รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อํานวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามความร่วมมือการใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ระหว่าง สทน. กับ บริษัท ไทย เอ็น ดี ที จํากัด (มหาชน) โดยมีนางสาวชมเดือน ศตวุฒิ กรรมการผู้จัดการ ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 อาคาร สทน. (บางเขน)
รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อํานวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีวิสัยทัศน์มุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันชั้นนําในการวิจัยที่ใช้นิวเคลียร์แก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งความร่วมมือการใช้ประโยชน์ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในครั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานจะแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านวิชาการและการพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือในการจัดทําเอกสารระดับสากลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการร่วมกัน พัฒนาด้านบุคลากรและขยายเครือข่ายให้แพร่หลาย ประชาสัมพันธ์ผลงานของทั้งสองฝ่ายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ จัดให้มีการหารือร่วมกันในวาระต่างๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อให้ความร่วมมือบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุด สนับสนุนบุคลากร นักวิชาการ นักวิจัยของทั้งสองฝ่ายให้สามารถนําความรู้ ความเชี่ยวชาญมาประยุกต์ใช้งานเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านงานวิจัยที่นําไปใช้ได้จริงกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
นางสาวชมเดือน ศตวุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เอ็น ดี ที จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ดําเนินธุรกิจบริการทดสอบ ตรวจสอบ และรับรองผลด้านความปลอดภัยทางวิศวกรรมด้วยกระบวนการทางเทคนิคไม่ทําลาย (Non-destructive Testing - NDT) โดยเป็นธุรกิจเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมเป็นสําคัญ ด้วยคุณลักษณะพิเศษของเทคนิค NDT ที่ไม่ทําให้ชิ้นงานมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งรูปลักษณ์ โครงสร้างส่วนประกอบ ฯลฯ ไปจากเดิมทั้งก่อนและหลัง หรือขณะดําเนินการ ดังนั้น ในกรณีที่ชิ้นงานจําเป็นต้องคงสภาพเดิมไว้ เทคนิคนี้จึงมีความเหมาะสมเป็นที่ยอมรับในสากลมาเป็นยาวนาน และมีการใช้ในทุกภาคอุตสาหกรรม ทั้งด้านการเกษตรอุตสาหกรรม การแพทย์ ด้านสุขอนามัย รวมถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทฯ ได้ดําเนินการให้บริการในธุรกิจนี้ทั้งใน และต่างประเทศ
โดยเริ่มจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติภัยร้ายแรง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ เชื้อเพลิง สารเคมี ทั้งในส่วนของการสํารวจ การผลิต การประกอบชิ้นงาน และการซ่อมบํารุง ซึ่งด้วยแนวโน้มกระแสความต้องการทางสังคมที่ได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดํารงชีวิตทําให้ความปลอดภัยจากอุบัติภัยจึงไม่เพียงพอ ความสําคัญในด้านสุขอนามัย ความสะดวก รวดเร็ว และสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างสูง
บริษัทฯ จึงได้นําแผนธุรกิจบริการขยายไปยังด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากศักยภาพพื้นฐานภายในประเทศ ทั้งผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ การเกษตร ด้านอาหาร รวมถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยบริการการปลอดเชื้อ การถนอมอาหาร การบําบัดน้ำเสีย โดยใช้นวัตกรรมจากเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน ให้สอดรับตามกระแสและสนองต่อความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนไป เพื่อยกระดับรายได้ คุณภาพชีวิต และสังคมให้ดีขึ้น
นอกจากนั้น ตลอดเวลาของการดําเนินธุรกิจที่ผ่านมาได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องกําเนิดรังสี วัสดุกัมมันตภาพรังสี อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเกือบจะทั้งหมดต้องพึ่งพาจากต่างประเทศและใช้งบประมาณในแต่ละปีค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ แม้ว่าบริษัทฯ ได้มีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมขึ้นมาใช้ได้บ้างแต่ก็ไม่เป็นนัยสําคัญ ด้วยขาดความพร้อมหลายประการ ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ ด้านบุคลากร การยอมรับทางสังคม ทําให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และเสียโอกาสเชิงธุรกิจและการยกระดับการให้บริการของประเทศ ทั้งๆ ที่ธุรกิจบริการนี้ยังมีความต้องการในวงการสูงมาก ซึ่งบริษัทฯ ตระหนักแล้วว่าในส่วนที่เป็นจุดอ่อนของบริษัทฯ นั้น หาก สทน.เข้ามาช่วยส่งเสริมและให้การสนับสนุน จะทําให้บริษัทฯ สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้ตามเป้าหมายมากยิ่งขึ้น