xs
xsm
sm
md
lg

ใช้เอกลักษณ์สร้างจุดขาย “วัฒนธรรมและอาหารพื้นถิ่นบ้านโคกเมือง” ตอบโจทย์คนอยากสัมผัสชีวิตชนบท กระจายรายได้สู่ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วัฒนธรรมประเพณีและอาหารอีสาน เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ ที่ได้รับการสืบถอดกันมาอย่างยาวนาน และอาหารอีสานก็เป็นอีกหนึ่งอาหาร ที่ผู้คนให้ความนิยมเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากรสชาติที่แซบนัวลงตัว และบางวัฒนธรรมและบางเมนูอีสานก็สามารถพบเห็นสามารถหากินได้เพียงแค่เฉพาะในที่ กลายเป็นไฮไลท์เด่นที่ต้องเดินทางไปให้ถึงเพื่อให้ได้สัมผัสและลองลิ้มชิมรส เช่นที่ "หมู่บ้านโคกเมือง" อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีทั้งอาหารพื้นถิ่นและวัฒนธรรมขอมอันโดดเด่นมีเอกลักษณ์ จนสามรถนำมาต่อยอดเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือน สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน


อาจารย์อนงค์ ทองเรือง หัวหน้าชุดโครงการการจัดการวัฒนธรรมอาหาร เพื่อการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ได้กล่าวถึงการนำเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมและอาหารพื้นถิ่นของหมู่บ้านโคกเมือง มาต่อยอด ว่า โครงการนี้ได้ร่วมกับ ดร.คคนางค์ ช่อชู และ อาจารย์จิตตะวัน กุโบลา อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาสังคมและชุมชน โดยมีความคิดว่า “หมู่บ้านโคกเมือง” เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวของทางจังหวัดบุรีรัมย์ เป็น 1 ใน 80 หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม OVC ( Otop Village Champion) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีความพร้อม ทั้งในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว ที่พักโฮมสเตย์ อาหารพื้นถิ่น วัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์มาอย่างยาวนาน และสามารถสัมผัสได้เพียงแค่ที่นี่เพียงแห่งเดียว จึงมีความคิดว่าอยากนำจุดเด่นในเรื่องนี้ มาต่อยอดเพื่อกระจายรายได้ให้กับชุมชน

อาจารย์อนงค์ ทองเรือง หัวหน้าชุดโครงการการจัดการวัฒนธรรมอาหาร เพื่อการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์
“ปัจจุบัน จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีการพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวด้านการกีฬา เนื่องจากเป็นที่ตั้งของ ธันเดอร์คาสเซิลสเตเดียม ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เมื่อมีการจัดการแข่งขันกีฬาระดับรางวัลใหญ่ๆ ก็จะมีนักท่องเที่ยวมากมายหลั่งไหลมาชมการแข่งขัน ในบางครั้งที่พักในจังหวัดก็เต็ม จนทำให้นักท่องเที่ยวต้องไปพักที่จังหวัดใกล้เคียง จึงเสียดายโอกาสเรื่องนี้ เลยได้ทำโครงการนี้ เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวไปพักที่โฮมสเตย์ในหมู่บ้านต่างๆ ของทางจังหวัด ได้เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตและอาหารพื้นถิ่นของคนในชุมชน รายได้ก็กระจายสู่ทุกๆ พื้นที่ของจังหวัด” อาจารย์อนงค์ กล่าวเสริม


ในเรื่องของผลตอบรับนั้น เนื่องจากหมู่บ้านโคกเมืองมีการจัดการเรื่องระบบโฮมสย์ไว้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น ปราสาทเมืองต่ำ ให้ได้ชม จึงทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเข้าพักได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ปั่นจักรยานชมชุมชนและโบราณสถาน ร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ ชมการแสดงดนตรีพื้นบ้าน หัดทอเสื่อกก ทอผ้าไหม ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการการสัมผัสวิถีชีวิตแบบชนบทได้เป็นอย่างดี เพราะบางประเพณีก็สามารถเห็นได้เพียงแค่หมู่บ้านนี้หมู่บ้านเดียว และนักท่องเที่ยวส่วนมากที่มาเข้าพักก็จะมีการแนะนำกันแบบปากต่อปาก บางคนก็กลับมาเที่ยวอีกครั้ง เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน


นอกจากนี้ทางโครงการยังได้มีการวิจัยในเรื่องชาติพันธุ์ในชุมชนบ้านโคกเมือง ได้พบว่ามีชาวไทยกุย ไทยลาว ไทยโคราช และไทยเขมรอาศัยอยู่ จึงได้สืบค้นวิเคราะห์ว่าเมนูอาหารพื้นถิ่นนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อที่จะใช้เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้าน และนักท่องเที่ยว จึงได้คิดค้นเมนูอาหารขึ้นมาได้ทั้งหมด 5 เมนู และจัดเป็นสำรับอาหารพื้นถิ่นไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาพักที่หมู่บ้าน ได้แก่ ต้มไก่ใส่ใบมะขามอ่อน ผัดกุ้งจ่อมทรงเครื่อง น้ำพริกนายฮ้อย ข้าวแตนหน้ากุ้งกะฉีก ตำไก่ใส่มะม่วง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเข้าพัก ก็ต่างอยากลองลิ้มชิมรสอาหารพื้นถิ่น ในเรื่องนี้จึงมีส่วนช่วยให้ชาวบ้านที่เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง ในการหาวัตถุดิบมาทำอาหารเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวได้มีอาชีพและมีรายได้


การนำวัฒนธรรมประเพณีและอาหารพื้นถิ่นที่มีมีเอกลักษณ์ มาต่อยอดเพื่อให้เชื่อมโยงกับกลุ่มนักท่องเที่ยว นั้นเป็นการสร้างจุดเด่นได้เป็นอย่างดี ชุมชนบ้านโคกเมือง จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้การมาเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ได้มาดูแค่กีฬาแต่ยังได้ชมวิถีชีวิตวัฒนธรรมและลิ้มรสอาหารพื้นถิ่น กระจายรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน


สนใจติดต่อ
FB : บ้านโคกเมือง จ.บุรีรัมย์
โทร. 044 – 666 2478 , 088 - 193 8840 (ประธานโฮมสเตย์บ้านโคกเมือง)



กำลังโหลดความคิดเห็น