รมว.การอุดมศึกษาฯ เปิดตัว 3 กลไกสนับสนุนบัณฑิตรุ่นใหม่ ลุยพบผู้นำนักศึกษา 37 สถาบัน ปฏิวัตินักวิจัยยุคใหม่ที่เก่งทั้งศาสตร์และศิลป์ พร้อมตั้งเป้าผลักดันเยาวชนรุ่นใหม่สู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA นำนักศึกษาจาก 37 มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ร่วมกิจกรรม “Young TH Leader&Innovator Club เพื่อผลักดันให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมและมีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อรับมือกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง พร้อมเปิดตัว 3 กลไกสนับสนุนเยาวชนในระดับอุดมศึกษา ได้แก่ โครงการยุวชนสร้างชาติ การสนับสนุนหลักสูตร Non degree ให้สามารถเลือกเรียนรู้ได้ตรงกับความต้องการ และการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัย และเงินทุน ให้กับนักศึกษาที่มีแนวคิดธุรกิจนวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังมุ่งส่งเสริมเยาวชนให้ก้าวสู่นักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติและองค์ความรู้ในด้านศาสตร์และศิลป์
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวงอว. และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้เปิดบ้านต้อนรับผู้นำนักศึกษาจาก 37 มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเข้าร่วมกิจกรรม “Young TH Leader&Innovator Club นวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของผู้นำเยาวชนยุคใหม่” เพื่อรับมือกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลโดย อว. จึงได้จัดเตรียมกลไกไว้ให้ผู้นำนักศึกษา ได้เข้าถึงและมาใช้ประโยชน์ในการคิดค้นพัฒนาโครงการต่างๆ ที่จะสร้างคุณค่าทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับชุมชน จังหวัดและประเทศไทยในฐานะผู้นำนักศึกษา เราสามารถนำไปขยายผลแนะนำเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยให้ทราบถึงการสนับสนุนนี้ ให้เครือข่ายในมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกันหรือริเริ่มดำเนินการจัดตั้งเป็น Innovator’s Club ให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนรังสรรค์นวัตกรรมกันภายในกลุ่มนักศึกษาผ่านกลไก 3 ด้าน คือ
1.โครงการยุวชนสร้างชาติ ที่มี 3 โครงการสำคัญ คือ 1.ยุวชนอาสา 2.บัณฑิตอาสา และ 3.กองทุนยุวสตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการมองปัญหาของชุมชนและหาแนวทางการแก้ไขที่สร้างสรรค์ พร้อมมีเงินทุนสนับสนุนในการดำเนินการ 2.นโยบายการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาทักษะในรั้วสถาบันการอุดมศึกษา โดยจัดทำเป็นหลักสูตร Non degree ให้สามารถเลือกเรียนรู้ได้ตรงกับความต้องการ และ 3.นโยบายความร่วมมือของหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้ อว. โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัย หรือองค์กรด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัย เทคโนโลยีชุมชน และเงินทุน เพื่อให้นักศึกษาทำโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งสามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีมิติของการประกอบธุรกิจนวัตกรรมที่ทำได้จริงและมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม
“สิ่งที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กำลังทำอยู่ในวันนี้ คือการทำให้นักศึกษาเก่งทั้งศาสตร์และศิลป์ นักศึกษายุคนี้ต้องทำวิจัยเป็น คิดอย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล มองรอบด้าน ถ้ามีพื้นฐานเหล่านี้ ทุกคนก็สามารถเป็นนักวิจัยได้ และที่อยากจะฝากไว้คือ เราไม่ควรมุ่งในเรื่องของ ความขัดแย้งระหว่างรุ่น (Generation Conflict) และ ช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) จนเกินไป เพราะเราจะถูกจำขังด้วยความคิด วัยไม่ได้ทำให้เราแตกต่างกัน แต่ทำให้เรากลมกลืนเป็นสังคมขนาดใหญ่ ที่สำคัญเราต้องรู้ว่า อะไรทำไม่ได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และอย่าเสียเวลาเสียพลังไปกับเรื่องเหล่านั้นมากนัก แต่จงทุ่มเททำอะไรที่เป็นไปได้ และสิ่งนั้นควรทำ” ศ.ดร.เอนก กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กล่าวว่า อว.จัดกิจกรรม Young TH Leader&Innovator Club นวัตกรรมเพื่อสังคม หรือ Social Innovation ครั้งที่ 2 นำนักศึกษาและผู้นำเยาวชน มาช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ช่วยลดช่องว่าง หรือ ความเหลื่อมล้ำให้เป็นรูปธรรม และเพื่อเป็นการวางรากฐานการเจริญโตทางเศรษฐกิจให้เติบโตไปได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน เพราะ นวัตกรรมเพื่อสังคม คือ การประยุต์ใช้ความคิดใหม่ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ซึ่งเป็นกรอบทิศทาง การพัฒนาของโลกที่องค์การสหประชาชาติกําหนดขึ้น