EPR เป็นหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต ทุกวันนี้ ประเทศสมาชิกในกลุ่ม OECD ใช้เป็นเครื่องมือจัดการขยะที่ไปช่วยส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนจนประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาสามทศวรรษจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ประเทศไทยยังเป็นแค่แนวคิดที่พูดกันมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะผลลัพธ์จากการจัดกิจกรรมเก็บขยะเพื่อสำรวจแบรนด์สินค้า (Brand Audit) โดยกรีนพีซประเทศไทย ทำให้คนเห็นภาพขยะจากแบรนด์ผู้ผลิตต่างๆ ว่าควรเข้ามารับผิดชอบมากขึ้นหรือไม่
EPR (Extended Producer Responsibility) เป็นแนวดำเนินการให้ผู้ผลิตคำนึงถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของสินค้า หมายความว่า ความรับผิดชอบไม่ได้จบแค่การขายสินค้าเท่านั้น แต่ต้องคิดด้วยว่าเมื่อใช้เสร็จแล้วจะมีทางนำสินค้ากลับมาจัดการได้อย่างไร ความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่ต้องเพิ่มขึ้นนั้นก็จะทำให้บริษัทต่างๆ พากันหลีกเลี่ยงโดยการพัฒนาในการออกแบบและจัดการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ตามหลักการ EPR “ผู้ผลิต” คือ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ (manufacturer) และผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ (professional importer) (เจ้าของแบรนด์) เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยตรง แต่ในทางปฏิบัติ ภาครัฐอาจกำหนดให้ร้านค้าปลีกมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย เช่นกรณีกฎหมายบรรจุภัณฑ์ของเยอรมนี
ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ และบางส่วนในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน รวมกัน 35 ประเทศ นำหลักการ EPR มาใช้นานแล้วตั้งแต่ปี 1990
ยิ่งช่วงหลังปี 2001ที่ OECD เผยแพร่คู่มือการพัฒนาระบบ EPR ได้ครอบคลุมการจัดการซากผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ แบ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก (ร้อยละ 35) รองลงมา ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ซึ่งรวมถึงบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม (ร้อยละ 17) ยางรถยนต์ (ร้อยละ 17) รถยนต์ (ร้อยละ 7) และแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด (ร้อยละ 4) ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 20 กระจายไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำมันเครื่องใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์สี สารเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่และหลอดไฟ จะเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ที่ถูกกำหนดให้ใช้หลักการหรือกฎหมาย EPR ล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการบริโภคสูงและมีต้นทุนการกำจัดค่อนข้างสูงด้วย
ตามหลักการ EPR ของ OECD ได้เพิ่มความรับผิดชอบของผู้ผลิตจากเดิม คือ การจัดหาสารตั้งต้น/วัตถุดิบ/ ปัจจัยการผลิต เพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตเป็นสินค้า และกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคแล้ว (A -> B) ไปสู่การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งาน (A -> B -> C) ดูตารางประกอบ
ทั้งนี้ ในปี 2001 OECD ได้มีการจัดทำรายงาน “Extended Producer Responsibility: A Guidance Manual for Governments” เพื่อนำเสนอรูปแบบการดำเนินงานตามหลัก EPR แก่ประเทศสมาชิก โดยได้วางแนวทางการดำเนินการตามหลัก EPR ไว้ว่า
1.การปรับเปลี่ยนความรับผิดชอบในการดูแลจัดการซากผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานของรัฐ เช่น เทศบาลเมือง องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น ไปเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ หรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นภาคเอกชน
2. การให้สิทธิประโยชน์หรือสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ผลิตสินค้า ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เป้าหมายสำคัญของ EPR 3 ข้อหลักด้วยกัน
1.สร้างระบบการรวบรวมและเก็บขนซากผลิตภัณฑ์หรือขยะบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดการทิ้งขยะอย่างไม่เป็นที่เป็นทาง
2.เพิ่มสัดส่วนการนำวัสดุจากซากผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ ทั้งโดยการใช้ซ้ำ (reuse) รีไซเคิล (recycle) และการแปลงเป็นพลังงาน (energy recovery)
3.สร้างแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติของประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังพบว่าระบบ EPR ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การเก็บรวบรวมและรีไซเคิลมากกว่าการปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยลดการสร้างขยะและส่งเสริมการใช้ซ้ำ อีกทั้งการรีไซเคิลภายใต้ระบบ EPR ของประเทศที่พัฒนาแล้วยังนับรวมถึงการส่งออกไปรีไซเคิลยังประเทศกำลังพัฒนาเพื่อลดต้นทุนในการรีไซเคิลในประเทศตนเอง ทำให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลภายในประเทศไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร
แต่จากที่จีนและประเทศในอาเซียนได้ออกมาตรการห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิลและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วจำเป็นต้องหันกลับมาปรับปรุงกฎหมายและระบบการจัดการขยะที่ต้องเน้นการป้องกันและการใช้ซ้ำมากกว่าการรีไซเคิลและปรับปรุงระบบ EPR และมาตรการอื่นๆ ที่จะกระตุ้นให้ผู้ผลิตปรับปรุงกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ไปในทิศทางของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
ข้อมูลอ้างอิง เรียนรู้ประสบการณ์การจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศเยอรมนี
“ระบบความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (EPR)และระบบมัดจำคืนเงิน
(DRS)โดย สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กรีนพีซไทย จัดกิจกรรม Brand Audit
นอกจากการรณรงค์ให้คนหันมาลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง กรีนพีซยังผลักดันให้ภาคธุรกิจและผู้ผลิตขยายความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นต่อทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ จึงจัดกิจกรรมเก็บขยะ สำรวจแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) อย่างต่อเนื่องเพื่อดูว่าพบขยะพลาสติกประเภทใด และจากบริษัทใดมากที่สุด
ถือว่าเป็นการตรวจสอบแบรนด์สินค้าเพื่อสะท้อนผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากมลพิษพลาสติกในเชิงข้อมูล และผลักดันให้บริษัทมีความรับผิดชอบต่อมลพิษพลาสติก จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในการลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งกับบรรจุภัณฑ์และตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงให้ผู้ผลิตทราบถึงสิ่งที่พวกเขาต้องรับผิดชอบตั้งแต่เริ่มผลิตไปจนการจัดการขยะพลาสติกที่มาจากบรรจุภัณฑ์ของตนเอง
ถึงเวลาแล้ว! ที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ต้องมีส่วนช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจังกว่านี้ โดยนำหลักการ EPR ไปใช้ในการออกแบบและจัดการผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรชีวิต ไม่ใช่เพียงทำกิจกรรม CSR ฟอกเขียวไปเรื่อยๆ และโยนภาระกลับมาให้ผู้บริโภค เพราะจิตสำนึกเพียงอย่างเดียวไม่มีทางแก้วิกฤตขยะพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้นได้
ทุกภาคส่วนในสังคมไทยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ควรศึกษาหลักการ EPR และเครื่องมือเชิงนโยบายอื่นๆ ที่ทั่วโลกได้นำมาใช้ เรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศและออกแบบระบบ EPR ที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่จะช่วยให้เรามุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างแท้จริง