xs
xsm
sm
md
lg

จับตาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไปต่อหรือถดถอย?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรงงานน้ำตาลทรายของไทยที่มีอยู่ประมาณ 58 แห่งได้เริ่มทยอยเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2563/64 แล้วนับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ท่ามกลางปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิดถึงผลผลิตอ้อยในฤดูหีบปีนี้ที่มีการประเมินกันว่าจะยังคงลดต่ำลงอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยจะอยู่ที่ประมาณ 67.04 ล้านตันอ้อย ปริมาณน้ำตาลทรายจะอยู่ที่ราว 7.5 ล้านตันแต่กระนั้นเมื่อเริ่มเปิดหีบจริงชาวไร่อ้อยบางส่วนกลับมองว่าจะลดต่ำกว่าระดับดังกล่าวไปอีก
ทั้งนี้ หากพิจารณาผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเริ่มแตะระดับ 100 ล้านตันครั้งแรกในฤดูหีบปี 25555/56 จากนั้นก็เริ่มทะลุ 100 ล้านตันในฤดูหีบปี 2556/57 และปี 2557/58 และเริ่มลดต่ำไม่ถึงระดับ 100 ล้านตันในอีก 2 ฤดูการผลิตถัดมา แล้วสามารถกลับมาทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในฤดูหีบปี 2560/61 ที่ระดับ 134.93 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาลทรายที่ 14.68 ล้านตัน

ฤดูหีบปี 2562/63 ไทยเผชิญภาวะภัยแล้งหนักทำให้ผลผลิตอ้อยร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 74.98 ล้านตัน น้ำตาลทรายเหลือเพียง 8.27 ล้านตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับฤดูหีบปี 2561/62 ที่มีผลผลิตอ้อย 130.97 ล้านตัน น้ำตาลทราย 14.58 ล้านตันนับเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี และแน่นอนว่าในฤดูหีบปีนี้ที่มีปัญหาภัยแล้งสะสมผลผลิตที่มีการประเมินกันไว้ที่ 67.04 ล้านตันก็จะทำให้ผลผลิตอ้อยลดต่ำสุดรอบ 11 ปี แต่หากลดต่ำกว่านี้สถิติก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งคงจะต้องรอผลชัดเจนเมื่อการปิดหีบเริ่มขึ้น ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นช่วงต้นเมษายน 2564

หากย้อนกลับไปในฤดูหีบปี 2561/62 แทบจะไม่มีใครคาดคิดว่าผลผลิตอ้อยจะลดต่ำลงถึงเกือบ 50% ส่งผลให้หลายฝ่ายวิตกกังวลถึงปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศขณะนั้นเนื่องจากโรงงานน้ำตาลได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าเพื่อการส่งออกไปแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าจะโชคดีหรือร้ายที่บังเอิญเป็นจังหวะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาพอดี และทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยถดถอยทำให้น้ำตาลทรายที่จะต้องส่งมอบนั้นถูกให้พักไว้ก่อนจึงส่งผลให้ปัญหาวิกฤตขาดแคลนน้ำตาลในประเทศผ่านพ้นไปได้

ฤดูหีบปี 2563/64 ที่กำลังเปิดหีบอยู่ ฝ่ายโรงงานเองมีประสบการณ์แล้วจากฤดูผลิตที่ผ่านมาทำให้การขายน้ำตาลล่วงหน้าต้องระมัดระวังอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปริมาณน้ำตาลทรายส่งออกของไทยในฤดูหีบปี 2562/63 ที่ผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 8.27 ล้านตัน หักการบริโภคในประเทศออกไป 2.4 ล้านตันเหลือส่งออกประมาณ 5.9 ล้านตัน แต่ด้วยมีน้ำตาลจำนวนมากที่เหลือจากงวดก่อนหน้านี้มาด้วยจึงทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ฤดูหีบปี 63/64 คาดการณ์ว่าน้ำตาลทรายจะผลิตได้ราว 7.5 ล้านตัน เมื่อหักการบริโภคระดับ 2.4-2.5 ล้านตันคาดว่าการส่งออกจะเหลือเพียง 5 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยสูญเสียตำแหน่งการส่งออกอันดับ 2 ของโลกให้อินเดียเช่นกัน

ทั้งนี้ อ้อยเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลทรายและพลังงานทดแทน และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากไทยเคยส่งออกสินค้าน้ำตาลสำคัญอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล และในปี 2560/2561 มีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจำนวน 408,627 ราย เนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งสิ้น 11.19 ล้านไร่ แต่การสูญเสียความสามารถในการส่งออกยังไม่เท่ากับการที่เกษตรกรชาวไร่ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากกำลังเริ่มมองอนาคตใหม่ที่ต้องปรับเปลี่ยน หากไม่เช่นนั้นแล้วอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอาจก้าวไปสู่ภาวะถดถอยหนัก

“เราคุยกันอยู่เรื่อยๆ นะทุกฝ่ายคงไม่ปล่อยให้ล่มสลายหรอก แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยมันก็ไม่แน่ การที่เราจะก้าวไปสู่การผลิตระดับ 100 ล้านตันเหมือนเดิมนั้นผมเห็นว่าทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายควรจะไปคุยกันให้ตกผลึกก่อนแล้วค่อยมาหารือกับชาวไร่ เพราะหากราคาอ้อยดีเขาก็ปลูกต่อถ้าไม่เขาเลิก โรงงานก็เป็นเศษเหล็ก” นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าว

เขาย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่….) พ.ศ….ฉบับของชาวไร่อ้อยที่จัดทำนั้นเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับกติกาของการค้าโลก (WTO) ที่ไม่ให้บราซิลฟ้องร้องไทยได้เรื่องการอุดหนุนราคา แต่ยังทำให้อุตสาหกรรมนี้ได้มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งวันที่ 16 ธันวาคม 2563 นี้จะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หากมีการหยิบยกร่างของชาวไร่อ้อยมาเป็นพื้นฐานการปรับปรุงเชื่อว่าระบบของอุตสาหกรรมนี้จะอยู่ได้ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงาน แต่หากไปหยิบยกฉบับของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่แทบจะไม่ได้ปรับปรุงอะไรอย่างมีนัยสำคัญ อุตสาหกรรมนี้ก็จะถดถอยได้เช่นกัน

สอดรับกับ นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 ที่กล่าวแสดงความเห็นถึงอนาคตของอุตสาหกรรมดังกล่าวว่า หากทุกฝ่ายไม่ร่วมกันปรับโครงสร้างไปในทิศทางที่ถูกต้องย่อมทำให้เกษตรกรไม่อาจทนแบกรับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ไหว และหากมีพืชเกษตรชนิดอื่นที่มีราคาดีกว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยก็ย่อมหนีไปปลูกพืชอื่นแทนได้เช่นกัน

ทั้งนี้ องค์ประกอบหลักที่จะทำให้ชาวไร่อ้อยยกเลิกการปลูกที่สำคัญ คือ 1. ราคาอ้อย ซึ่งยอมรับว่าในช่วง 2 ฤดูการผลิตนี้ราคากลับมาตกต่ำเพราะผลกระทบโควิด-19 ทำให้ระดับราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่จะนำมาคำนวณลดลง และยังต้องเผชิญภัยแล้งจึงทำให้มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น 2. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากความเข้มงวดทางกฎหมาย เช่น อ้อยไฟไหม้ การบรรทุกอ้อย แรงงานที่หายากขึ้นฯลฯ และ 3. ราคาพืชเกษตรชนิดอื่นดีกว่า มีความแน่นอนในเรื่องของการประกันราคา

“หากมองแนวโน้มโอกาสที่อ้อยของไทยจะกลับไปสู่ระดับกว่า 100 ล้านตันก็อาจจะยากในระยะ 2-3 ปีนี้หากปัจจัยต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ” นายนราธิปกล่าว


ขณะที่ความเห็นของ นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กล่าวแสดงความเห็นถึงอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ว่า หากยังอยู่แบบเดิมเช่นปัจจุบันโดยไม่ทำอะไรเลยอุตสาหกรรมนี้จะก้าวไปสู่ภาวะถดถอย เพราะโควิด-19 ทำให้โลกเปลี่ยนไป ราคาน้ำตาลทรายจะยังสวิงตามทิศทางเศรษฐกิจที่แม้ปี 2564 จะฟื้นตัวแต่ก็อยู่บนปัจจัยเสี่ยง และหากราคาอ้อยไม่จูงใจโอกาสที่อ้อยจะกลับไปสู่ระดับ 130 ล้านตันคงเป็นไปได้ยาก และเมื่อพิจารณาจากจำนวนโรงงาน 58 แห่ง ปริมาณอ้อยที่สมดุลควรมากกว่าระดับ 100 ล้านตัน เมื่อไม่ถึงก็นับว่าโรงงานจะใช้กำลังผลิตไม่คุ้มค่า

“สิ่งที่ท้าทายคืออินเดียเริ่มส่งออกมากขึ้น บราซิลก็หันมาผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกมากขึ้น เราต้องวางแผนในการบริหารจัดการ ขณะที่เกษตรกรของเราเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย รุ่นใหม่เริ่มไม่เอากับอุตสาหกรรมนี้มากนัก ขณะที่โลกเริ่มหันมาผลิตสารทดแทนความหวานมากขึ้น เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ต้องเตรียมรับมือตั้งแต่วันนี้ และผมเห็นว่าการมีรัฐกำกับควรจะเป็นการกำกับแบบห่างๆ ควรปล่อยให้เป็นกลไกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายวีระศักดิ์กล่าว

ขณะที่ความเห็นของฝั่งโรงงานน้ำตาลทรายนั้น นายชลัส ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยังเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมนี้จะไปต่อได้แต่จำเป็นต้องปรับตัว โดยยอมรับว่าการผลิตอ้อยไปเป็นน้ำตาลเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอแต่จะต้องหาผลิตภัณฑ์ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น

“เราจะอยู่บน Loop เดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป ชาวไร่อ้อยเองก็เข้าใจแต่การเรียกร้องผลประโยชน์จากส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้นจากทุกสิ่งอย่างแบบนี้โรงงานก็เลิกดีกว่า เหมือนกับเรามีเค้กอยู่ก้อนหนึ่งเรามัวจะรุมทึ้งคงไปต่อไม่ได้ แต่ต้องมองว่าจะทำให้ก้อนใหญ่อย่างไร หรือจะเพิ่มมูลค่าให้เค้กนี้อร่อยแล้วราคาดีอย่างไร แล้วทั้งสองฝ่ายโตไปด้วยกันมันก็จะอยู่รอด” นายชลัสกล่าว

เขามองว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นไปตามวัฏจักรที่เป็นช่วงภัยแล้งที่เราได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ประกอบกับมาเจอโควิด-19 อีก แต่เชื่อว่าในฤดูหีบปี 2565/66 หรืออีก 2 ปีข้างหน้าอ้อยที่ลดต่ำจะค่อยๆ ก้าวไปสู่ระดับ 100 กว่าตันได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะเหลือเพียงระดับ 67.04 ล้านตันในฤดูหีบปีนี้เมื่อเทียบกับโรงงานน้ำตาล 58 แห่งไม่สมดุลนัก โดยอัตราที่เหมาะสมควรจะอยู่ระดับ 110-120 ล้านตันหรือเฉลี่ยโรงละ 2 ล้านตัน

ทั้งนี้ นโยบายภาครัฐมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะภาษีความหวานหรือภาษีน้ำหวานที่รัฐได้ดำเนินการต่อเนื่อง โดยหากใช้น้ำตาล 0-6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่เสียภาษี ค่าความหวาน 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร ค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรขึ้นไป เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร มีผลทำให้ตลาดน้ำตาลเกิดภาวะถดถอยลงด้วยเพราะผู้ผลิตลดการใส่น้ำตาลและหาสารทดแทนความหวานมาแทนที่ โดยที่การนำเข้ามาไม่เสียภาษีความหวานหรือเสียน้อยมาก หากเป็นธรรมรัฐก็ควรจัดเก็บเช่นกัน และสารทดแทนความหวานนั้นระยะยาวการบริโภคมีปัญหาต่อสุขภาพเหมือนกันหรือไม่

“โควิด-19 รัฐจะยกเว้นการเก็บนั่นนี่ได้ ผมก็เห็นว่ารัฐควรจะยกเว้นในเรื่องภาษีความหวานบ้างเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศเกี่ยวข้องกับเกษตรกร 2-3 ปีมานี้โรงงานเหนื่อยมากในการเจรจาทั้งรัฐและชาวไร่ วันนี้หากเราจะไปต่อในเรื่องของไบโอชีวภาพแล้วจะไปทางไหนล่ะ ยังไม่มีใครตอบได้เพราะต้นทุนแพงจะไปขายใครทุกอย่างก็ต้องรอโอกาสที่เหมาะสมจึงต้องแก้ที่เวลานี้ก่อน” นายชลัสกล่าว

จะเห็นว่าทั้งมุมมองของฝ่ายชาวไร่อ้อย และโรงงานอาจจะมีสวนทางกันในรายละเอียดบ้างแต่เป้าหมายของทุกฝ่ายก็ล้วนต้องการให้อุตสาหกรรมนี้ยังคงก้าวต่อไป ดังนั้น ความร่วมมือจึงต้องละทิ้งผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่เล่นเกมการเมือง มองประโยชน์ระยะยาวและประเทศชาติให้มากขึ้นเพราะโควิด-19 ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าต่อให้มีเงินก็ใช่ว่าจะหาซื้อของได้ง่าย สินค้าใดที่มีผลิตในประเทศแล้วเป็นของคนไทย ตอบโจทย์ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ไม่สมควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น