ปัญหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งเรื่องในสังคมไทยที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กและเยาวชนที่นับวันจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น นำมาซึ่งปัญหา “สุขภาวะ”
เมื่อเล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มเด็กและเยาวชนด้วยกันเอง สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรม มหกรรมเด็กและเยาวชนรู้เท่าทันปัญหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์นวัตกรรมส่งเสริมสุขภาวะ เพื่อประโยชน์ของเด็กและเยาวชนไทย”
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและที่มาของกิจกรรมนี้ไว้ว่า จากการทำงานที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 พบว่า สถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชนนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัญหาด้านการสูบบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า การเล่นพนันออนไลน์ รวมไปถึงปัญหาอุบัติเหตุในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่ต้องใช้รถจักรยานยนต์
“วันนี้ทางสถาบันของเราพยายามขับเคลื่อนในมิติของการสื่อสารโดยเฉพาะในประเด็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัญหาพี่น้องกัน โดยเฉพาะปัญหาอุบัติเหตุในเด็กและเยาวชน ปัจจุบันประเทศไทยสูญเสียเด็กและเยาวชนไปกว่า 3,300 คนต่อปี อ้างอิงตามข้อมูลของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้นมา”
“เราพยายามเป็นคนกลางที่จะเอาความรู้เชิงวิชาการ สถิติตัวเลขที่ยากๆ มาแปลงเป็นสื่อที่เป็นประโยชน์ หรือสื่อที่เข้าใจง่าย เพื่อส่งสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งก็คือกลุ่มเด็กและเยาวชน แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมภายในระยะเวลาสั้นๆ ได้
แต่เราเชื่อว่าหากพยายามทำอย่างต่อเนื่อง เราจะสามารถทำให้คนเหล่านี้เปลี่ยนพฤติกรรมได้จริงๆ”
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถิติที่น่ากังวล สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ได้เสนอการแก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพไว้เพิ่มเติมว่า ปัญหาในกลุ่มเด็กและเยาวชน จะต้องอาศัยความเข้าใจและการเข้าถึงอย่างเป็นมิตร จึงจะทำให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จ ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยการใช้แกนนำเยาวชน เพื่อนเตือนเพื่อน ก็พบว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้ผลดี
นอกจากนี้ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) พร้อมด้วย ภาคีเครือข่ายเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ยังได้ขอยื่นข้อเสนอ 6 ข้อ ใน 3 ประเด็น เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลกำหนดมาตรการสร้างเสริมสุขภาพในเด็กและเยาวชน เริ่มด้วย “ประเด็นบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” (1) ขอให้คงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ (2) ขอให้ลงโทษขั้นเด็ดขาดแก่ผู้จำหน่ายบุหรี่ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560
“ประเด็นการพนันออนไลน์” (1) รัฐบาลควรปราบปรามอย่างจริงจังกับกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายที่ลักลอบเปิดช่องทางการเล่นพนันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (2) ขอให้รัฐบาลสนับสนุนบริการให้คำปรึกษาผู้มีปัญหาและได้รับผลกระทบจากการพนัน รวมถึงการสื่อสารและรณรงค์เพื่อสร้างความรอบรู้แก่เด็กและเยาวชนเพื่อการรู้เท่าทันการพนัน
และ “ประเด็นอุบัติเหตุในกลุ่มเด็กและเยาวชน” (1) เสนอให้สร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องต่อการใช้รถใช้ถนนอย่างต่อเนื่องในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะประเด็นสวมหมวกนิรภัย (2) เสนอให้จัดทำข้อมูลการได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงการทำงานและความเปลี่ยนแปลงตลอด 9 ปี ในฐานะองค์กรที่ร่วมกันขับเคลื่อนปัญหาเด็กและเยาวชนในหลายๆ มิติของสังคม อาทิ ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ เป็นต้น
“สิ่งที่เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ก็คือ การเห็นเยาวชนในต่างจังหวัด เริ่มลุกขึ้นมาปกป้องสุขภาพตัวเอง จากเดิมที่เราทำอยู่คนเดียว มีคนทำเพิ่มขึ้น 10 คน 20 คน 30 คน พลังของน้องๆ เยาวชนมีอยู่ทุกมุมของประเทศไทยจริง ซึ่งการที่จะมีวันนี้ได้ อันดับแรกต้องขอบคุณ สสส. ที่สนับสนุนทรัพยากรความรู้ และดึงภาคีเครือข่ายต่างๆ มาเสริมความเข้มแข็งให้กับยุวทัศน์ เพราะฉะนั้น จากนี้ไปอีก 10 ปี จนครบรอบ 20 ปี เราเชื่อว่า สสส. ก็ยังสนับสนุนให้เราเอานวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น มาทำงานให้กับเด็กและเยาวชนต่อไป”
ด้าน นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ขึ้นให้โอวาท รวมทั้งกล่าวแสดงความยินดีในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ก่อนเน้นย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุขพร้อมจะให้การสนับสนุนในกิจกรรมต่อไปๆ แน่นอน
“อันดับแรกต้องขอชื่นชมสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย รวมไปถึงองค์กรด้านเด็กและเยาวชนอื่นๆ ที่ร่วมขับเคลื่อนงานควบคุมและลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพในกลุ่มเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องและต้องขอบคุณไปยัง สสส. ที่เป็นกลไกสำคัญสนับสนุนให้เกิดกระบวนการทำงานสร้างเสริมสุขภาพของเยาวชนภายใต้แนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” ซึ่งหากดูผลการดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สสส. ทำให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีขึ้น และสร้างกลไกการสื่อสารกันเองภายในกลุ่มเยาวชนให้สูงยิ่งขึ้นอีกด้วย สุดท้ายนี้ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยจะสามารถเป็นแบบอย่างให้เพื่อนๆ เยาวชน รวมทั้งสื่อสารแทนผู้ใหญ่ไปถึงเยาวชนในหลายๆ พื้นที่ได้”
นอกจากนั้น ในฐานะประธานพิธี นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ ยังได้ขึ้นมอบรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อการรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นจำนวน 5 ด้านหลักๆ ทั้งด้านสนับสนุนส่งเสริมทรัพยากรและองค์ความรู้, ด้านผู้สนับสนุนการประชาสัมพันธ์และข้อมูลข่าวสาร, ด้านบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์, ด้านองค์กรเด็กและเยาวชน และด้านการศึกษา รวมกว่า 30 หน่วยงาน/บุคคล
โดยภายในงานยังมี นายวชิรวิชญ์ ไพศาลกุลงศ์ (ออกัส) และ นายชินพรรธน์ กิตติชัยวรางค์กูร (ฟลุท) สองนักแสดงวัยรุ่นตัวแทนด้านบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ ได้กล่าวขอบคุณถึงรางวัลที่ได้รับ พร้อมยืนยันตั้งใจจะทำความดีเพื่อตอบแทนสังคมต่อไป แต่ทั้งนี้ ทั้งสองหนุ่มก็กล่าวด้วยความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมทั้งแนะนำไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปทดลองสิ่งเหล่านั้นตั้งแต่ต้นจะดีที่สุด