“อาชีพนักกฎหมาย” เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ติดโผ “ไม่ตกงาน” โดยเฉพาะยุคดิจิตอล เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานการใช้ชีวิตของผู้คน ตลอดจนการทำธุรกิจ ในช่วงไวรัสโควิด 19 ระบาด ธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผลักให้ “นักกฎหมาย” เป็นที่ต้องการมากขึ้น
ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ส่งผลให้เกิดการล้วงข้อมูลของผู้บริโภคเพื่อใช้ในทำการตลาด หรือบางครั้งกฎหมายกลับสร้างปัญหาให้กับการทำธุรกิจ เช่น กรณี Grab Car เมื่อเราปฏิเสธความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่ได้ กฎหมายในยุคใหม่จึงต้องปรับให้มีมิติที่เชื่อมโยงทั้งส่งเสริมและกำกับธุรกิจรูปแบบใหม่ จึงเป็นกฎหมายเทคนิคที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงทั้งแนวคิดธุรกิจ เทคโนโลยี สังคมและกฎหมายเข้าด้วยกัน
“คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ตระหนักดีถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคใหม่ จึงได้ออกแบบหลักสูตรเน้นสร้างนักกฎหมายพันธุ์ใหม่ที่สร้างทักษะ เสริมความเชี่ยวชาญ เติมวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ และเสริมความถนัดใน 3 ด้าน คือ ด้านกฎหมายธุรกิจ นวัตกรรม และการสร้างสรรค์ ด้านวิชาชีพกระบวนการยุติธรรม และด้านนักกฎหมายภาครัฐ กล่าวคือ นอกจากนักศึกษาทุกคนจะต้องศึกษากฎหมายพื้นฐานที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพทนายความ เนติบัณฑิต ผู้พิพากษาหรืออัยการแล้ว แต่การติดอาวุธเพิ่มในด้านที่นักศึกษาแต่ละคนถนัดจะเพิ่มศักยภาพแก่นักศึกษาให้ช่วงชิงพื้นที่และได้เปรียบในการทำงาน หรือประกอบวิชาชีพเหนือนักกฎหมายอื่นทั่วไป” ผศ.ดร.สมชาย กล่าว
คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ DPU กล่าวด้วยว่า ในยุคนี้เทคโนโลยีล้ำสมัยทำให้เกิดกิจกรรมหรือธุรกิจใหม่ ๆ เช่น สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) บนเครือข่ายบล็อคเชน การซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราหรือสินทรัพย์เสมือน (Cryptocurrency) การตลาดแบบเฉพาะเจาะจง (Individual Marketing) รถยนต์ที่ไร้คนขับ รายงานทางธุรกิจ เพลง หรือภาพวาดที่ปัญญาประดิษฐ์เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น ผลผลิตจากโลกอัจฉริยะเหล่านี้ต้องการกฎหมายที่วางอยู่บนฐานคิดใหม่ที่มีมิติซับซ้อนขึ้น รวมทั้งต้องการนักกฎหมายที่มีดีเอ็นเอแบบใหม่ที่เข้าใจและปรับใช้กฎหมายแบบใหม่ได้อย่างคล่องแคล่ว มีประสิทธิภาพ อย่างคนที่รู้จริงและรู้ลึก โดยยังคงรักษาอัตลักษณ์การสร้างความเป็นธรรมในสังคมอันเป็นเป้าหมายสำคัญของการเป็นนักกฎหมาย นี่จะเป็น DNA ที่ฝังในนักศึกษานิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ทุกคนที่ต้องรู้และเข้าใจมิติที่หลากหลายของกฎหมายในยุคใหม่นี้
ทั้งนี้ สำหรับหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ศ.ดร.ดร.สุนทร มณีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต มธบ. อธิบายว่ามีการจัดการเรียนการสอนในนักศึกษาเลือก 6 สาขา ได้แก่ (1) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา 2.สาขากฎหมายเอกชน 3.สาขากฎหมายมหาชน 4.สาขากฎหมายธุรกิจและนวัตกรรม 5.สาขากฎหมายการเกษตรทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และ6.กฎหมายสาขาการแพทย์ ซึ่งทุกหลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนจะเป็นการเพิ่มทักษะ หรือ UPSKILL เพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาชีพที่คนจำนวนมากมุ่งหวัง เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมว่ามีความมั่นคงและเงินเดือนสูง
ผู้ที่สนใจอยากเป็นนักกฎหมายที่มีดีเอ็นเอใหม่ นักกฎหมายที่ฉีกจากนักกฎหมายทั่วไป นักกฎหมายที่สร้างสรรค์โอกาสด้วยทักษะพิเศษ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://law.dpu.ac.th/ หรือโทร 02-957-7300 ต่อ 279, 283, 308