ค่าใช้จ่ายและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดสำคัญ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ประเทศไทยมีการสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและภาคเอกชนของไทย มาตั้งแต่ปี 2543 พบว่า ตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 แต่จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤตที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ทำให้ในปีสำรวจ 2563 คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาจะลดลง และมีผลต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565
สำรวจภาพรวมการลงทุนงานวิจัยในช่วงโควิดไทย
จากผลกระทบดังกล่าว หากต้องการรักษาให้มูลค่าการลงทุนวิจัยและพัฒนาให้อยู่ในระดับปกติ ภาครัฐต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเข้ามา ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ประจำปี 2564 (สำรวจข้อมูลปี 63) ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ทำการสำรวจนั้น พบว่า ภาพรวมตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาเติบโตขึ้น เป็นจำนวนรวมกว่า 208,010 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น คิดเป็นจำนวน 66,304 ล้านบาท และภาคเอกชน 141,706 ล้านบาท โดยสัดส่วนภาครัฐต่อภาคเอกชนอยู่ที่ร้อยละ 32 และร้อยละ 68 ตามลำดับ
ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ล่าสุดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เปิดเผยถึง “ผลสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ของประเทศไทย ปี 2563” ซึ่งมีการเก็บข้อมูลและสำรวจในรอบปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนารวมทั้งสิ้น 208,010 ล้านบาท คิดเป็น 1.33 % ของ GDP ของประเทศ และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 7.74 % จากปี 2562 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ฯ รวม 193,027 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.14 % ของ GDP ของประเทศ
แหล่งที่มาของการลงทุนด้านวิจัย ปี 2563
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ในปี 2563 มาจากภาคเอกชน 68% หรือ 141,706 ล้านบาท ส่วนอีก 32% หรือ 66,304 ล้านบาท มาจากภาครัฐรวมถึงภาคอุดมศึกษา รัฐวิสาหกิจ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร
จากสัดส่วนดังกล่าวพบว่า การลงทุนของภาคเอกชนในปี 2563 ได้ลดลงจากเดิมในปี 2562 ที่มีสัดส่วนภาคเอกชน : ภาครัฐ 77 : 28 เนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เนื่องจากภาครัฐได้มีการใส่เม็ดเงินลงทุนเข้าไปในระบบเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยในปี 2563 ยังเพิ่มสูงขึ้น
โดยอุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2563 อันดับ1 คือ อุตสาหกรรมอาหาร 32,545 ล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการยังลงทุนในการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น อันดับ 2 คือ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง 11,862 ล้านบาท ซึ่งมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในด้านวิศวกรรมการป้องกันภัย การตรวจสอบ และการระงับอัคคีภัย ที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนได้ รวมถึงมีการวิจัยด้านวัสดุก่อสร้างที่ประหยัดพลังงาน และอันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า 11,675 ล้านบาท ซึ่งมีการลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมากขึ้น จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการทำงานที่บ้าน
ผลสำรวจบุคลากรด้านการวิจัย
ขณะที่การสำรวจด้านบุคลากร พบว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานเทียบเท่าเต็มเวลา รวมทั้งสิ้น 168,419 คน/ปี คิดเป็นสัดส่วน 25 คน/ปี ต่อประชากร 10,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 1 % โดยแบ่งเป็นบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา Full-time equivalence (แบบ FTE) ในภาคเอกชน จำนวน 119,264 คน/ปี ส่วนภาครัฐและอื่น ๆ จำนวน 49,155 คน/ปี ทั้งนี้ประเทศไทยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (แบบ FTE) ให้มีสัดส่วนอยู่ที่ 40 คน/ปี ต่อประชากร 10,000 คน ภายในปี 2570
ดร.วิภารัตน์ กล่าวเพิ่มว่า ผลสำรวจดังกล่าว เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดสำคัญที่สะท้อนถึงสถานภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ และจะเป็นชุดข้อมูลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปใช้ประกอบในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม การคาดการณ์กรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (ววน.) รวมถึงการติดตามประเมินผล และเป็นข้อมูลที่ใช้ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปี ของแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ตามแผนพัฒนาฯฉบับที่12 สกสว.ใช้เป็นข้อมูลการคาดการณ์กรอบงบประมาณด้านววน. และประกอบในการวิเคราะห์ตัวชี้วัดของแผนงานหรือโปรแกรมวิจัยและนวัตกรรม
สอวช.เพื่อการใช้ประโยชน์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดประจำปีงบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเด็นยุทธศาสตร์ที่1 ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้วิเคราะห์และประเมินภาวะการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่วนหน่วยงานใช้ประโยชน์อื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลสะท้อนสถานภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยวช.ซึ่งมีบทบาทในการบริหารทุนวิจัย จะนำชุดข้อมูลและเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ ไปทำให้เกิดเป็นแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตรงตามทิศทางและนโยบายในภาพรวมของประเทศต่อไป
สอวช. เผยตัวเลขลงทุน R&D ของไทย แม้เผชิญโควิด-19 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง
ด้านดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่า “ทั้งนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาร้อยละ 2 ของจีดีพี ให้ได้ในปี 2570 โดยต้องมีมาตรการ กลไกที่ต้องเข้าไปช่วยกระตุ้นและส่งเสริมภาคเอกชนให้ลงทุนเพิ่มมากขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่าในปี 2565-2567 หากทั้งภาครัฐและเอกชนใส่เงินลงไปที่การวิจัยและพัฒนาตรงนี้ ”
สอวช. ตั้งเป้าหมาขับเคลื่อนด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ให้สำเร็จภายในปี 2570 ได้แก่ 1) ขับเคลื่อนประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยเพิ่มจำนวนบริษัทที่มีนวัตกรรมที่มีขนาดมากกว่า 1,000 ล้านบาท ให้ได้ 2,000 บริษัท และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5 เท่าของการเติบโตรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของประเทศ 2) เพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูงให้เป็น 25% ในปี 2570 ผ่านแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการลงทุนและการพัฒนาประเทศ 3) มีแพลตฟอร์มขับเคลื่อนการขยับสถานะทางสังคมและรายได้ของประชากรกลุ่มฐานรากหรือ Social Mobility จำนวน 1 ล้านคน
และ 4) ผลักดัน 50% ของบริษัทส่งออกให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายได้ต้องมีการสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ทุนทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ ใช้แนวทางการขับเคลื่อนประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางผ่าน Three-Pronged Strategy ที่ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้เป็นฐาน หรือ Knowledge-Based Industry 2) อุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรมเป็นฐาน หรือ Creative & Cultural-Based Industry และ 3) เศรษฐกิจท้องถิ่น หรือ Local Economy
มุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรม
ในส่วนของการขับเคลื่อน Knowledge-Based Industry ด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรม (Innovation Economy) มุ่งเน้นการเพิ่มผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise หรือ IDE) ทั้งปริมาณและคุณภาพ ให้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และมีการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาประเทศ ส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy หรือ CE) แพลตฟอร์มเพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem) มีการริเริ่มทำ CE Innovation Policy Platform นำไปสู่การจัดทำ CE Design & Solution Platform ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับการขับเคลื่อน Creative & Cultural-based Industry ส่งเสริมทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ เป้าหมายเพื่อให้เกิดธุรกิจสร้างสรรค์ ต่อยอดจากทุนทางวัฒนธรรม ในแง่ของชุมชน เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดทุนวัฒนธรรม โดยแปลงทุนทางวัฒนธรรมต่อยอดและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และในแง่เครือข่าย มีการวางแผนและผลักดันให้เมืองเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ในส่วนขับเคลื่อน Local Economy ผ่านการส่งเสริมให้เกิด social enterprise เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งจากภายในและภายนอกพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่จะสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการนวัตกรรม ที่มีไอเดียธุรกิจและเกิดกิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ โดยภาครัฐมีหน้าที่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายและเป็นระบบนิเวศ
นอกจากนี้ยังมีแนวทางการขจัดความยากจนแบบตรงจุด จากการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล สนับสนุนให้เกิดโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยใช้องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพยากรมาใช้พัฒนาพื้นที่พัฒนาประเทศ การขับเคลื่อนด้านนโยบายในส่วนอื่นๆ ยังมีแนวทางการสร้างทักษะใหม่ (new skill) สนับสนุนเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง (lifelong learning) มีการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของการupskill/reskill/new skill เพื่อผลิตกำลังคนรองรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้ได้ตามเป้าหมาย 100,000 คนต่อปี
ตัวอย่างนโยบายกระทรวง อว. เช่น การผลักดัน พ.ร.บ. ใช้ประโยชน์วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564, มาตรการ Thailand Plus Package การรับรองแรงงานที่มีทักษะสูงและการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร (STEM), ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม แม่โขง-ล้านช้าง Route No.1 Innovation Economic Corridor เชื่อมโยงกับประเทศใกล้เคียง, กองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) ที่ภาครัฐสนับสนุนทุนด้านนวัตกรรมให้แก่ SME จัดการศึกษารูปแบบใหม่ (higher education sandbox)เพื่อผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการ ตามมาตรฐานการอุดมศึกษา, การปรับระบบการให้ทุน ววน. ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเข้ากองทุน ววน. ไปแล้วกว่า 17,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ได้รับการจัดสรร 14,000 ล้านบาท เพื่อนำเม็ดเงินมาลงในเรื่องการวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านงบประมาณ เช่น การบริหารกองทุนส่งเสริม ววน. โดยมีหลักการเพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณแบบ multi-year และ block grant, ด้านการบริหารจัดการ เช่น การจัดทำผังโครงสร้างข้อมูลด้าน ววน. เพื่อการติดตามนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้าน ววน., ด้านโครงสร้างระบบหน่วยงาน เช่น การจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านภายใต้สภานโยบาย (บพค., บพข., บพท.), ด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม เช่น มาตรการสนับสนุนทุนแก่ภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตามความต้องการของภาครัฐหรือตามอุปสงค์ของตลาด (Thailand Business Innovation Research หรือ TBIR) เป็นต้น
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด