xs
xsm
sm
md
lg

ส.กุ้งไทยเผยโควิด-19 กระทบผลิตกุ้ง คาดหวังปีหน้าแจ่มใส ขอทุกภาคส่วนร่วมมือ ภาครัฐสนับสนุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.กุ้งไทยเผยโควิด-19 กระทบกุ้งโลกผลผลิตลดลง หวังปีหน้าแนวโน้มกุ้งไทยแจ่มใส ผลิตกุ้งเพิ่มร้อยละ 15 หากทุกภาคส่วนจับมือเหนียวแน่น-ภาครัฐส่งเสริม พร้อมผงาดเป็นผู้นำผลิตกุ้งคุณภาพสูงของโลก ชูไทยมีข้อได้เปรียบด้านการเลี้ยง ทั้งลูกพันธุ์ อาหาร ระบบการเลี้ยงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบย้อนกลับได้ อาหารปลอดภัย นอกจากนี้ ไม่มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนของโควิด-19 ที่สำคัญคือ การได้เครดิตและคำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นประเทศที่มีการควบคุมโรคโควิด-19 ได้มีประสิทธิภาพ จากการบริหารจัดการที่ดีของรัฐ และความร่วมมือของประชาชน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องปรับตัว/รูปแบบการเลี้ยงให้เหมาะสม ลดความเสียหายจากโรค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง และลดต้นทุนแฝง สิ่งที่สำคัญที่สุด กุ้งเข้าโรงงานต้องไม่มียาปฏิชีวนะ รัฐต้องช่วยหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องโรค และเร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุก เจรจา FTA ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจะเป็นโอกาสสำหรับกุ้งไทยที่จะกลับมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกุ้งได้อีกครั้ง

วันนี้ (16 ธันวาคม 2563) ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย นำทีมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ประกอบด้วย นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ-ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคม และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ นายสมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย และ นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทยปี 2563 ว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2563 โดยรวมอยู่ที่ 270,000 ตัน ลดลงเมื่อเทียบกับผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2562 ที่อยู่ที่ประมาณ 290,000 ตัน ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเรื่องโรคระบาด ความไม่มั่นใจเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อตลาด และสถานการณ์ราคา คาดปี 2564 ผลิตได้ 310,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15

นายกสมาคมกุ้งไทยกล่าวว่า ในปี 2564 ปริมาณผลผลิตและส่งออกกุ้งของไทยจะพลิกฟื้นขึ้นมาเติบโตได้ 15% ตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 15% จากผลผลิตกุ้งไทยปี 2563 นี้ คาดว่าจะผลิตได้รวม 270,000 ตัน ลดลงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 7 (โดยเป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่างร้อยละ 36 จากภาคใต้ตอนบนร้อยละ 32 จากภาคตะวันออกร้อยละ 21 และจากภาคกลางร้อยละ 11) ปัญหาที่พบคือโรคระบาด และความไม่แน่ใจในสถานการณ์โควิด-19 ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3 เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกุ้งหลักๆ มีผลผลิตกุ้งลดลงแทบทุกประเทศ ยกเว้นเอกวาดอร์ที่มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น

ส่วนการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค.-ต.ค.ที่ผ่านมามีปริมาณ 123,297 ตัน มูลค่า 35,872 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ที่ส่งออกปริมาณ 135,249 ตัน มูลค่า 40,185 ล้านบาท ลดลงทั้งปริมาณ และมูลค่า ที่ร้อยละ 9 และร้อยละ 11 ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มราคากุ้งในปี 2564 น่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อการขนส่ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันคือ อัตราแลกเปลี่ยน โดยขณะที่เงินบาทแข็งค่า 11% แต่เงินรูปีของอินเดียอ่อนค่า -14% เงินด่องเวียดนามอ่อนค่า -2% และเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียอ่อนค่า -4% ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อการส่งออกสินค้าอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ ได้แก่ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา, การเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป (อียู), การควบคุมคุณภาพสินค้า เช่น ปลอดเชื้อโควิด-19, การจัดหาแหล่งเงินทุน เป็นต้น

นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างว่า ผลผลิตปี 2563 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 98,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 3 จากการระบาดของโรคตัวแดงดวงขาวในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลาเมื่อช่วงต้นปี และปัญหาอาการขี้ขาวโดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งอันดามัน จากปัญหาโรคระบาดดังกล่าวทำให้เกษตรกรหลายรายมีการปรับรูปแบบการเลี้ยง เช่น การปรับเป็นบ่อขนาดเล็ก การใช้พีอีปูพื้นบ่อ และปล่อยความหนาแน่นบางลงเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องโรคระบาด และในปี 2564 คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2563 นี้ 5%

นายสมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมกุ้งทะเลไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2563 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนประมาณ 85,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่ขนาดกุ้งเฉลี่ยใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาขี้ขาวในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึง EMS และไวรัสตัวแดงดวงขาว ทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมกุ้งไทยนับว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดน้อยกว่าอาชีพอื่น และจากการดำเนินการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก รวมถึงทั้งภาคผู้เลี้ยงและโรงงานแปรรูปใส่ใจเรื่องสุขอนามัยของคนงาน ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้สินค้ากุ้งไทยเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของผู้บริโภค

นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2563 ในพื้นที่ภาคตะวันออกประมาณ 57,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 17 ต้นปี จ.ฉะเชิงเทราประสบปัญหาภัยแล้ง ลูกกุ้งไม่พอช่วงโควิด-19 นอกจากนี้ จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ประสบปัญหาการเลี้ยงจากอาการขี้ขาวรุนแรง และโรคตัวแดงดวงขาวพบอยู่ทั่วไป ส่วนผลผลิตภาคกลางประมาณ 30,000 ตัน ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มาจากปัญหาอาการขี้ขาว และพบโรคหัวเหลืองมากในช่วงต้นปี และฤดูหนาว

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวว่า “การเลี้ยงกุ้งของไทยในปีนี้เกษตรกรทุกพื้นที่ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด ทั้งอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงและเป็นต้นทุนแฝงของเกษตรกร ทุกวันนี้อุตสาหกรรมกุ้งเปลี่ยนไปมากจากเดิมที่ไทยเป็นอันดับต้นๆ ในด้านการผลิตกุ้ง เพราะเรามีปัจจัยที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ เรื่องพันธุ์กุ้ง อาหาร และผู้แปรรูปส่งออกที่มีฝีมือ แต่ปัจจุบันสถานการณ์กุ้งเปลี่ยนไปมาก เราตกไปอยู่อันดับ 6 หรือ 7 ซึ่งเกิดจากการไม่มีการวางแผนในการนำสินค้ากุ้งไปสร้างตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง เราต้องหันมาร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง บริษัทอาหาร ปัจจัยการผลิต ผู้ส่งออก และภาครัฐ นำคำว่ากุ้งไทยกลับมาสู้กับตลาดโลก เพื่อเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆ ของโลกอีกครั้ง”

“ประเทศไทยและอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีความได้เปรียบ ในเรื่องภาพลักษณ์เรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยอาหาร และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทั้งเป็นแหล่งผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก อาหารกุ้งที่มีประสิทธิภาพ และการที่ไทยสามารถบริหารจัดการเรื่องโรคโควิด-19 ในการควบคุมและจัดการโรคที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ส่งผลให้ประเทศไทยได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่ง แต่เกษตรกรต้องผลิตกุ้งให้ได้ และต้องลดความเสียหายจากโรคให้ได้ โดยภาครัฐโดยเฉพาะกรมประมงจะต้องดำเนินการศึกษาวิจัยและหาแนวทางในการแก้ปัญหาโรคระบาด โดยเฉพาะอาการขี้ขาว ซึ่งเป็นต้นทุนแฝงให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ภาครัฐจะต้องสนับสนุนส่งเสริมทั้งในด้านการผลิตและการตลาด การประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยใช้จุดเด่นที่มี คือ กุ้งคุณภาพ ระบบการผลิตที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งระบบ โดยไม่ต้องแข่งขันด้านราคากับประเทศผู้ผลิตที่มีต้นทุนถูกกว่า การเจรจากับตลาดคู่ค้าเพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ รวมถึงการเจรจา FTA โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร การให้โอกาสเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน การเสริมสภาพคล่อง การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคการผลิต ภาคการส่งออก และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าหากไทยใช้ศักยภาพเหล่านี้เต็มที่ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจะเป็นโอกาสสำหรับกุ้งไทยที่จะกลับมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกุ้งได้อีกครั้งอย่างแน่นอน” ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น