ในปัจจุบันประชากรกลุ่ม "Millennials" กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในเชิงเศรษฐกิจ และเป็นฐานผู้บริโภคสำคัญ การเข้าใจแนวคิดและพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ที่มีความแตกต่างกับคนรุ่นก่อนจึงมีความจำเป็นและจะเป็นประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
ประชากรกลุ่ม Millenials เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Generation Y ซึ่งเกิดระหว่างปี 2523 – 2539 ปัจจุบันคือกลุ่มคนที่เพิ่งจบการศึกษาและอยู่ระหว่างวัยเริ่มทำงาน โดยจากข้อมูลและการคาดการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ประชากรในกลุ่มช่วงอายุปี 2523-2540 เป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 โดยในปี 2563 ประมาณสัดส่วนวัยแรงงานที่เป็นกลุ่มคนในช่วงอายุ 24- 40 ปี คิดเป็นร้อยละ 40
การสำรวจของ The Deloitte Global Millennial Survey 2019 ทำการสำรวจประชากรกลุ่ม Millennials จำนวน 13,416 คน จาก 42 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยจำนวน 200 คน โดยประชากรกลุ่ม Millennials ที่ทำการสำรวจเป็นกลุ่มบุคคลที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2526-2537 ที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน พบว่าประเด็นปัญหาสาธารณะที่กลุ่ม Millennials ให้ความสำคัญสามอันดับแรก ได้แก่
- ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติธรรมชาติเป็นความท้าทายอันดับแรก (ร้อยละ 29)
- ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ (ร้อยละ 22)
- ภาวะการว่างงาน (ร้อยละ 21)
ทัศนคติและค่านิยมของกลุ่ม Millennials ไทย : กลุ่ม Millennials ไทยให้ความสำคัญกับความสุขว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในชีวิตมากกว่าเรื่องเงิน โดยจากการสำรวจของ เฟลชแมนฮิลลาร์ด ประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 67 จากกลุ่มตัวอย่าง Millennials ไทย 500 คน ให้ความสำคัญกับการมีความสุข มีสุขภาพที่ดี การมีเวลาและอิสรภาพ
- ร้อยละ 87 ของคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการใช้เงินเพื่อทำให้ตัวเองมีความสุข
- ร้อยละ 84 ของกลุ่ม Millennials ใช้แฟชั่นเป็นเครื่องแสดงตัวตน สำหรับกลุ่ม Millennials ไทยแล้ว ภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์สำคัญกว่าโลกแห่งความเป็นจริง
- ร้อยละ 79 ยินดีซื้อสินค้าและบริการที่สามารถบ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสินค้า 5 อันดับแรกที่สามารถสร้างโอกาสที่ดีในการสร้างความเฉพาะตัว ได้แก่ สินค้ากลุ่มอาหาร ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม สินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ ธนาคารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
กลุ่ม Millennials ไทย ภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์สำคัญกว่าโลกแห่งความเป็นจริง ร้อยละ 56 สนใจในเรื่องภาพลักษณ์ และ เชื่อว่าสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Tinder หรือ Facebook เป็นสื่อกลางที่ทำให้ได้รู้จักมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดี
การสำรวจของบริษัท Vocalink ในด้านของการใช้จ่ายกลุ่ม Millennials พบว่า มีเพียงร้อยละ 9 ของกลุ่ม Millennials ไทยที่ไม่เคยทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ผู้ใช้บริการนิยมใช้บริการการใช้จ่ายผ่านธนาคาร (ร้อยละ 83) มากกว่าทางผู้ให้บริการอื่นๆ เช่น Paypal (ร้อยละ 78) มีการใช้จ่ายในการซื้อของจากร้านขายของชำและโชห่วยนั้นในสัดส่วนการจ่ายเงินสดและบัตรเครดิตที่ร้อยละ 79 ต่อร้อยละ 39
โดยสื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางหลักที่กลุ่ม Millennials ใช้เพื่อแบ่งปันข้อมูลและเรื่องราวระหว่างกัน Facebook เป็นแพลทฟอร์มที่กลุ่ม Millennials ไทยใช้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 90 รองลงมาคือ Instragram ร้อยละ 47 และ Twitter ร้อยละ 32 นอกจากนี้กลุ่ม Millennials ที่มีอายุน้อยยังมีความนิยมใช้ Snapchat ที่ร้อยละ 9 ช่องทางการส่งข้อความแบบทันที หรือ Instant messaging app เช่น LINE ก็เป็นที่นิยมในกลุ่ม Millennials ในไทยถึงร้อยละ 84 ซึ่งมีสัดส่วนที่เกือบเทียบเท่ากับ Facebook
กลุ่ม Millennials ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านการบริโภคที่แตกต่างจากช่วงอายุอื่นๆ ในหลายประการ
ให้ความสำคัญกับการศึกษามากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผู้บริโภครุ่นก่อนหน้า ทำให้มีแนวโน้มส่งเสริมให้บุตรหลานได้รับการศึกษาที่ดี เปิดกว้างในการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และใช้เทคโนโลยีเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ มีค่านิยมในการเลี้ยงลูกที่เป็นเหมือนเพื่อนมากขึ้น
กรอบแนวคิดในการปรับปรุงโมเดลธุรกิจเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้า Millennials ใน 3 มิติสำคัญแก่ผู้ประกอบการ ได้แก่
1 - การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการกับกลุ่ม Millennials โดยเฉพาะ
2- การสร้างตราสินค้าและการตลาดด้วยการผสมผสานสื่อดั้งเดิมและช่องทางสื่อใหม่ๆ อาทิ สื่อสังคมออนไลน์
3 - การสนับสนุนกิจกรรมหลังการขาย เพื่อสร้างความประทับใจให้กับกลุ่มลูกค้า Millennials ที่ต้องการการเข้าถึงได้ง่ายตลอด 24 ชม. ผ่านช่องทางที่สะดวก เช่น LINE หรือ Web chat ซึ่งเป็นช่องทางบริการที่กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้รู้สึกชื่นชอบ
ธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสำหรับลูกค้ากลุ่ม Millennials ได้แก่ ธุรกิจสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี อาทิ Smartphones แท็บเล็ท อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพา และธุรกิจแอพลิเคชั่นเกมบนอุปกรณ์พกพา (Mobile gaming) ธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการผ่านออนไลน์ หรือ E-commerce ธุรกิจแพลทฟอร์มการรีวิวเว็บไซต์ต่างๆ และ Web-board ที่ให้ผู้บริโภคได้แสดงความเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูลจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้จากการโฆษณา โดยธุรกิจ Digital Media มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการบริโภคสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวรวมทั้งธุรกิจในเรื่องที่พักและโรงแรมสำหรับ Millennials เฉพาะกลุ่ม อาทิ กลุ่ม LGBT และกลุ่มมุสลิม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง รวมทั้งธุรกิจด้านสุขภาพและโภชนาการ ธุรกิจด้านการแพทย์ เช่น การเตรียมพร้อมการตั้งครรภ์ การฝากไข่ เพื่อรองรับการแต่งงานและมีลูกช้า จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสในตลาดกลุ่ม Millennials อีกมาก
ขอบคุณข้อมูลจาก - สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
*
* *คลิกLikeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"
รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager