xs
xsm
sm
md
lg

สกสว.ชี้นักวิจัยเสนอรัฐใช้เทคโนโลยีหนุนไทยเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารเพื่ออนาคต หลังอุตฯ อาหารเจอผลกระทบโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





“สกสว.เผยผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤตโควิด-19 พบข้อมูลภาคอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ด้านนักวิจัยเสนอภาครัฐมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารสำหรับการผลิตอาหารเพื่ออนาคต พร้อมพัฒนาศักยภาพการผลิตของเกษตรกร”

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ นักวิจัยโครงการ “การเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤต COVID-19” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 แต่น้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ แม้ผลกระทบในแต่ละภาคส่วนย่อยอาจแตกต่างกันก็ตาม ผลการวิเคราะห์ผู้ประกอบการเปราะบางสูงและเปราะบางคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 68 ของผู้ประกอบการทั้งหมดในอุตสาหกรรมอาหาร มากกว่าร้อยละ 70 เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทั้งในแง่ของความสามารถในการเสียภาษีและการทำกำไรที่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยกำไรของอุตสาหกรรม เมื่อเกิด shock ขึ้นผู้ประกอบการดังกล่าวอาจไม่สามารถที่จะบริหารธุรกิจโดยเฉพาะในส่วนของความเพียงพอทางด้านเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมอาหารผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรมและสายการบิน และไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นผู้ประกอบการที่ถูกกระทบหนัก ดังนั้น ในระยะสั้นผู้ประกอบการเหล่านี้ยังคงต้องการได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ สินเชื่อพิเศษดอกเบี้ยต่ำอย่าง soft loan ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอาหารต้องการและยังเข้าถึงในสัดส่วนที่ต่ำ โดยการเพิ่มการปล่อย soft loan ของธนาคารพาณิชย์อาจไม่ใช่เรื่องง่ายภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มวงเงินค้ำประกันของรัฐบาล และการลดความเข้มข้นของหลักค้ำประกันจากผู้ประกอบการน่าจะยังเป็นส่วนที่ช่วยเพิ่มการปล่อยสินเชื่อได้ อีกส่วนหนึ่งที่สามารถทำได้คือใช้มาตรการภาษี โดยให้ผู้ประกอบการสามารถนำผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปีที่เกิด shock มาคำนวณผลกำไรขาดทุนได้ในปีถัดๆ ไป อีกส่วนที่สำคัญคือ การปรับโครงสร้างหนี้และการพักชำระหนี้ที่เป็นแบบ targeted approach ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามทำเป็นสิ่งที่ควรเดินหน้าและเร่งทำอย่างต่อเนื่อง


สำหรับภายใต้สถานการณ์ที่เริ่มมีความชัดเจนเกี่ยวกับวัคซีนป้องกัน COVID-19 รัฐบาลต้องเร่งให้ความสำคัญต่อการใช้มาตรการเพื่อพัฒนาประเทศในระยะปานกลาง (ยาว) เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันยังมีอยู่อย่างจำกัด โครงการเกษตรและอาหารภายใต้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทยังคงมีอยู่เพียงประมาณร้อยละ 8 ของวงเงินงบประมาณ และการกระจายตัวของโครงการยังกระจุกตัวอยู่เพียงการพัฒนาการผลิต แต่โครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพันธุ์พืช และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการจัดจำหน่ายยังมีอยู่จำกัด ดังนั้น การเร่งให้ความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเป็นระบบในอุตสาหกรรมอาหารยังคงเป็นสิ่งที่ควรเร่งเดินหน้าอย่างชัดเจน

โอกาสหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤต COVID-19 คือ การมุ่งพัฒนาให้ไทยเป็นแหล่งการผลิตอาหารอนาคตที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตโปรตีนทางเลือก ต้นทุนและคุณภาพของวัตถุดิบเป็นสิ่งที่สำคัญ วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่ไทยยังต้องนำเข้า เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง และมีการกระจุกตัวของประเทศที่ไทยนำเข้าอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ การพยายามกระจายความเสี่ยงโดยการกระจายแหล่งนำเข้าคงเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ พร้อมไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในสินค้าเหล่านี้ 

อย่างไรก็ตาม สินค้าส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นสินค้าที่ยังมีการคุ้มครองที่สูงโดยเฉพาะการจำกัดโควตาการนำเข้าและการตั้งภาษีนอกโควตาในอัตราที่สูง การจำกัดปริมาณโควตาของสินค้าวัตถุดิบหลายประเภทดังกล่าวข้างต้นอาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการผลักดันนโยบายดังกล่าว ไม่ใช่เพียงแค่ต้นทุนที่สูงเท่านั้น แต่อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพันธุ์ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรเอง ดังนั้น การขยายปริมาณโควตาอย่างเป็นระบบและค่อยๆ ปรับลดอัตราภาษีนอกโควตาพร้อมไปกับการพัฒนาการผลิตของภาคเกษตรน่าจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพของวัตถุดิบในประเทศ


การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอีกเรื่องที่ควรเร่งเดินหน้าทั้งในส่วนของการผลิต บรรจุภัณฑ์ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและช่องทางการจัดจำหน่าย นอกจากการให้สินเชื่อพิเศษแก่ผู้ประกอบการในการกระตุ้นให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มมากขึ้น การให้แรงจูงใจผ่านมาตรการภาษีและการให้เงินอุดหนุนอย่างที่ดำเนินการในหลายประเทศน่าจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น อาทิ รัฐบาลจีนให้แรงจูงใจทางด้านภาษีสำหรับอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง โดยสามารถนำผลขาดทุนจากการใช้เทคโนโลยีมาคำนวณผลกำไรขาดทุนได้สูงสุด 10 ปี ในขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์ให้วงเงินอุดหนุนผู้ประกอบการ (ร้อยละ 50-70 ของค่าใช้จ่าย) ในการซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และมีการดึง Venture capital เข้ามาร่วมกับรัฐบาลในการให้ SMEs คิดเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหาร

ทั้งนี้ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารต้องควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพในห้องปฏิบัติการตรวจสอบอาหารและบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและให้บริการแก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก ที่ไม่สามารถลงทุนห้องตรวจสอบอาหารเองได้เป็นสิ่งที่สำคัญ และการพัฒนาศักยภาพของแรงงานอย่างจริงจัง จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กโดยเฉพาะผู้ส่งออกพบว่าการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐในส่วนของห้องปฏิบัติการตรวจสอบอาหารยังมีขั้นตอนยุ่งยากในการขอความช่วยเหลือ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ภาคเอกชนต้องเสียให้กับห้องปฏิบัติการรัฐยังสูง ดังนั้น รัฐอาจต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาการตรวจสอบคุณภาพอาหารให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น การช่วยให้ความรู้แก่ SMEs ในเรื่องของการตรวจสอบสุขอนามัยในสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศผู้นำเข้าซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการระบาดของ COVID-19 ทำให้ทุกประเทศให้ความสำคัญทางด้านความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย

ในขณะที่การพัฒนาศักยภาพของแรงงานต้องให้ความสำคัญต่อการทำงานร่วมกันระหว่างแรงงานกับเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเดินหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่มีบทบาทช่วยเหลือบริษัทขนาดกลางและเล็กในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน นอกจากนั้น ภาครัฐควรต้องมีแผนชัดเจนเพื่อรองรับและถ่ายโอนแรงงานที่อาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี (transition plan) ซึ่งทางหนึ่งที่รัฐบาลน่าจะทำได้คือการพยายามลด friction ในตลาดแรงงานให้มากที่สุด




บทเรียนสำคัญประการหนึ่งจากวิกฤต COVID-19 คือ การกระจายความเสี่ยงให้แก่ผู้ประกอบการและพัฒนาศักยภาพการผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการกระจายตลาดส่งออกเดิมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร การเปิดตลาดผ่านกรอบความตกลงการค้าเสรีทั้งในตลาดหลักอย่างยุโรป และสหรัฐฯ หรือตลาดรองอย่างประเทศในกลุ่ม middle east หรือแอฟริกา น่าจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารที่ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิต ความยุ่งยากที่เกี่ยวเนื่องกับ Rules of Origin มีน้อยเนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่ยังเป็นวัตถุดิบในประเทศ อย่างไรก็ตาม การเจรจาภายใต้กรอบการค้าเสรียังมีหลายปัจจัย หลายอุตสาหกรรม และหลายภาคส่วนที่ต้องคำนึง ดังนั้น การเปิดตลาดผ่านกรอบการค้าเสรีควรกระทำด้วยความรอบคอบ อีกส่วนที่ภาครัฐควรเร่งทำคือการเปิดการแสดงสินค้าอาหารในตลาดต่างประเทศทั้งในตลาดหลักและตลาดรอง ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กยังเห็นว่าไม่เพียงพอและผู้ประกอบการต้องเสียค่าธรรมเนียมที่สูงในการเข้าร่วมโครงการกับรัฐบาลในการนำสินค้าเข้าแสดง

การติดตามค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินความเป็นจริงและผันผวนอย่างรวดเร็วเป็นอีกประเด็นสำคัญที่มีนัยต่ออุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 เรื่องดังกล่าวรุนแรงมากสำหรับอุตสาหกรรมอาหารที่เป็น Thin margin และการผลิตพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศสูง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงค่าเงินอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในทางการแข็งค่าของค่าเงินมีแนวโน้มส่งผลทางลบต่อผู้ส่งออกอาหารสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงกว่า

* *คลิกLikeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


SMEs manager


กำลังโหลดความคิดเห็น