นายกฯ ให้ความมั่นใจประเทศไทย พร้อมเปิดประตูสู่โอกาส เดินหน้า 4 มาตรการหลัก เร่งลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ลดปริมาณคาร์บอน ขับเคลื่อน เศรษฐกิจ BCG Model และดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ย้ำคนไทย “อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง และยั่งยืน” เพื่ออนาคตของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
วันนี้ (19 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของประเทศไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม” ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ สยามพารากอน โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางสาวณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และตัวแทนภาคเอกชน เข้าร่วมด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงการเป็นรัฐบาล คสช. ได้พยายามพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าทุกคนสามารถมีเสรีภาพทางความคิดภายใต้กรอบกฎหมายที่ผ่อนปรน รัฐบาลใช้อำนาจเท่าที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาเท่านั้น ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม การตรวจสอบต่างๆ ยังคงเป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระ ยืนยันการเข้ามาเป็นรัฐบาล คสช. เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประเทศ บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ นานาชาติเกิดความเชื่อมั่น โดยรัฐบาลได้บริหารประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” สร้างชาติให้เป็นบ้านที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ เป็นไปตามแผน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2580 ที่เป็นแผนภาพรวมใหญ่ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมเดินไปสู่เป้าหมายที่ตรงกัน พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีแผนระยะสั้น และระยะปานกลาง ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดการขับเคลื่อนประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ตามยุทธศาสตร์ชาติ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 รัฐบาลได้สานต่อการบริหารงานภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน โดยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นกรอบเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยมีการวัดผลและทบทวนแผนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรัฐบาลพยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเดิม พร้อมทั้งมุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถ สร้างอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต เพื่อให้สอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งสานต่อนโยบายการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ รวมทั้งการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก โดยการต่อยอด-ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ และมีความได้เปรียบ ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม (First S-curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร
นอกจากนี้ รัฐบาลยังต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ที่เป็นแนวโน้มของโลกในอนาคต ในส่วนของการเตรียมความพร้อมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เกิดการลงทุนจริง ที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการลงทุนของภาครัฐ ในช่วงปี 2558-2562 ถึงร้อยละ 7.9 ต่อปี เชื่อมโยงแต่ละภาคของประเทศ และเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน ทุกทิศทาง ได้แก่ ทางถนน มอเตอร์เวย์ ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่พร้อมเปิดประตูสู่โอกาส ในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล รัฐบาลได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งเป้าการเปลี่ยนแปลงสู่ (Transform) รัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้และปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัล และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และเตรียม “น้ำต้นทุน” สำหรับภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนน้ำอุปโภค-บริโภค สำหรับทุกครัวเรือนอย่างทั่วถึง ควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษาครอบคลุมทุกระดับ ทั้งในระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา นับตั้งแต่ปี 2562 ได้วางแนวทางส่งเสริมการศึกษาแบบ Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลิตคนยุคใหม่ เตรียมพร้อมสำหรับโลกปัจจุบัน และอนาคต
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ว่า เป็นวิกฤตโลกครั้งที่ใหญ่ที่สุด ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก โดยในช่วงเริ่มการระบาด ทั่วโลกจำเป็นต้องปิดประเทศ รวมถึงประเทศไทย ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่ออกมา ได้คำนึงถึงการสร้างความสมดุลทั้งมิติด้านสุขภาพ และมิติทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์จากความร่วมมือร่วมใจของคนไทย ทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม. และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่เกี่ยวข้อง ทำให้องค์กรต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงองค์การอนามัยโลกได้ให้การยอมรับ และชื่นชมประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่รับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดีที่สุด เป็นลำดับต้นๆ ของโลก
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ที่ทั่วโลกและประเทศไทยได้รับผลกระทบของวิกฤตจากความขัดแย้ง ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนว่า ส่งผลให้ราคาสินค้า ราคาพลังงาน ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลได้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนอยู่รอด อาทิ การช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม การช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตลอดจนการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นต้น รวมทั้งรัฐบาลได้เสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ยังได้ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน โดยครอบคลุมลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตลอดจนลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและข้าราชการ และหนี้ผู้ประกอบการ มุ่งเน้นการแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน ให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ ครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ มิติสุขภาพ มิติความเป็นอยู่ มิติการศึกษา มิติด้านรายได้ มิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ว่า ประเทศไทยต้องมี การลงทุน และเตรียมความพร้อมที่จะเติบโต ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่อย่างครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ ต้องมีการลงทุน 1) เทคโนโลยีดิจิทัล 2) อุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน 3) นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) และ 4) ดำเนินการกำหนดมาตรการเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย เพื่อให้มาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของประเทศไทย ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ในทุกโอกาสที่ได้พบปะผู้นำประเทศแบบทวิภาคี หรือการประชุมสำคัญ ๆ แบบพหุภาคี รัฐบาลนำเสนอนโยบายเชิงรุก และแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ ในประเด็นหลักที่เป็น “วาระของโลก” ซึ่งในปี 2565 นี้ ได้มีความคืบหน้าครั้งสำคัญ เช่น 1) การฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย 2) ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น 3) การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะนำความสุขกลับมาสู่พี่น้องชาวไทยโดยเร็ว สิ่งที่รัฐบาลสามารถให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ คือ “ประเทศไทยในวันนี้ ยังมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่ดี” พร้อมรับมือกับวิกฤตที่ยืดเยื้อได้ มีความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต และมีอุตสาหกรรมสำหรับรองรับ คนรุ่นใหม่ในด้านต่างๆ รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียนทุกด้าน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมุ่งมั่นแก้ปัญหา ตั้งใจทำงาน เพื่อให้ประชาชน อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง ยั่งยืน ขอเพียงให้อดทน ร่วมมือ ร่วมใจกัน เพื่ออนาคตของประเทศไทยและลูกหลานของเรานายกฯ ให้ความมั่นใจประชาชนยืนยัน “ประเทศไทยในวันนี้ ยังมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่ดี” พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่ออนาคตของประเทศไทยและลูกหลานทุกคน