xs
xsm
sm
md
lg

ยกระดับเกษตรกรไทย!! พัฒนาอาชีพ “ชลกร” ขึ้นแท่นมาตรฐานสากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงศึกษาธิการจับมือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ยกระดับเกษตรกรไทยผ่านอาชีวะเกษตร เซ็น MOU 4 ภาค สร้างโอกาสและขีดความสามารถในการเป็นเกษตรกรมืออาชีพ พร้อมเดินหน้าพัฒนาอาชีพ "ชลกร" สู่ระดับสากล

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกำกับวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมง พร้อมด้วยนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นประธานการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร (สอก.) 4 ภาค

โดยมี ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นายทองอาบ บุญอาจ รักษาราชการแทน ผอ.สอก.ภาคกลาง นายประจักษ์ ทาสี ผอ.สอก.ภาคเหนือ นายพรณรงค์ วรศิลป์ ผอ.สอก.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายวิศวะ คงแก้ว ผอ.สอก.ภาคใต้ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง เพื่อร่วมกันยกระดับบุคลากรในอาชีพด้านการเกษตร รวมทั้งผู้ที่อยู่ในคุณวุฒิการศึกษา หรือกลุ่มที่ฝึกอบรมร่วมกับ สอก. ให้มีโอกาสได้เข้าสู่การประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ มี สคช. ให้การการันตีเป็นมืออาชีพ เพื่อช่วยเพิ่มทักษะ ความเชี่ยวชาญ สร้างโอกาส และเสริมสร้างขีดความสามารถในอาชีพได้ และสามารถพัฒนาตัวเองจากเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรตัวใหญ่ได้ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ


ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกำกับวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมง กล่าวว่า เป็นแนวทางที่ดีที่ สคช. มาร่วมส่งเสริมให้วิถีเกษตรก้าวไกล โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต ที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม อาชีพหลักของประเทศ พร้อมเข้าสู่การวัดระดับตัวเอง ได้รับการการันตีจากหน่วยงานภาครัฐ ที่จะสามารถช่วยต่อยอดในอาชีพได้ในอนาคตต่อไปรวมทั้งเป็นแนวทางการต่อยอดความร่วมมือในการจัดทำมาตรฐานอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตเพื่อรองรับกำลังคนในอาชีพใหม่มาพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

กระทรวงศึกษาธิการต้องการที่จะยกระดับมาตรฐานบุคลากรด้านการเกษตรให้เป็นมืออาชีพตามนโยบายที่ต้องการจะยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะการเตรียมผลักดันและพัฒนาอาชีพ “ชลกร” ให้มีมาตรฐานในระดับสากล โดยใช้เกณฑ์การประเมินสมรรถนะของบุคลากรตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ภายใต้เป้าหมายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มีอาชีพ รายได้ ช่วยแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่ต้องการปฏิรูปการศึกษาโดยเน้นไปสู่ตัวผู้เรียนโดยตรง

นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) กล่าวว่า อาชีพด้านการเกษตร เป็นอาชีพเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถนำไปสู่การพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรได้พร้อมกันทั้ง 4 ภาค ซึ่งสถาบันฯ พร้อมผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาคน ผลิตนวัตกรรมด้านการเกษตรใหม่ ๆ หรือสมาร์ทฟาร์ม สอดรับการปรับเปลี่ยนของโลกอนาคต ซึ่ง สอก. มีความพร้อมให้การศึกษา ขณะที่ สคช. ก็มีมาตรฐานพร้อมพัฒนาทักษะและให้การการันตีด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมสนับสนุนคนในอาชีพให้เกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning

ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพกล่าวว่า สคช. ไม่เพียงให้การการันตียกระดับบุคคลด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ แต่ยังหาช่องทางในการต่อยอดในอาชีพให้กับคน ทั้งการอบรม สอนแนวทางทำการตลาด รวมทั้งส่งเสริมแหล่งเงินทุนด้วยความร่วมมือกับธนาคารออมสิน และ SME D Bank ที่พร้อมพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อมืออาชีพ ช่วยให้เกษตรกรตัวเล็กมีโอกาสเติบโตในธุรกิจเป็นเกษตรกรตัวใหญ่ได้

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
สำหรับบันทึกข้อตกลงทั้ง 5 ฝ่าย มีหัวใจสำคัญคือการร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานอาชีพของบุคลากรผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรที่เข้ามาศึกษาและฝึกอบรม ผลักดันให้มีการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ รวมไปถึงการผลักดันให้มีการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น Upskill และ Reskill จากเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการเกษตรตามมาตรฐานอาชีพเพื่อสร้างโอกาสและขีดความสามารถในการเป็นเกษตรกรให้เป็นมืออาชีพต่อไป

“ปัจจุบันด้วยกระแสของโลกที่เปลี่ยนมาเป็น Innovation เป็นส่วนใหญ่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่เราจับมือร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้ง Research และ Innovation มันจะเป็นความยั่งยืนแน่นอนในอนาคต ทำให้เรามีความโดดเด่น แตกต่าง มีจุดแข็ง มีคุณภาพ มีมาตรฐาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้ในอนาคต”

“อย่างไรก็ดี ในฐานะนักวิจัยในอดีต 5 - 6 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยพยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ไม่ได้รับความสนใจในธุรกิจมากเท่าที่ควร จนกลายเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้งทำให้นักวิจัยขาดแรงบันดาลใจในการพัฒนาอะไรสักอย่างแต่ไม่มีการนำไปใช้จริง แต่ปัจจุบันนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ในวงการธุรกิจไทย คนเริ่มหันมาใส่ใจเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เวลาซื้อสินค้า เวลาเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต้องค้นคว้า ทำให้กลุ่มธุรกิจหันมาสนใจจับมือกับอุทยานวิทย์ฯ และมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพื่อนำงานวิจัยออกไปใช้ ทำให้นักวิจัยมีกำลังใจสร้างสรรค์งานใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ สังคมและประเทศ”

อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จึงเป็นโครงสร้างที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรายใหม่ ที่มีความพร้อมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่หลากหลายและใช้ประโยชน์ได้จริง และสามารถประยุกต์ใช้ความคิดใหม่และเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึง มีส่วนในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมไทย