xs
xsm
sm
md
lg

เผยบทวิเคราะห์ – ข้อเสนอแนะ การผลิต “โคเนื้อไทย” สู่ตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการเลี้ยง "โคเนื้อ" อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายผลักดัน “โคเนื้อไทย” เป็นสินค้าอุตสาหกรรมระดับพรีเมี่ยม ด้วยการแปรรูปพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน รูปแบบ และบรรจุภัณฑ์ของสินค้า โดยภูมิภาคที่มีการเลี้ยงโคเนื้อมากที่สุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 46.85 รองลงมาคือภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ร้อยละ 20.32 17.67 และ 15.16 ตามลำดับ ซึ่งจังหวัดที่เลี้ยงโคเนื้อมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สกลนคร และนครศรีธรรมราช


สถานการณ์การผลิตโคเนื้อของประเทศไทย

ด้านการผลิต ในปี 2558 – 2562 การผลิตโคเนื้อของไทยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 7.15 ต่อปี โดยในปี 2562 มีปริมาณการผลิตโคเนื้อ 1.198 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งมีปริมาณการผลิต 1.126 ล้านตัว อัตราร้อยละ 4.62

ด้านความต้องการบริโภค ปี 2558 - 2562 ความต้องการบริโภคเนื้อโคของไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอัตราร้อยละ 0.08 ต่อปี โดยในปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณการบริโภคโคเนื้อจำนวน 1.262 ล้านตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 0.08 เนื่องจากผู้บริโภคยังคงนิยมบริโภคเนื้อโคแบบชาบูหรือปิ้งย่าง ทำให้ความต้องการของตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น


สถานการณ์การผลิตโคเนื้อของโลก ปี 2558 - 2562

ในด้านการผลิต
ในปี 2558 - 2562 การผลิตเนื้อโคของประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 1.03 ต่อปี โดยในปี 2562 มีปริมาณการผลิต 61.31 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีปริมาณการผลิต 62.48 ล้านตัน ร้อยละ 1.87 โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล จีน และอินเดีย

และในด้านความต้องการบริโภค ปี 2558 – 2562 ปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อโคในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 1.10 ต่อปี ประเทศที่มีความต้องการบริโภคมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา รองลงมา ได้แก่ จีน และบราซิล โดยการบริโภคเนื้อโคในปี 2562 มีปริมาณ 59.57 ล้านตัน ลดลงจากปี 2561 ที่มีการบริโภคปริมาณ 60.64 ล้านตัน ร้อยละ 1.77


บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาโคเนื้อ “ด้านการผลิต”

1. เกษตรกรผู้ผลิตโคเนื้อส่วนใหญ่ในประเทศไทย (รวมทั้งโคเนื้อจากกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อจังหวัดเพชรบุรี) ยังไม่มีความสามารถในการผลิตโคเนื้อในระดับพรีเมี่ยม ทั้งนี้ ภาครัฐจึงควรให้การสนับสนุนการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อที่ให้เนื้อคุณภาพดี และได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งสนับสนุนเกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจที่ดีและถูกต้องต่อการพัฒนาการผลิต

2. ด้านการจัดการดูแลที่ดีทำให้โคเนื้อเจริญเติบโตดี ไม่ป่วย และไม่ต้องใช้ยานั้น จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตของเกษตรกรได้ รวมทั้งขั้นตอนการผลิตพันธุ์สัตว์ต้องได้มาตรฐาน ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานของกรมปศุสัตว์

3. เกษตรกรผู้ผลิตโคเนื้อส่วนใหญ่ของไทยนิยมเลี้ยงโคเป็นอาชีพเสริม ซึ่งภาครัฐควรปรับโครงสร้างการผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคเป็นอาชีพหลัก โดยปรับระบบการเลี้ยงเป็น Intensive และเลี้ยงแบบยืนโรง ส่งเสริมการเลี้ยงโคเป็นอุตสาหกรรมปศุสัตว์ครบวงจร มี

4. การพัฒนาคุณภาพของบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินงานฟาร์มต่อจากรุ่นสู่รุ่น หรือในระบบธุรกิจต้องมีความรู้ความเข้าใจตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต

5. เมื่อพบปัญหาโคป่วยเป็นโรค ในกระบวนการดูแลรักษาเมื่อโคเนื้อป่วยนั้นเกษตรกรหรือเจ้าของฟาร์มควรปรึกษาสัตวแพทย์ซึ่งมีความรู้ความชำนาญ หรืออาจปรึกษาโดยตรงจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ เพื่อให้สามารถรักษาโรคได้ตามกระบวนการทางวิชาการที่ถูกต้อง

6. ควรพัฒนามาตรฐานโรงงานและโรงเชือดแบบ GMP เช่น โรงฆ่าที่ได้มาตรฐาน GMP HACCP และ HALAL รวมทั้งมาตรฐานของการเลี้ยงแบบ GAP

7. ปัญหาโรคปากและเท้าเปื่อยที่เกิดขึ้นในสัตว์กีบ เช่น โค และกระบือ เป็นปัญหาเรื้อรังในพื้นที่เขตติดต่อชายแดนของไทย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการนำวัวที่ติดโรคลักลอบเข้ามาตามตะเข็บชายแดนทำให้ติดต่อมายังโค กระบือ แพะ และแกะ ที่เลี้ยงภายในประเทศ ดังนั้นภาครัฐโดยกรมปศุสัตว์จึงต้องหาแนวทางการแก้ปัญหาโรคระบาดในโคในระยะยาวร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งหาแนวทางเพิ่มมูลค่าเนื้อสัตว์ด้วยการรณรงค์ต้อนฝูงโคเข้าระบบโรงฆ่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย


บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาโคเนื้อ "ด้านการตลาด "

1. สนับสนุนการสร้างเอกลักษณ์ของเนื้อโคไทย (New brand) เช่น เนื้อจากโคพื้นเมืองที่มีขนาดเล็ก เจริญเติบโตได้ดีในสภาพการปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติอาจจัดเป็น organic beef หรือ natural beef ได้

2. สนับสนุนการสร้างระบบการผลิตเนื้อโคคุณภาพสูง เพื่อแข่งขันกับตลาดเนื้อโคจากประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ดังนั้นจึงควรผลักดันการผลิตเนื้อโคที่มีคุณภาพของไทยที่มีอยู่แล้วภายใต้แบรนด์ “โคขุนโพนยางคำ” ของจังหวัดสกลนคร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโคเนื้อคุณภาพพรีเมี่ยมของไทย แต่เนื่องด้วยมีจำนวนโคที่นำมาผลิตน้อยประกอบกับพื้นที่ที่ทำการเลี้ยงมีไม่มากจึงควรขยายจำนวนโคและพื้นที่การผลิตให้มีมากขึ้นเพียงพอต่อผู้บริโภค

3. ควรเพิ่มช่องทางการหาตลาดที่ร่วมกับสหกรณ์เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ โดยเฉพาะในตลาดจีนและมาเลเซีย ซึ่งจีนมีการนิยมบริโภคเนื้อโคเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปี 2556 ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการขยายช่องทางการตลาดโคเนื้อในประเทศ

4. ส่งเสริมให้มีการขายผลผลิตภัณฑ์โคขุนเนื้อแปรรูปมากกว่าขายแบบมีชีวิต ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในประเทศได้มากกว่า

5. การใช้ประโยชน์ที่ตั้งของไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยที่จังหวัดมุกดาหาร และนครพนมเป็นเมืองคู่มิตรกับแขวงสะหวันนะเขต จึงสามารถแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันได้หลายด้านลดปัญหาเรื่องการค้าโคเถื่อนตามแนวชายแดนไทย ลาว กัมพูชา เช่น การเข้าไปทำฟาร์มเลี้ยงโคขุนในช่วงที่ใกล้จะจำหน่ายในสะหวันนะเขต ความร่วมมือในการชำแหละ การแปรรูปที่ได้มาตรฐาน และการบรรจุภัณฑ์

6. ปัจจุบันประเทศที่มีแนวโน้มการบริโภคโคเนื้อเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และจีน เมื่อมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจึงส่งผลทำให้ราคาเนื้อโคสูงขึ้นตามไป จึงเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาศักยภาพการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน
.
7. จากความตกลงการค้าเสรีของไทยกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ไทยจะต้องลดภาษีนำเข้าเป็น 0 และยกเลิกมาตรการปกป้องพิเศษ ในสินค้ากลุ่มเนื้อวัว เครื่องใน และกลุ่มผลิตภัณฑ์นม เนย เนยแข็ง ในวันที่ 1 มกราคม 2564 คาดว่าไทยจะนำเข้าโคมีชีวิต เนื้อโคแช่แข็ง และเครื่องในโคแช่แข็งจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มากขึ้น เป็นผลจากการที่เนื้อโคนำเข้าราคาถูกกว่าเนื้อโคในประเทศไทย ดังนั้น เกษตรกรผู้ผลิตโคเนื้อของไทยจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพเทียบเท่ากับเนื้อโคที่ผลิตได้จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลาง โคเนื้อและผลิตเนื้อของอาเซียนร่วมกับ CLMV ทั้งนี้ภาครัฐควรออกมาตรการเยียวยา/ช่วยเหลือ และเร่งพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันในด้านต่างๆ ได้แก่ พัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดตลาดโคเนื้อรองรับ ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาด พัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย รวมถึงส่งเสริมให้แปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น



********************************************************************************

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

*
* *
คลิกLikeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"
รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *





SMEs manager


กำลังโหลดความคิดเห็น