xs
xsm
sm
md
lg

สนค.เผยข้อแนะนำวิสาหกิจชุมชน กับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุคโควิด - 19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้จัดทำรายงานการศึกษา เรื่อง "วิสาหกิจชุมชนกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุคโควิด -19" เพื่อชี้ให้เห็นถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับฐานราก (วิสาหกิจชุมชน) ที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้าไปมีบทบาทพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง สามารถเข้าถึงตลาดทุกระดับได้เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับให้วิสาหกิจชุมชนเป็นวิสาหกิจที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ในยุคโควิด-19


"วิสาหกิจ" หมายถึง กิจการผลิตสินค้า กิจการให้บริการ กิจการค้าส่ง กิจการค้าปลีก หรือกิจการอื่นตามที่กำหนดไว้ และสามารถกำหนดนิยามของวิสาหกิจแต่ละประเภท และ "วิสาหกิจชุมชน" หมายถึง กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน (การจดทะเบียน จะต้องรวมกลุ่มในชุมชนไม่น้อยกว่า 7 คน ไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน มีวิถีชีวิตร่วมกัน และไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านเดียวกัน)


วิสาหกิจกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปี 2562 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยมีมูลค่า 16,879,027 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 2.4) โดย GDP ของวิสาหกิจมีมูลค่ารวม 16,365,572 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 96.96 ของ GDP ของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทวิสาหกิจในประเทศไทยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาคบริการและภาคการค้ามีบทบาทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนลดลง แสดงถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าลดลง ในขณะที่การส่งออกบริการหรือภาคการท่องเที่ยว มีบทบาทสำคัญมากขึ้น และภาคค้าปลีกค้าส่งได้แรงสนับสนุนจากเทคโนโลยีออนไลน์ และความเร็วของอินเทอร์เน็ต ส่งผลต่อการขยายตัวของ GDP ในภาคการค้า แต่สถานการณ์โควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และการท่องเที่ยวของไทย ทำให้โครงสร้าง GDP ของไทยจะมีการปรับตัวอีกครั้ง


วิสาหกิจชุมชนกับการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ ปี 2562 วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศมีการจดทะเบียน 85,436 ราย ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ จังหวัดที่มีวิสาหกิจชุมชนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีษะเกษ มหาสารคาม ขอนแก่น บุรีรัมย์ อุดรธานี สกลนคร เชียงใหม่ และสุรินทร์ และ จังหวัดที่มีวิสาหกิจชุมชนน้อยที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ รุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สิงห์บุรี นครนายก ปทุมธานี นครปฐม ภูเก็ต ปราจีนบุรี นนทบุรี และเพชรบุรี


โครงสร้างประเภทกิจการของวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่เป็นกิจการที่ผลิตสินค้า โดยกลุ่มการผลิตพืช มีจำนวนมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ การผลิตปศุสัตว์ การแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหาร การผลิตปัจจัยการผลิต ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ/เสื้อผ้า เครื่องจักสาน การผลิตประมง เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องไม้/เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น


บทวิเคราะห์ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า วิสาหกิจชุมชนกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุคโควิด - 19

ด้านตลาด : วิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่มีการจำหน่ายสินค้าและบริการเฉพาะในพื้นที่ของตน ไม่มีการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและความต้องการของตลาด ทำให้ไม่สามารถขยายการค้าออกไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ได้

ด้านความยั่งยืนของกลุ่ม : วิสาหกิจชุมชนหลายกลุ่ม จดจัดตั้งเป็นการเฉพาะกิจ เป็นอาชีพเสริม ทำให้มีการรวมตัวกันระยะสั้น ๆ สุดท้ายเมื่อดำเนินกิจการไม่สำเร็จก็ล้มเลิกไป

ด้านองค์ความรู้ด้านการเงินและบัญชี : วิสาหกิจชุมชนหลายแห่งยังขาดองค์ความรู้ทางด้านการเงินและการบัญชี ทำให้ไม่สามารถบริหารค่าใช้จ่ายทั้งต้นทุนและกำไรได้

ด้านการบริหารจัดการข้อมูลของวิสาหกิจชุมชน : ยังไม่สะท้อนมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง


ข้อเสนอแนะของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ต่อการพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน

1. ดำเนินแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ประจำปีงบประมาณที่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน (การพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่) และแผนแม่บทที่ 16 ประเด็นเศรษฐกิจฐานราก (แผนย่อยการสร้างสภาพแวดล้อมและกลไกที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก)

2. ร่วมผลักดันวิสาหกิจชุมชนให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ และควรพิจารณาปรับปรุงอำนาจหน้าที่หรือองค์ประกอบของกลไกที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

3. ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ผลงานทั้งผลิตภัณฑ์สินค้า และบริการ ในทุกพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

4. สนับสนุนนโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงประสานระหว่างวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตสินค้าเกษตร เพื่อรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร เชื่อมโยงกับตลาดค้าส่งค้าปลีกที่มีศักยภาพตามหลักการเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรว่ามีตลาดรองรับผลผลิตทางการเกษตรแน่นอน

5. จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลด้านตลาดในสินค้าสำคัญ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ผลิตในท้องถิ่นและชุมชนเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของตลาด และเพื่อส่งเสริมให้สินค้าท้องถิ่นมีการยกระดับและพัฒนาสินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

6. บูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานระดับพื้นที่ของจังหวัดให้มากขึ้นผ่านการประสานงานกับสำนักงานพาณิชย์จัดหวัด เพื่อจัดหลักสูตรการพัฒนาฝึกอบรมและการให้ความรู้ด้านการตลาดหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ รวมทั้งเน้นการทำงานบูรณาการกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อนำผลงานวิจัยและงานศึกษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์

7. แบ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเป็นกลุ่มช้างเผือก (กลุ่มที่มีศักยภาพพร้อมพัฒนาและยกระดับเป็นกลุ่มวิสาหกิจรูปแบบอื่น) และคัดเลือกเป็นกลุ่มเป้าหมาย ส่งมอบรายชื่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในรูปแบบการบ่มเพาะ (Incubation) ตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพกระบวนการผลิต การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การสร้างเรื่องราว การสร้างแบรนด์ การจัดทำระบบสต๊อกสินค้า การจัดทำบัญชี และการจัดจำหน่ายโดยเฉพาะรูปแบบการค้าออนไลน์ รวมถึงการทำการตลาด ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมตลาดและวิถีชีวิตยุคใหม่ เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มช้างเผือกเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่

8. ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินภารกิจที่สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินกิจการของวิสาหกิจชุมชน อาทิ การขอจดทะเบียนสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า หรือทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบความตกลงทางการค้า (FTA) แต่ละฉบับ รวมถึงกรอบความตกลงล่าสุด RCEP กฎระเบียบการนำเข้า-ส่งออก และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลด้านตลาดทั่วโลก และสถานการณ์ทางเศรฐกิจที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจฐานราก
ดูน้อยลง

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

*
* *
คลิกLikeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"
รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


SMEs manager


กำลังโหลดความคิดเห็น