xs
xsm
sm
md
lg

เผยแนวคิดเด็ด! หลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการ SME สู้วิกฤต COVID-19 โดย กสอ.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวิกฤต COVID-19 มาเยือน ผู้ประกอบการทุกคนจึงต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอด วันนี้เราจึงรวบรวมแนวคิดเด็ดและเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจ จากกูรูในแวดวงธุรกิจและผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จในโลกธุรกิจ จากหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการ SME สู้วิกฤต COVID-19 ที่จะทำให้เห็นถึงแนวคิดใหม่ ๆ รวมไปถึงแนวทางการปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เราไปดูกันว่ากูรูแต่ละท่านได้ให้คำแนะนำไว้ว่าอย่างไรบ้าง


คุณสุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล เล่าว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงกลยุทธ์เกี่ยวกับการปรับตัวเพื่อขายของบนโลกออนไลน์ ทั้งในเรื่องของวิธีคิดและวิธีทำ เพื่อหยุดนิ้วโป้งของผู้บริโภคไว้ให้ได้ในเวลาเพียง 1.7 วินาทีเท่านั้น โดยอาศัยการจินตนาการว่าธุรกิจตั้งบูธอยู่ในห้างสรรพสินค้าแล้วมีลูกค้าเดินผ่านเข้ามา คำถามคือ ในเวลาอันสั้นนั้น หากเรามีโอกาสได้คุยกับลูกค้า เราจะคุยอะไร เพื่อให้ลูกค้าอยากที่จะฟังและเกิดความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการโชว์รูปและวิดีโอสินค้าให้ลูกค้าดู เป็นต้น นอกจากนั้น คุณสุรศักดิ์ยังแนะนำอีกว่า “อย่าติดกับสิ่งที่เรียกว่าจุดประสงค์ของการซื้อของ” เพราะลูกค้าแต่ละคนนั้นซื้อของด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น สวนสัตว์ในญี่ปุ่นซึ่งไม่สามารถเปิดให้เข้าชมได้ในช่วง Lock Down ที่ได้นำกางเกงยีนส์มาให้สิงโตกระชากเพื่อให้เกิดลาย จนกลายเป็นกางเกงยีนส์แบบ Limited ที่มีเรื่องเล่า จนขายได้ 70,000 เยนหรือประมาณ 20,000 กว่าบาท ทำให้เห็นว่าลูกค้าไม่ได้ซื้อกางเกงตัวนี้เพราะประโยชน์ใช้สอย แต่ซื้อเพราะเรื่องราวของสินค้า สะท้อนให้เห็นว่า “คนตัดสินใจซื้อจากอารมณ์ก่อน แล้วค่อยหาเหตุผลมารองรับ” ซึ่งเป็นจิตวิทยาพื้นฐานของมนุษย์


ภญ.โสภา พิมพ์สิริพาณิชย์ เล่าถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวถึงกลยุทธ์ SLOTH Strategy ว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ ‘ตลาดคนขี้เกียจ หรือ Lazy Customers’ เกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเทคโนโลยีที่มากขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องทำตลาดมารองรับตลาดคนขี้เกียจ เช่น การใช้บริการ Delivery ต่าง ๆ แทนการออกไปกินข้าวนอกบ้าน เป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์นี้ประกอบไปด้วย S = Speed คือ ความรวดเร็ว ไม่เสียเวลา L = Lean คือ ความกระชับ O = Enjoy คือ ความสนุกสนาน T = Convenient คือ ความสะดวกสบาย และ H = Happy คือ ความสุข นอกจากนั้น ภญ.โสภา ยังฝาก ‘เคล็ดลับความสำเร็จบนโลกออนไลน์ด้วย 4 Step’ โดยเริ่มจากการสร้างการรับรู้ด้วยการซื้อโฆษณาและการแชร์ไปยังกลุ่มต่าง ๆ จากนั้นจึงทำให้เกิดความสนใจ โดยการทำ Content ให้น่าดึงดูดและมีการโพสต์อย่างสม่ำเสมอ ตามด้วยการกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อ โดยการสร้างกิจกรรมการตลาด จัดโปรโมชั่น และจัดแคมเปญพิเศษ และขั้นตอนสุดท้าย คือ ต้องมีการขนส่งที่สะดวกและรวดเร็ว และมีช่องทางการชำระเงินด้วยระบบ e-Payment ที่สะดวกสบาย


คุณสิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก เล่าถึงข้อดีของการขนส่งออนไลน์ อย่างการจองรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันว่ามีประโยชน์ 3 ส่วน ได้แก่ ‘ความปลอดภัย’ เนื่องจากทุกคนล้วนต้องการความปลอดภัยในการขนส่งสินค้า การขนส่งออนไลน์จึงสามารถตอบโจทย์ได้ โดยสามารถตรวจสอบประวัติคนขับรถขนส่งสินค้าได้ว่ามีประวัติหรือแนวโน้มที่จะทำสินค้าของเราสูญหายหรือไม่ เพราะระบบออนไลน์ส่วนใหญ่จะคัดกรองข้อมูลของคนขับรถมาให้อยู่แล้ว รวมไปถึงการมีการประกันสินค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อีกด้วย ส่วนที่ 2 ได้แก่ ‘ความเร็ว’ เพราะระบบ E-Logistics สามารถตรวจสอบราคาได้ทั่วประเทศอย่างรวดเร็วและสามารถจองได้ไว รวมไปถึงการให้รถขนส่งสินค้าเข้าไปรับสินค้าภายใน 30 นาที หรือ 2 ชั่วโมงในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งด้วยรถ 4 ล้อ หรือรถ 6 ล้อขึ้นไป ส่วนสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของ ‘ราคา’ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มที่ถูกลง และนี่คือประโยชน์ 3 อย่างหลัก ๆ ที่ธุรกิจและผู้บริโภคจะได้จาก E-Logistics


คุณวรเกษมสันต์ ศิริศุภรัชต์ เล่าว่า กว่า 63% ของผู้บริโภคมีพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้าจาก Packaging หรือบรรจุภัณฑ์ที่น่าดึงดูดก่อน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการซื้อขายสินค้าออนไลน์ต่าง ๆ มากมาย โอกาสในการขายออนไลน์ของแบรนด์ใหม่ ๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักมักเกิดจากบรรจุภัณฑ์ก่อนเสมอ โดยคุณวรเกษมสันต์แนะนำถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ดีจะเกิดการขายได้ก็จะต้องมาจากบรรจุภัณฑ์ที่มีการออกแบบ เลือกรูปทรงตัวบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย” ซึ่งคุณวรเกษมสันต์ยังย้ำอีกว่าบรรจุภัณฑ์ยุคใหม่นั้นต้องสอดคล้องกับแนวคิด “Packaging พูดได้” ซึ่งเป็นการเล่าเรื่อง (Storytelling) ถึงจุดขายของสินค้าออกมาผ่านบรรจุภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในตลาด ซึ่งล้วนต้องอาศัยคุณสมบัติของนวัตกรรม 4 ข้อ ได้แก่ ต้องมีความแปลกใหม่ ต้องใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสินค้า ตัวสินค้าจะต้องมีคุณประโยชน์ และนวัตกรรมจะต้องเติบโตต่อยอดให้เกิดสินค้าหลาย ๆ ประเภทภายใต้แบรนด์ของเราได้นั่นเอง


คุณวิศิษฏ์ ยินดีศิริวงศ์ เล่าว่า ธุรกิจต้องมีระบบการชำระเงินที่ดี ได้แก่ ต้องมีการใช้งานที่ง่าย เพราะหากมีขั้นตอนที่ซับซ้อนของการกรอกข้อมูลอาจจะทำให้ลูกค้าไม่สะดวกในการให้ข้อมูล นอกจากนี้ ช่องทางในการรับชำระเงินยังควรมีหลายช่องทางเพื่อให้ลูกค้าได้เลือกสรร และสิ่งสำคัญที่สุดคือความปลอดภัย เพราะการโอนเงินกับระบบที่ไม่ปลอดภัยจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่ส่งผลให้ร้านค้าเกิดความสูญเสียชื่อเสียง หากธุรกิจใดมีระบบ e-Payment ออนไลน์ที่แข็งแรงก็จะสามารถป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้ นอกจากนั้นการบริการ Payment Gateway อย่างรวดเร็วนั้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น การดูแลและตรวจสอบข้อมูลอย่างชัดเจนก่อนที่จะให้บริการ (Fast On-boarding) เมื่อลูกค้าทำการชำระแล้วเราสามารถที่จะเห็นยอดได้ทันที (Get Paid) มีระบบความปลอดภัยที่แข็งแรงทำให้เรื่องของโอกาสที่ข้อมูลสูญหายหรือการโดนแฮ็กไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ (Stay protected) และการโอนเข้าในระบบหรือบัญชีธนาคารของลูกค้า สามารถโอนได้อย่างตรงความต้องการของลูกค้า (Fast Fund)


ขอบคุณข้อมูลจาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม 


ผู้ประกอบการสามารถดูเนื้อหาเพิ่มเติม “หลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการ SME สู้วิกฤต COVID-19” "ขายสินค้าอย่างไร ในยุค New Normal" ได้ทางลิงค์ https://bit.ly/Training-Week3

****************************************************************************



*
* *
คลิกLikeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"
รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!
* * *




SMEs manager





กำลังโหลดความคิดเห็น