ก็หมุนเทิร์นไปเรื่อย ๆ ผมว่าต่อไปไอเดียผมนะครับจะดี จะดีมากด้วย”
สอบถามเพิ่มเติมโทร.
081-640-1463 หรือ086-801-8833
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *